ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ 

รศ.ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์  (พ.ศ. 2547)

บทนำ

              ข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางด้านสมองและการเลี้ยงดูเด็ก รวมถึงโปรแกรมการจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัย ได้ระบุชัดเจนว่า ประสบการณ์ที่มีคุณภาพในช่วงแรกของชีวิตมีผลต่อพัฒนาการเด็กและมีผลในด้านความพร้อมของเด็กที่จะเรียนต่อไป ดังนั้นการดูแลและจัดการศึกษาให้แก่เด็กในช่วงแรก การให้การส่งเสริมทางอารมณ์และประสบการณ์ที่เด็กได้รับเป็นสิ่งสำคัญในการที่เด็กจะพัฒนาต่อไปได้อย่างประสบผลสำเร็จ
              หลักฐานทางการวิจัยเกี่ยวกับการดูแล ให้การศึกษาและพัฒนาการของเด็กมีความชัดเจนมากกว่า คุณภาพ มีความเชื่อมโยงกับพัฒนาการของเด็ก การดูแลที่มีคุณภาพสูงจะมีผลออกมาที่เด็ก ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการที่จะเห็นว่าเด็กที่เป็นบุตรหลานของตน มีความเป็นมิตรกับคนรอบข้างให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมกลุ่มและร่วมมือกับผู้ใหญ่ เข้าใจความคิดของคนอื่น มีความสามารถในการคิด ต้องการให้ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่เด็กได้รับการพัฒนาทักษะทางสังคม เนื่องด้วยทักษะเหล่านี้จำเป็นสำหรับการพัฒนาการยอมรับตนเองและการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และจะนำไปสู่ความสำเร็จในการเรียนต่อไป (Marshall and Others, 2002.)
              ทุกชาติมองเห็นความสำคัญในการจัดบริการในการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยโดยกระจายจัดให้ทั่วถึงทั้งประเทศ สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดให้บริการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยทั้งในภาครัฐและเอกชนเพื่อกระจายโอกาสให้แก่เด็กทุกกลุ่ม
              กระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาเด็ก และมุ่งหวังที่จะให้บริการเลี้ยงดูเด็ก จึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้นมาตามความต้องการจำเป็นของแต่ละชุมชน เริ่มแรกมีหน่วยงานหลายหน่วยงานรับผิดชอบดูแล ในปีการศึกษา 2547 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบมีจำนวน 16,281 แห่ง และมีเด็กจำนวน 455,670 คน
              เพื่อให้เด็กปฐมวัยในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับการพัฒนา ให้มีความพร้อมเหมาะสมตามวัย และให้มีความพร้อมในการที่จะศึกษาในระดับสูงต่อไปด้วยการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพภายใต้บริบทสังคม วัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ โดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่น ให้เด็กปฐมวัยมีรากฐานคุณภาพชีวิตที่พัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคมต่อไป ดังนั้น ทางกระทรวงมหาดไทย จึงได้มีเป้าหมายในปี 2547 จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดละ 1 แห่ง รวม 75 แห่ง ที่คัดเลือกว่ามีคุณภาพเหมาะที่จะเป็นต้นแบบในแต่ละจังหวัด และให้การสนับสนุนในส่วนต่างๆ แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบเพื่อให้มีคุณภาพ ตามเกณฑ์ จะได้เป็นต้นแบบสำหรับศูนย์อื่นๆ ในจังหวัดที่ต้องการขยายผลไปอีกประมาณ 16,206 แห่ง
             
เริ่มจากปีการศึกษา 2548 เป็นต้นไป เพราะถ้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีคุณภาพ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป

ความเข้าใจเกี่ยวกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
              ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หมายถึง สถานที่ดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กอายุระหว่าง 3 – 5 ปี และมีฐานะเทียบเท่าสถานศึกษา (สำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น, กรมการปกครอง, 2545 : 31) ในความหมายศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จะต้องเป็นสถานที่ที่พร้อมให้ทั้งการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็ก เมื่อพูดถึงการดูแลจะครอบคลุมไปถึงการอบรมสั่งสอน การให้บริการต่างๆ แก่เด็ก เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีทั้งกาย จิต และปัญญา ในส่วนของการศึกษาคงจะมองไปในด้านการจัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประสบการณ์และการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เพื่อให้เด็กพัฒนาไปได้เต็มตามศักยภาพ
              ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตามคำจำกัดความที่ให้ไว้แล้วข้างต้น เป็นคำจำกัดความกว้างๆ สำหรับหน่วยงานดังกล่าว แต่ถ้าพิจารณาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับสถานดูแลเด็กจะใช้คำว่า Child care center child คือ เด็ก care คือ ดูแล center คือ ศูนย์ ความหมายตรงตัวก็คงจะเป็น ศูนย์พัฒนาเด็ก/เด็กเล็ก ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้เห็นความสำคัญของเด็กที่จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ นอกเหนือจากครอบครัวแล้ว ควรมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดำเนินการในการส่งเสริมสนับสนุนในการดูแลเด็กให้แก่ครอบครัว จึงทำให้มีหน่วยงานต่างๆ ที่จัดบริการในการดูแลเด็กขยายวงกว้างออกไปตามลำดับ ซึ่งการดูแลไม่ได้จำกัดเฉพาะอายุ 3 – 5 ปี แต่มีตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งถึง 7 ปี หรือมากกว่า แล้วแต่ความพร้อมของหน่วยงาน ทำให้มีชื่อเรียกจากสถาบันที่ดูแลเด็กในช่วงปฐมวัยมีความแตกต่างกันไป เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานเลี้ยงดูเด็ก สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน ศูนย์เลี้ยงดูเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ฯลฯ ไม่ว่าจะใช้ชื่ออย่างไร แต่เมื่อประมวลผลเป้าหมายในการจัดบริการแล้ว พบว่า จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ ที่ต้องไปทำงานไม่มีเวลาในการที่จะดูแลเด็กด้วยตนเอง และเพื่อเลี้ยงดู ดูแล และให้การศึกษาแก่เด็กโดยมุ่งหวังให้เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน

การจัดบริการในการดูแลเด็ก
              ความต้องการสถานเลี้ยงดูเด็กมีสูงขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ต้องไปทำงาน รูปแบบของครอบครัว ที่เปลี่ยนแปลงไป และการเปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบการเลี้ยงดูเด็ก ทำให้สถานเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นการให้บริการดูแลเด็ก ครอบครัวได้มอบหมายความรับผิดชอบในการดูแลเด็กให้แก่ผู้ดูแลเด็กของสถานเลี้ยงดูเด็ก ในการดูแลและจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมให้แก่เด็ก ในขณะที่ไม่ได้อยู่กับผู้ปกครอง
              การขยายตัวของความต้องการให้บุตรหลานได้รับการดูแลนอกบ้าน มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้หลายหน่วยงานได้เข้ามาจัดบริการดูแลเด็กในหลายรูปแบบ เมื่อประมวลจากงานเขียนของทั้งต่างประเทศและในประเทศแล้ว มีการจัดโปรแกรมการเลี้ยงดูเด็กทั้งรูปแบบครึ่งวัน บางเวลาและเต็มเวลา บางแห่งจะจัดบริการทั้งวันตั้งแต่ 6.00 น. – 18.00 น. หรือบริการตลอดเวลา 24 ชั่วโมง แต่สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรวมจะเปิดให้บริการในช่วงเวลา 8.00 น. – 15.00 น. หรือ 15.30 น. ถึงแม้จะมีเวลาให้บริการกำหนดไว้แน่นอน แต่ช่วงเวลาดูแลเด็กจริงๆ ก็แตกต่างกันไปแล้วแต่ความต้องการจำเป็นของแต่ละชุมชน
              การจัดบริการในการดูแลเด็กในปัจจุบันที่มีดำเนินการอยู่ทั่วโลกมีดังนี้
              1.   การเลี้ยงดูเด็กโดยครอบครัว การเลี้ยงดูประเภทนี้มีการจัดการหลายแนวทาง พ่อแม่ บางคนทำงานคนละเวลา ก็จะใช้วิธีการสลับกันดูแลเด็ก อาจจะมีพี่เลี้ยงเด็กหรือไม่มีก็ได้ ครอบครัวแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บริการดูแลเด็กนอกบ้าน ในบางกรณีเด็กจะได้รับการดูแลจากปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อาหรือญาติคนอื่น การจัดแบบนี้จะที่เด็กอยู่ในความดูแลของบุคคลที่มีวิถีชีวิตและค่านิยมที่คล้ายคลึงกัน ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยกับคนที่รู้จัก การดูแลเด็กโดยสมาชิกของครอบครัวช่วยให้เด็กมีความต่อเนื่องและเกิดความรู้สึกที่ปลอดภัย และมั่นคง มีค่าใช้จ่ายน้อย
              2.   การเลี้ยงดูเด็กในครอบครัว การเลี้ยงดูประเภทนี้มีการจัดการหลายแนวทาง พ่อแม่  บางคนทำงานคนละเวลา ก็จะใช้วิธีการสลับกันดูแลเด็ก อาจจะมีพี่เลี้ยงเด็กหรือไม่มีก็ได้ ครอบครัวแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บริการดูแลเด็กนอกบ้าน ในบางกรณีเด็กจะได้รับ การดูแลจากปู่ ยา ตา ยาย ลุง ป้า น้า อาหรือญาติคนอื่น การจัดแบบนี้จะที่เด็กอยู่ในความดูแลของบุคคลที่มีวิถีชีวิตและค่านิยมที่คล้ายคลึงกัน ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยกับคนที่รู้จัก การดูแลเด็กโดยสมาชิกของครอบครัวช่วยให้เด็กมีความต่อเนื่องและเกิดความรู้สึกที่ปลอดภัยและมั่นคง มีค่าใช้จ่ายน้อย
              3.   การเลี้ยงดูจากผู้สูงอายุ การเลี้ยงดูประเภทนี้จะมี 2 แบบ คือ
แบบที่หนึ่ง  นำเด็กและผู้สูงอายุมาอยู่ในสถานเลี้ยงดูเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นบริเวณเดียวกัน ผู้สูงอายุจะได้มีความสุขเพลิดเพลินจากการปฏิสัมพันธ์กับเด็กรู้สึกว่ามีความสามารถจากการได้ช่วยดูแลเด็ก สำหรับเด็กบางครั้งอยู่ห่างไกลจากปู่ ย่า ตา ยาย จะได้มีโอกาสได้รับความรักและความเอาใจใส่จากผู้สูงอายุ วิธีการนี้จะทำให้คนสองวัยได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ให้การสนับสนุนกัน
                     แบบที่สอง  จะว่าจ้างผู้สูงอายุที่เกษียณอายุแล้ว หรือรับอาสาสมัครผู้สูงอายุเข้ามาช่วยดูแลเด็กในสถานเลี้ยงดูเด็ก
              4.   การดูแลเด็กในศูนย์หรือสถานเลี้ยงดูเด็ก จัดการดูแลเป็นกลุ่มใหญ่ มีระบบการบริหารจัดการ อาจจะดำเนินการโดยฝ่ายรัฐหรือเอกชน มูลนิธิ องค์กร ฯลฯ บางแห่งจัดเป็นบริการสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ บางแห่งเก็บค่าบริการเป็นเปอร์เซ็นต์ตามรายได้ของผู้ปกครองถ้าเป็นของเอกชนจะมีกำหนดอัตราค่าเลี้ยงดู ผู้ใช้บริการจะเสียค่าใช้จ่ายตามกำหนดค่าใช้จ่ายจะต่างกันไปแล้วแต่วัตถุประสงค์ของการให้บริการ
              5.   สถานเลี้ยงดูเด็กที่เป็นนิติบุคคล ในส่วนนี้บางแห่งจะดำเนินการโดยบริษัท หน่วยธุรกิจต่างๆ หรือบุคคล โดยมุ่งหวังผลกำไร โดยมีการดูแลเด็กแยกเป็นหลายระดับอายุ บางครั้งมีการจัดดำเนินการโดยบริษัทแม่ ที่จะมีศูนย์/สถานเลี้ยงดูเด็กตัวอย่าง/ต้นแบบ และเป็นผู้แทนจำหน่าย (franchise) โดยผู้ซื้อไปดำเนินการตามแบบ จะจ่ายเปอร์เซ็นต์ให้สำหรับการใช้ชื่อและโปรแกรมการจัดการศึกษาปฐมวัยจากบริษัทแม่ บริษัทแม่จะเป็นผู้ควบคุมนโยบาย และควบคุมโปรแกรมปกติจะมีอาคารตัวอย่าง คำขวัญ ตราสัญลักษณ์ แผ่นประชาสัมพันธ์โปรแกรม มีการโฆษณาที่เป็นเอกลักษณ์ มีแนวทางปฏิบัติสำหรับเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้มาใช้บริการ ฯลฯ
              6.   การเลี้ยงดูเด็กโดยได้รับการสนับสนุนจากนายจ้าง การดูแลเด็กด้วยวิธีการนี้ นายจ้างจะจัดให้บริการการเลี้ยงดูเด็กหลายวิธีการ เช่น
                     6.1   เป็นแหล่งวิทยากร ให้ข้อมูล ให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ในการเลือกสถานดูแลเด็ก ที่มีคุณภาพ และส่งต่อไปยังหน่วยดูแลในท้องถิ่น
                     6.2   จัดบริการเลี้ยงดูเด็กให้แก่ลูกจ้างในบริเวณและสถานที่ทำงานหรือสถานที่ใกล้เคียงกับที่ทำงาน
                     6.3   การช่วยเหลือโดยตรง โดยการให้เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร
                     6.4   ให้ใบรับรองของสถานที่ทำงานแก่ลูกจ้างเพื่อนำไปรับบริการที่ศูนย์/สถาน เลี้ยงดูเด็ก โดยหน่วยงานอาจจะติดต่อกับสถานเลี้ยงดูเด็กไว้ล่วงหน้า ลูกจ้างนำบุตรไปเรียนฟรีหรือจ่ายเพียงครึ่งหนึ่ง
              7.   สถานสงเคราะห์เด็ก จัดดำเนินการโดยรัฐ องค์กรการกุศล หรือมูลนิธิ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสด้านต่างๆ ไม่ว่าพ่อแม่จะไม่สามารถดูแล หรือไม่ดูแลบุตรของตนเองด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กถูกทำร้าย เด็กพิการขาดผู้ดูแล เด็กติดผู้ต้องขัง
              8.   สถานรับฝากเลี้ยงเด็ก พ่อแม่บางคนจะทำงานบางส่วนของเวลาหรือมีตารางเวลาทำงานที่ไม่แน่นอน อาจจะต้องใช้บริการดูแลเด็กเป็นเพียงบางช่วงของเวลา จึงมีการจัดสถานรับเลี้ยงเด็กเพื่อสนองความต้องการในส่วนนี้ เช่น บริการรับฝากเด็กบริเวณห้างสรรพสินค้า ที่บ้าน ที่สถานรับเลี้ยงเด็กตามปกติ แต่จัดให้มีส่วนบริการบางเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง การรับจ้างไปดูแลเด็กที่บ้านตามเวลาที่ต้องการ ฯลฯ การบริการเหล่านี้ถือว่าให้ความสะดวก แต่คุณภาพของการดูแลเด็กมักจะต่ำ และสร้างความเครียดให้แก่เด็กในการที่จะต้องอยู่กับคนแปลกหน้า
              9.   การเลี้ยงดูเด็กของทหาร/ตำรวจ กองทัพเหล่าต่างๆ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ รวมถึงตำรวจ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จะมีการจัดโปรแกรมพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิด เพื่อดูแลเด็กเป็นชั่วโมง ครึ่งวัน เต็มวัน ก่อนและหลังเวลาเรียน ตอนเย็นและวันหยุดสุดสัปดาห์ การดูแลเด็กจะมีตั้งแต่จำนวนเป็นสิบ ถึงหลายร้อยคนแล้วแต่การจัดการของแต่ละแห่งได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากกองทัพในเรื่องสถานที่ เครื่องอำนวยความสะดวก วัสดุอุปกรณ์ ผู้ปกครองช่วยเหลือในส่วนของค่าเล่าเรียนและค่าอาหาร ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ในการจ้างคนงาน
              10. การเลี้ยงดูเด็กสำหรับเด็กที่ต้องการการรักษาพยาบาล เป็นโปรแกรมที่จัดขึ้นเพื่อดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กเจ็บป่วย ไม่ว่าจะที่บ้าน ที่โรงพยาบาล หรือที่ศูนย์/สถานเลี้ยงดูเด็กปกติให้เด็กได้มีโอกาสได้รับการดูแลและเรียนรู้ตามข้อจำกัดของการเจ็บป่วยนั้นๆ

การดำเนินการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
              องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามาดูแลการจัดตั้งและการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างเป็นระบบและมีความชัดเจนในกระบวนการดำเนินการดังที่ได้ระบุบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ในหนังสือ คู่มือการจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น กรมการปกครอง (2545 : 2) ดังนี้
              “พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พุทธศักราช 2542 ซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทรับผิดชอบการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ซึ่งรวมถึงการจัดการศึกษาด้วย และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักทางการศึกษาก็ได้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาระดับใดก็ได้ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ฉะนั้น เมื่อปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญมาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงควรให้ความสนใจ และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมและการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ถูกวิธีและทั่วถึง
              คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำตามบทบัญญัติในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้การจัดการศึกษาปฐมวัยหรือก่อนประถมศึกษา เป็นหน้าที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำ”
              ด้วยบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าว ทำให้มีการดำเนินการจัดระบบ เพื่อให้การดำเนินการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้มีการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และขั้นตอนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไว้ดังนี้

นโยบาย
              จัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (อายุ 3 – 5 ปี) ด้วยความร่วมมือของชุมชน เพื่อกระจายโอกาส การเตรียมความพร้อม และพัฒนาเด็กทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญาอย่างเหมาะสมตามวัยและเต็มตามศักยภาพ ตลอดจนเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองและเป็นพื้นฐานการศึกษาระดับที่สูงขึ้นต่อไป

เป้าหมาย
              องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีคุณภาพตามความต้องการและด้วยความร่วมมือของชุมชน

วัตถุประสงค์
              1.   เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้รับการดูแลที่ถูกสุขลักษณะ และได้รับการฝึกฝนพัฒนาตามวัยและเต็มตามศักยภาพ
              2.   เพื่อพัฒนาความพร้อมของเด็กๆ ด้านแบบองค์รวม ตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการและหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย
              3.   เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดและพัฒนาความพร้อมของเด็กก่อนเข้าเรียนระดับประถมศึกษา ตลอดจนส่งเสริมให้ครอบครัวเป็นฐานในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กอย่างถูกวิธี
              4.   เพื่อส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับชุมชนให้สามารถร่วมกันวางแผนและดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายได้
              5.   เพื่อแบ่งเบาภาระการอบรมเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครองปฐมวัยที่มีรายได้น้อยให้สามารถออกไปประกอบอาชีพได้โดยสะดวก และเป็นการกระจายโอกาสการพัฒนาความพร้อมให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึง
              6.   เพื่อให้การบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีคุณภาพ

การจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
              เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ และเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรดำเนินการ ดังนี้
              1.   สำรวจความต้องการของชุมชน
              2.   พิจารณาเลือกรูปแบบการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
                    รูปแบบที่ 1  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการ
                    รูปแบบที่ 2  มอบหมายให้ผู้แทนชุมชนบริหารจัดการ
              3.   จัดทำแผนงานและจัดทำญัตติเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น นำโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบรรจุในแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุน
              4.   จัดทำระเบียบ ข้อบังคับ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พ.ศ. ……………
              5.   จัดทำประกาศจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้

1.   สำรวจความต้องการของชุมชน
              องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการสำรวจความต้องการของชุมชนในประเด็นต่อไปนี้
              1.1   ความต้องการให้จัดตั้งศูนย์
              1.2   ความต้องการในการส่งเด็กเข้าเรียน
              1.3   สิ่งที่ต้องการให้ศูนย์จัดบริการ
                     ฯลฯ

2.   พิจารณาเลือกรูปแบบการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
              เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความหลากหลายในศักยภาพด้านทรัพยากรและเศรษฐกิจ การกำหนดรูปแบบการบริหารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงอาจแตกต่างกันตามลักษณะสภาพชุมชนและความพร้อมทางด้านทรัพยากรบุคคล สถานที่ และเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ในที่นี้ได้นำเสนอรูปแบบประกอบการพิจารณาใน 2 ลักษณะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ  จะเลือกใช้หรือปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และความพร้อมของแต่ละพื้นที่

              รูปแบบที่ 1  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการ

      

หมายเหตุ  โครงสร้างนี้เหมาะสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอัตรากำลังบุคลากรทางการศึกษาเพียงพอ

              รูปแบบนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดตั้งและรับผิดชอบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยจัดหาหรือจัดจ้างบุคลากรทางการศึกษาเป็นหัวหน้าศูนย์ และแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
              (1)   หัวหน้าศูนย์เป็นผู้บริหารจัดการศูนย์ฯ และดำเนินการเลือกตั้งหรือจัดให้มีการคัดเลือกคณะกรรมการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
              (2)   คณะกรรมการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พิจารณากำหนดจำนวนตามความเหมาะสม แต่จะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกลุ่มองค์กรประชาคม ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู อย่างละไม่น้อยกว่า 1 คน โดยมีหัวหน้าศูนย์ฯ เป็นเลขานุการ

              รูปแบบที่ 2  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มอบหมายให้ผู้แทนชุมชนบริหารจัดการ


              หมายเหตุ  โครงสร้างนี้เหมาะสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความจำกัดด้านอัตรากำลังบุคลากรทางการศึกษา

              รูปแบบนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดตั้งและรับผิดชอบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยคัดเลือกผู้แทนชุมชนทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารศูนย์ และจัดหา/จัดจ้างบุคลากรทางการศึกษาเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ทำหน้าที่บริหารจัดการศูนย์ฯ
              คณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ทำหน้าที่กำกับการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย สมาชิก 5 – 7 คน คัดเลือกจากชุมชนทำหน้าที่ เป็นประธาน รองประธาน เหรัญญิก โดยจะต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาและผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย และให้หัวหน้าศูนย์ฯ เป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง ให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
              องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตั้งค่าตอบแทนสำหรับคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3.   จัดทำแผนงานการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และจัดทำญัตติขอความเห็นชอบสภาท้องถิ่น
              เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาเลือกรูปแบบในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามความพร้อม และความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนแล้ว ให้จัดทำแผนงานการจัดตั้งศูนย์ฯ ตามแบบฟอร์มแผนงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำเข้าแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดทำญัตติเพื่อขอรับความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น

4.   จัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
              องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณจากผู้มีอำนาจอนุมัติ

5.   จัดทำระเบียบ/ข้อบังคับ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าด้วยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พ.ศ. …….
              องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำระเบียบหรือข้อบังคับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าด้วยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พ.ศ. ……… เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติในการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

6.   จัดทำประกาศจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
              องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำประกาศจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปิดประกาศให้สาธารณชนทราบ
              เมื่อดำเนินการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแล้ว ต้องดูแลให้มีคุณภาพโดยศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ว่า เกณฑ์มาตรฐานสำหรับศูนย์เด็กเล็กคุณภาพจะเป็นอย่างไร จะได้นำมาเป็นแนวทางในการนำพาศูนย์ไปสู่ความมีคุณภาพ โดยเฉพาะถ้าต้องเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ

เกณฑ์มาตรฐานสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคุณภาพ
              การกำหนดรายละเอียดของสำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น กรมการปกครอง (2545 : 3 – 7) ดังกล่าวข้างต้น มีจุดเน้นทั้งในแง่ของเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในส่วนของ “การบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีคุณภาพ” การที่จะพิจารณาคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้น ทางสมาคมแห่งชาติเพื่อการศึกษาของเด็กปฐมวัย (NAEYC : National Association for the Education of  Young Children) ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับคุณภาพของการดูแลและพัฒนาเด็กรอบด้านไว้ 10 ประการ ซึ่งสามารถนำมาพิจารณาในการดำเนินการจัดการดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กว่ามีคุณภาพหรือไม่ โดยสอดคล้องกับบริบทไทยได้ดังนี้
              1.   หลักสูตร
                    การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัยให้เหมาะกับช่วงวัย และบริบทของแต่ละท้องถิ่นโดยสอดคล้องกับเป้าหมายในการจัดการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัย ที่มุ่งหวังให้เด็กได้รับการพัฒนาทุกด้าน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฐานะ ฯลฯ มีการกำหนดจุดมุ่งหมายสำหรับเด็กแต่ละคน ให้มีโอกาสพัฒนากล้ามเนื้อย่อย เล็ก ใหญ่ และความสมดุลของร่างกายให้รู้จักการแสดงออกที่เหมาะสม รู้จักทำงานด้วยตนเอง ดูแลตนเอง รับผิดชอบต่อส่วนรวมเคารพสิทธิของผู้อื่น มีโอกาสได้พัฒนาสมองทั้งสองด้าน เพื่อส่งเสริมทั้งความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และด้านสาระความรู้
                    หลักสูตรควรจัดให้มีสมดุลทั้งกิจกรรมภายในห้องเรียน นอกห้องเรียน กลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่  กิจกรรมที่เด็กทำคนเดียว กิจกรรมที่เด็กหรือครูริเริ่ม กิจกรรมที่สงบหรือกิจกรรมที่เคลื่อนไหว
              2.   สุขภาพและความปลอดภัย
                    การจัดการดูแลสุขภาพของเด็ก โดยมีบริการตรวจสุขภาพร่างกายและฟันประจำปี มีบริการดูแลสุขภาพประจำวันด้วยการตรวจส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ผม เล็บ ฟัน หู ฯลฯ พร้อมให้คำแนะนำดูแลความสะอาด และการให้การดูแลที่เป็นแบบอย่างได้ มีตู้ใส่ยาที่จำเป็น สำหรับเด็ก และเป็นยาที่ยังอยู่ในสภาพใช้การได้ เมื่อเด็กป่วยมีที่ให้เด็กนอนพักผ่อนระหว่างรอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เป็นที่ที่จัดไว้สะอาด สว่าง มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีการติดตามการฉีดวัคซีนเพื่อรับภูมิคุ้มกันต่างๆ ของเด็ก รวมทั้งมีสมุดบันทึกสุขภาพของเด็กที่เป็นปัจจุบันและพร้อมที่จะส่งต่อสำหรับสถานศึกษาที่เด็กจะไปศึกษาต่อไป สถานที่ทั้งในและนอกอาคารจะต้องสะอาด ไม่ว่าจะเป็นบริเวณโดยรอบ ห้องน้ำ ห้องเรียน ห้องนอน ห้องอาหาร โรงครัว มีแสงสว่างที่เพียงพอ การถ่ายเทอากาศดี ดูแล้วส่งเสริมให้มีสุขภาพดี นอกจากนี้ควรจัดเอกสารเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของเด็ก และเอกสารเกี่ยวกับโรคเด็กไว้ให้ผู้ปกครองได้อ่าน เพื่อเสริมความเข้าใจในการดูแลสุขภาพให้แก่เด็ก
                  ในส่วนของความปลอดภัย จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ให้เป็นระบบ สิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อเด็กควรเก็บให้พ้นมือพ้นตาเด็ก ปลั๊กไฟมีที่ครอบอย่างมิดชิด มีเครื่องมือดับเพลิงให้อยู่ ในสภาพพร้อมใช้ น่าจะมีการฝึกการปฏิบัติการยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ให้เด็กได้สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว และตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่รู้จักระมัดระวัง ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพพื้นที่เพื่อให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัยสำหรับเด็ก
              3.   สภาพแวดล้อมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
                    การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อเด็กปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็นนอกห้องหรือภายในห้อง มีความสำคัญ ต่อพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างยิ่ง ควรจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กรู้สึกมั่นคง อบอุ่น มีความสุขและเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่และกลุ่มคนรอบข้าง สถานศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยหลายแห่งจึงพยายามจัดโรงเรียนให้เหมือนกับเป็นบ้านหลังที่สองของเด็ก
                    การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้อง หมายความรวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมกลางแจ้งและบริเวณที่ร่มรอบห้อง ควรจัดเป็นสถานที่เล่น หรือสนามเด็กเล่น ให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย การประสานสัมพันธ์ของร่างกาย ได้พัฒนาการทางภาษาและทักษะทางสังคมในการเล่นรวมกันกับเพื่อนอย่างมีความหมาย เด็กได้มีโอกาสเล่นพวกการละเล่นของไทย และการละเล่นสำหรับเด็กที่มีในท้องถิ่น เด็กได้มีโอกาสวิ่ง กระโดด ไต่ ห้อยโหน หมุน มุด และคลานควรจัดเครื่องเล่นให้เด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆเหล่านี้อย่างปลอดภัย การเล่นช่วยให้เด็กได้ระบายออกในเรื่องของความกดดัน ความเครียดและพลังที่มีอยู่ในเด็กมากมาย นอกจากนี้ยังควรจัดบริเวณให้เด็กได้มีโอกาสเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ประกอบอาหารได้ตามวัย
                    การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้อง จัดสภาพแวดล้อมอย่างมีจุดมุ่งหมาย วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ จัดวางทั้งในตู้ บนตู้ วางกับพื้น วางกับที่รองต่างๆ ตามสภาพห้องโดยให้มีสมดุลกัน ระหว่างวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นสิ่งธรรมชาติ สิ่งที่ครูผู้ดูแลเด็กเป็นผู้จัดทำ ผู้ปกครองหรือเด็กทำขึ้นมา และวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานที่ต้องจัดซื้อ วัสดุอุปกรณ์จัดวางให้ง่ายในการหยิบจับ และควรวางให้อยู่ในระดับสายตาเด็ก อาจจะจัดแยกเป็นหมวดหมู่ หรือเป็นมุม/ศูนย์การเรียน และควรมีเพียงพอที่เด็กจะได้แบ่งปันกันเล่น มีที่ว่างในห้องสำหรับทำกิจกรรมกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ รายบุคคล มีโต๊ะเก้าอี้สำหรับการทำงานที่ต้องการทำบนโต๊ะ โดยโต๊ะเก้าอี้มีขนาดที่เด็กจะเคลื่อนย้ายเพื่อสะดวกในการจัดพื้นที่ทำกิจกรรม ให้เด็กมีโอกาสทำกิจกรรมทั้งการนั่งทำที่เก้าอี้ และนั่งทำที่พื้น ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นธรรมชาติสำหรับเด็ก
              4.   ความสัมพันธ์และการปฏิบัติต่อกันสำหรับครูผู้ดูแลเด็กและเด็ก
                    การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กได้ บุคลิกของครูผู้ดูแลเด็กควรจะสร้างความสบายใจให้กับเด็ก ด้วยการทักทายเด็กเมื่อพบทุกเช้า มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส โอบกอดเด็ก ให้การสัมผัสที่อบอุ่นแก่เด็ก จะช่วยสร้างความมั่นใจและความมั่นคงให้เกิดขึ้นในใจของเด็ก ต้องสามารถสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรในห้องเรียน ทำให้เด็กมีความรู้สึกอิสระและมีความปลอดภัยทางจิต ความรู้ทางจิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก จะช่วยให้ครูผู้ดูแลเด็กเข้าใจเด็ก ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ต่อเด็กได้ ความสามารถในการสังเกตมีความจำเป็นเพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาหรือมีความสามารถพิเศษทันเวลา
              5.   ความสัมพันธ์และการปฏิบัติต่อกันระหว่างครูผู้ดูแลเด็กกับผู้ปกครอง
                    ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กับบ้านและชุมชนจะช่วยสร้างบรรยากาศของความเข้าใจ ความร่วมมือกัน ที่จะนำไปสู่การส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูผู้ดูแลเด็กกับผู้ปกครองจะช่วยให้เด็กปฏิบัติตนได้อย่างสอดคล้องกันทั้งที่บ้าน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้ดูแลเด็กสามารถพบปะพูดคุยกับผู้ปกครองได้ทุกวัน เช้า – เย็น หรือด้วยการนัดหมาย จัดบอร์ดข่าวสารถึงผู้ปกครองไว้บริเวณที่ผู้ปกครองเห็นได้เวลามารับบุตรหลาน อาจจะส่งข่าวสารถึงผู้ปกครองด้วยการส่งจดหมาย วารสาร เชิญประชุมในวาระต่างๆ ทั้งเพื่อแจ้งข้อมูลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง จัดกิจกรรมเสริมความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์ฯ บ้าน และชุมชน ให้ทางบ้านและชุมชนเข้ามาร่วมในการเป็นวิทยากร แหล่งวิทยาการ อาสาสมัครในกิจกรรมต่างๆ ทำให้บ้านและชุมชนใกล้ชิดกับศูนย์ฯ เกิดความเข้าใจในการทำงานของครูผู้ดูแลเด็ก และทำให้เกิดความมั่นใจในการดูแลเด็กของบุคลากรในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
              6.   คุณสมบัติและการพัฒนาครู
                    สมาคมแห่งชาติเพื่อการศึกษาของเด็กปฐมวัย กำหนดคุณสมบัติของครูอนุบาลไว้ว่าต้องจบระดับอนุปริญญาเป็นอย่างน้อย และในแต่ละปีต้องผ่านการอบรมเสริมความรู้ปีละไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมง สำหรับครูผู้ดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น น่าจะได้ทั้ง 2 ส่วนคือ ในส่วนของการศึกษาคือ จบปริญญาตรีทางการศึกษาปฐมวัย และเพิ่มพูนความรู้ ด้วยการฝึกอบรมทุกปีเพื่อพัฒนาตนเองให้ทันข้อมูลข่าวสารทางการศึกษาปฐมวัย สำหรับผู้ที่ไม่ได้จบทางด้านการศึกษาปฐมวัยโดยตรง โดยมีวุฒิระดับปริญญาตรีหรือต่ำกว่า ควรจะมีการฝึกอบรมระหว่างการทำงานให้เข้าใจ และทำงานได้ดีกับเด็กปฐมวัย สาระที่จะได้รับการเพิ่มพูนความรู้ ควรจะครอบคลุมทั้งการจัดการเรียนการสอน การเข้าใจเด็กในแง่ของจิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก การเข้าใจวิธีการและเทคนิคการสอนใหม่ๆ การให้คำแนะนำทั้งแก่เด็กและผู้ปกครอง การทำงาน กับเด็กและผู้ปกครอง การเข้าใจถึงการรักษาความปลอดภัย และความรู้เรื่องสุขภาพพอที่จะดูแลเด็กเบื้องต้นได้ในกรณีฉุกเฉิน
              7.   โภชนาการ
                    การจัดการเรื่องอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เหมาะกับวัยของเด็ก สถานที่ปรุงอาหารรับประทานอาหารปราศจากเชื้อโรค ควรจะมีการบันทึกรายการอาหารในแต่ละวัน เพื่อให้พ่อแม่ รับรู้และตรวจสอบได้ ที่สำคัญอาหารจะต้องได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขระบุไว้ และต้องระมัดระวังดูแลเรื่องการแพ้อาหารของเด็ก จัดบรรยากาศให้เด็กได้รับประทานอาหาร อย่างมีความสุข ด้วยการจัดการบริการอาหารในหลายรูปแบบสลับกันไป อาจจะเป็นครูผู้ดูแลเด็ก ตักอาหารให้ เด็กบริการตักอาหารให้เพื่อน เด็กตักอาหารบริการตนเอง นั่งรับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ โดยอาจจะมีเพลงเบาๆ เปิดให้ฟัง ควรให้เด็กได้ใช้ช้อนส้อม ช้อนคาว ช้อนหวานแยกกัน นั่งรับประทานอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางตักอาหาร มีรายการอาหารให้เด็ก และผู้ปกครองทราบ รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน และเด็กควรได้ทราบถึงชื่อและคุณค่า ของอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน นอกจากนี้บ้าน ศูนย์ฯ และชุมชนควรร่วมมือกันดูแลอาหารที่นำมาขายแก่เด็กทั้งในและนอกศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
              8.   การบริหารงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
                    การบริหารงานควรจะมีความชัดเจนตั้งแต่นโยบาย ปรัชญา วัตถุประสงค์ ที่เป็นพื้นฐานนำไปสู่การปฏิบัติงานของบุคลากร เพื่อทำให้งานดำเนินไปได้ ทั้งในด้านธุรการและวิชาการ มีการแบ่งหน้าที่ในการบริหารสำหรับบุคลากรแต่ละคนอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการติดต่อประสานงาน ให้ทุกคนรู้บทบาท ความรับผิดชอบ ขอบข่ายหน้าที่อำนาจในการทำงาน
                    การคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน ต้องมีเกณฑ์คัดเลือกที่ชัดเจนในเรื่องคุณสมบัติที่ต้องการบุคลิกภาพในการทำงานที่เหมาะสมกับเด็ก ความคล่องตัว มีจิตใจรักเด็ก ยิ้มแย้มแจ่มใส ใจเย็นและอดทน น่าจะเป็นส่วนสำคัญพอๆ กับการเป็นผู้มีความรู้ในการทำงานกับเด็ก เมื่อได้คนเข้ามาทำงานแล้วมอบหมายให้ทำงานตรงกับความสามารถ ดูแลและพัฒนา
                    การเงิน มีความสำคัญ ผู้รับผิดชอบในจุดนี้จะต้องมีความละเอียดรอบคอบ ซื่อสัตย์ ประหยัด จะได้ใช้เงินได้อย่างคุ้มค่า ทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายให้เป็นปัจจุบัน พร้อมสำหรับการตรวจสอบรวมทั้งควรจะมีแนวทางในการจัดหาแหล่งสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัว จัดกิจกรรมต่างๆ ให้ได้ตามวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา และควรระวังในการจัดสรรงบประมาณให้มีความสมดุลกับความเป็นจริงบนรากฐานความประหยัดและคุ้มค่าคิดก่อนจ่าย
              9.   การจัดตารางเวลา
                    ตารางกิจวัตรประจำวันจำเป็น เพื่อผู้ปกครองจะได้ทราบว่าเด็กมาอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จะได้รับการดูแลหรือพัฒนาด้านใด การจัดตารางเวลาควรจะปรับยืดหยุ่นได้แต่ละวัน ไม่ควรกำหนดตายตัวเหมือนกันทั้งปีว่าแต่ละช่วงเวลาใดต้องทำอะไร เพียงแต่ในทุกวันเด็กควรได้รับการพัฒนาทุกด้าน การสั่งให้เด็กนำอุปกรณ์อะไรมาทำที่ศูนย์ฯ ควรจะมีการแจ้งให้ผู้ปกครองทราบล่วงหน้าเพื่อที่ผู้ปกครองจะได้มีเวลาเตรียมให้เด็กได้ทัน และควรดูแลเด็กที่ขาดผู้ปกครองแท้จริง ดูแลให้มีอุปกรณ์ในการเรียนด้วย
              10.  การวัดและประเมินผล
                    เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น น่าจะมีผลการประเมินการทำงานของครูผู้ดูแลเด็กอย่างน้อยปีละครั้ง อาจจะด้วยการสังเกตการจัดการเรียนการสอนในและนอกห้อง แล้วให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ครู ผู้ดูแลเด็กถึงจุดดีและจุดด้อยเป็นรายบุคคล และควรจะให้ครูผู้ดูแลเด็กประเมินตนเอง เพื่อนประเมิน อาจเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ประเมินผลการทำงานของศูนย์ฯ ปีละครั้ง
                    สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ การประเมินพัฒนาการเด็ก นอกจากการประเมินภาพรวมแล้วต้องประเมินเด็กเป็นรายบุคคล ทั้งลักษณะนิสัย การเรียนรู้ และให้ผู้ปกครองได้ทราบผลการประเมินของเด็ก เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเด็กให้มีความสุขต่อไป

บทสรุป

              นโยบายของรัฐบาลดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย ในการสนับสนุนโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบขององค์กรปกครองท้องถิ่น ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ในปีการศึกษา 2547 ถึงแม้ว่าจะให้การสนับสนุนในรูปแบบของงบประมาณที่มอบให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ก็มิได้หมายความว่า เงินจะดลบันดาลให้เกิดคุณภาพได้ทันตาเห็น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรคุณภาพ ผู้บริหารพร้อมที่จะสนับสนุนจึงจะสามารถดำเนินการให้เป็นต้นแบบที่มีคุณภาพเป็นฐานได้ โดยเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 10 ข้อ ของสมาคมแห่งชาติเพื่อการศึกษาของเด็กปฐมวัย น่าจะเป็นแนวทางในการตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพได้ส่วนหนึ่ง
              ประสบการณ์ของผู้เขียนได้มีโอกาสไปช่วยพัฒนาการศึกษาของท้องถิ่น พบว่า จุดของความสำเร็จในการดำเนินงานคือ ความต้องการต้องมาจากท้องถิ่น ชุมชน ผู้บริหารและครู ที่อยากจะพัฒนา ผู้บริหารพร้อมให้การสนับสนุนและติดตามงาน มีผู้ประสานงานจากหน่วยงานต่างๆ อย่างดี  มีความจริงใจกับการพัฒนาเด็ก เข้าใจงาน ติดต่อ ติดตาม ดูแลพร้อมบริการ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เกี่ยวข้องด้วย จึงจะทำให้งานดำเนินการไปได้สำเร็จ
              ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เป็นศูนย์พัฒนาที่ดีเป็นต้นแบบได้ ทั้งในส่วนของสภาพกายภาพ การดูแลและให้การศึกษาเด็กที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น ความสำเร็จที่มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กอย่างแท้จริง ผู้เขียนกล่าวถึงเฉพาะศูนย์เดียวเนื่องจากได้มีประสบการณ์ร่วมพัฒนาใช้เวลามากกว่า 4 ปี จึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบที่มีคุณภาพและก็หวังว่าจะคงคุณภาพไว้ตลอดไป แต่คิดว่ายังมีอีกหลายแห่งทั่วประเทศที่คงเป็นต้นแบบที่มีคุณภาพเช่นกัน เพียงแต่ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้เห็นด้วยตนเอง
              หวังอย่างยิ่งว่า การดำเนินการเรื่อง การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ คงมีความต่อเนื่องเป็นการทำงานเพื่อเด็กด้วยความจริงใจที่จะเห็นเด็กไทยมีคุณภาพทั่วประเทศ เงินทุกบาททุกสตางค์ ก็คงจะใช้อย่างคุ้มค่า ประหยัด เกิดประโยชน์และใช้พัฒนาเด็กโดยแท้

บรรณานุกรม
ภาษาไทย
             
กุศล  สุนทรธาดา และคณะ. ทบทวนสถานการณ์และสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็กในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข, 2540.
              กองบรรณาธิการ. “กลยุทธ์การนำโรงเรียนอนุบาลไปสู่มาตรฐานสากล”. รักลูก. 12 (กันยายน 2537) : 141 – 144.
              กองบรรณาธิการ. “กลยุทธ์การนำโรงเรียนอนุบาลไปสู่มาตรฐานสากล”. รักลูก. 12 (ตุลาคม 2537) : 170 – 174.
              ­กองบรรณาธิการ. “กลยุทธ์การนำโรงเรียนอนุบาลไปสู่มาตรฐานสากล”. รักลูก. 12 (พฤศจิกายน 2537) : 162 – 165.
              ทิศนา  แขมมณี และคณะ. หลักสูตรและรูปแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามวิถีชีวิตไทย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.
              มาณี  ไชยธรานุวัฒศิริ. การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย : บทบาทของสถานเลี้ยงดูเด็ก. กรุงเทพมหานคร : สถาบันวิจัยสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข, 2543.
              สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. การวิจัยทางการศึกษา ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร : สำนักวิจัยและพัฒนาการการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, กันยายน 2546.
              สำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น กรมการปกครอง. คู่มือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เล่ม 1 การจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน, 2546.
              อุทุมพร  จามรมานและจีระพันธุ์  พูลพัฒน์. ระบบ กลไกและประสิทธิภาพ ของสถานเลี้ยงดูเด็กของภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กุมภาพันธ์ 2544. (อัดสำเนา)

ภาษาอังกฤษ
              Culkin, M.L. (editor) Managing Quality in Young Children’s Programs. New York : Teacher College Press, 2000.
              Decker, C.A. and Decker, J.R., Planning and Administering Early Childhood Programs (7th edition), New Jersey : Prentice – Hall, Inc., 2001.
              Marshall, N.L. and Others. Early Care and Education in Massachusetts Public School Preschool Classrooms.  Wellesley Centers for Women, 2002.
              Morrison, G.S., Early Childhood Education Today (7th edition), New Jersey :   Prentice – Hall, Inc., 1998.
              Sciarra, D.J. and Dorsey, A.G. Developing and Administering a Child Care Center  (5th edition), New York : Delmar Learning, 2003.

(บทความที่ 1 ชุดที่ 2)