ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : อีกหนึ่งแนวคิดของการดูแลและการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย 

รศ.ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์  (พ.ศ. 2550)

              การประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ทำให้เกิดการตื่นตัวในการปฏิรูปการศึกษาของสถานศึกษาระดับต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัยขึ้นไป โดยที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นสถานศึกษาประเภทหนึ่งที่ให้การดูแลและจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย ในช่วงอายุ 3 – 5 ปี ซึ่งแต่ละแห่งอาจจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของอายุเด็กที่มีความแตกต่างกันไปตั้งแต่  2 – 7 ปี
              ผลของการวิจัยและข้อมูลใหม่ๆ ที่ได้นำมาเผยแพร่ในปัจจุบันทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาโดยเฉพาะการจัดการศึกษาปฐมวัย ต้องกลับมาพิจารณาถึงการนำเสนอรูปแบบการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยให้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านต่างๆ และมุ่งให้เด็กได้เจริญเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้สนับสนุนให้ผู้ที่ทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้พัฒนาตนเองให้เกิดความเข้าใจในการทำงานกับเด็ก โดยจัดการอบรมผู้ดูแลเด็กด้วยหลักสูตร 7 วัน ที่เป็นหลักสูตรระยะสั้นและเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยได้ความรู้ทั้งในส่วนของการดูแลและการจัดการศึกษาให้แก่เด็กได้อย่างเหมาะสม และรัฐบาลเองได้มีนโยบายสนับสนุนด้วยงบประมาณในการพัฒนาคนและพัฒนาศูนย์ต่างๆ ได้จัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบในแต่ละจังหวัด เพื่อให้เป็นตัวอย่างและเป็นส่วนกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศคิดปรับพัฒนางานที่รับผิดชอบโดยเห็นแนวทางในการปฏิบัติได้จริงจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบเหล่านั้น
              หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาของท้องถิ่นหลายแห่งได้แสวงหาความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อให้เข้ามาช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอนในระดับการศึกษาปฐมวัยให้ทั้งในส่วนที่เป็นระบบโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
              เทศบาลเมืองกระบี่มีนโยบายด้านการพัฒนาชุมชน คือ การสร้างสังคมที่มีความรัก ความอบอุ่น ความสามัคคี เพื่อสร้างชุมขนสู่ความเข็มแข็ง การดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้ได้ประชาชนที่มีคุณภาพ เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีความเป็นระเบียบวินัย ประพฤติปฏิบัติตนตามกฎหมายมีคุณธรรม จริยธรรม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการดำเนินชีวิตโดยมีแนวทางสำคัญ ประการหนึ่ง คือ การให้การศึกษาตั้งแต่เยาว์วัย เป็นการปลูกฝังให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในตนเอง เกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคม และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบ้านเมืองตามหลักของการปกครองส่วนท้องถิ่น
              แนวคิดพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนปานุราช ภายใต้การบริหารงานของ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองกระบี่ โดยคุณกฤษดา  สถิตย์ภาคีกุล ผู้รับผิดชอบในขณะนั้น ได้ขอความร่วมมือจากสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาการเรียนการสอนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในช่วงปีการศึกษา 2547 และ 2548
              ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนปานุราช ตั้งอยู่ที่ 2 ถนนชัยกุล ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการอบรมเลี้ยงดูเด็กอายุระหว่าง 2 – 3 ขวบ ให้มีคุณลักษณะตามวัยและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามปรัชญาของศูนย์ คือ “พัฒนาการดี มีวินัย จิตแจ่มใส งามมารยาทไทย” และมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีลักษณะดังต่อไปนี้
              1)   มีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ เจริญเติบโตตามวัย มีพฤติกรรมอนามัยที่เหมาะสม
              2)   มีสุขภาพจิตดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุขและมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น
              3)   ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมตามวัย
              4)   เล่นและทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
              5)   มีความสามารถในการใช้ภาษาได้เหมาะสมตามวัย
              6)   มีความสนใจต่อการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว
              เอกสารของศูนย์ฯ ได้ระบุแนวการอบรมเลี้ยงดูเด็กเอาไว้ที่ทำให้มองเห็นวิธีการทำงานกับเด็ก สาระที่นำเสนอไว้มีดังนี้
              1)   จัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอาคารในลักษณะที่ส่งเสริมพฤติกรรมการเรียนรู้และสภาพบรรยากาศให้อบอุ่น คล้ายบ้าน
              2)   ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กโดยเน้นความสำคัญของกิจวัตรประจำวัน
              3)   สนับสนุนให้เด็กได้เล่นทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่ม
              4)   สร้างนิสัยและส่งเสริมให้รักการอ่าน
              5)   ส่งเสริมให้เด็กเล่นกับวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับศิลปะเพื่อพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการ
              6)   ฝึกการใช้ประสาทสัมผัสและประสานสัมพันธ์
              7)   จัดอาหารที่เหมาะสมกับวัยตามหลักโภชนาการ

การปฏิบัติจริงเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน
             
เนื่องด้วยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนปานุราช มีปรัชญา วัตถุประสงค์ และแนวการอบรมเลี้ยงดูที่ปฏิบัติอยู่แล้ว ดังนั้นการดำเนินงานจะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่ได้ปฏิบัติอยู่เดิม แนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันมีประเด็นหลักๆ ดังนี้
              1.   สำรวจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับครู ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สภาพชุมชน และความต้องการในการพัฒนาครู
              2.   สังเกตการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง และประชุมครูเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพทั้งภายนอกและภายในห้องเรียนและการปฏิบัติหน้าที่ของครูในขณะทำงานกับเด็ก ให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ครูจากการสังเกตของวิทยากร
              3.   การประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับหลักการสำคัญๆ ในการทำงานกับเด็กปฐมวัยและนำเสนอแนวคิดต่างๆ ในการจัดการศึกษาปฐมวัยที่เน้นการพัฒนาการเด็กตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
              4.   คณะครู ศึกษาดูงานโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กที่จัดการดูแลให้การศึกษาแก่เด็กตามแนวคิดต่างๆ
              5.   คณะครู สรุปความสนใจในการพัฒนาการเรียนการสอนของศูนย์
              6.   จัดตารางการประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูตามแนวคิดที่สนใจ สิ่งที่คณะครูสนใจ คือ การสอนแบบมอนเตสซอรี่ และการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน
              7.   จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับแนวคิดที่สนใจ และสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น มีการตรวจแก้ไขทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ และช่วงเวลาที่นิเทศการสอน
              8.   วิทยากรนิเทศการสอนตามช่วงเวลาที่เหมาะสม พร้อมให้คำแนะนำรวมทั้งร่วมในการปฏิบัติการสอนกับครู วางแผนการจัดชั้นเรียน และการปฏิบัติที่เหมาะสมในการเก็บรวบรวมข้อมูล สำหรับการประเมินพัฒนาการเด็ก
              9.   เสริมความรู้ให้แก่ครูตามความต้องการทุกครั้งที่พบทั้งจากการที่ครูมาศึกษาดูงานสถานศึกษาต่างๆ และในช่วงเวลาที่นิเทศการสอน
              10. ติดต่อประสานงานตลอดเวลา เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ครูในการทำงานกับเด็กปฐมวัยในความรับผิดชอบ
              ข้อสังเกตจากการทำงานร่วมกัน การพัฒนาการเรียนการสอนรวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อม ทางกายภาพทั้งภายนอกและภายในห้องเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนปานุราชทำได้เป็นระบบและทำได้รวดเร็ว ครูได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ได้รับความรู้ทั้งจากวิทยากร การศึกษาดูงาน การทดลองปฏิบัติ และได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารอย่างสม่ำเสมอ ทำให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างเหมาะสม

การสอนแบบมอนเตสซอรี่
             
ผู้ริเริ่มคือ ดร.มาเรีย  มอนเตสซอรี่ (คศ. 1870 – 1952) เป็นแพทย์สตรีคนแรกของอิตาลี ได้คิดวิธีการสอนเพื่อให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเมื่อ ค.ศ. 1898 ต่อจากนั้นได้พัฒนาการสอนเพื่อเด็กปกติเมื่อปี ค.ศ. 1900 และใช้เวลาทดลองสอนเป็นเวลา 7 ปี จนถึงปี ค.ศ. 1907 จึงได้นำแนวคิดมาปฏิบัติกับเด็กปกติ และได้มีการเผยแพร่ความรู้การสอนแบบมอนเตสซอรี่ไปทั่วโลก และขยายตัวอย่างรวดเร็วจากผลของการสอนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้รับการพิสูจน์มาเป็นเวลายาวนาน
              หลักสูตรการสอนแบบมอนเตสซอรี่ เป็นไปตามปรัชญาและหลักการของการสอน 5 ประการ คือ 1) เด็กจะต้องได้รับการยอมรับนับถือ 2) เด็กมีจิตที่ซึมซาบได้ 3) ช่วงเวลาหลักของชีวิต 4) การเตรียมสิ่งแวดล้อม และ 5) การศึกษาด้วยตนเอง การสอนแบบมอนเตสซอรี่มีจุดมุ่งหมายมุ่งพัฒนาสติปัญญา สังคม อารมณ์และร่างกายโดยจัดหลักสูตรพื้นฐานเป็น 3 กลุ่ม คือ
              1)   กลุ่มประสบการณ์ชีวิต มุ่งหวังให้เด็กได้ดูแลกิจส่วนตน ดูแลสิ่งแวดล้อม มีทักษะทางสังคม และควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
              2)   กลุ่มประสาทสัมผัส มุ่งหวังที่จะฝึกประสาทสัมผัสของเด็ก ให้รู้จักสังเกตรายละเอียดของสิ่งต่างๆ เพิ่มความสามารถของเด็กในการคิด การเห็นความแตกต่าง จุดเด่น การรวมกลุ่มและจัดระเบียบหรือลำดับได้ และเป็นการช่วยเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับการเรียนวิชาการ
              3)   กลุ่มวิชาการ มุ่งหวังให้ได้มีทักษะพื้นฐานทางวิชาการต่างๆ เช่น ภาษา คณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ฯลฯ
                    ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนปานุราช ได้นำแนวคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่มาใช้ โดยได้รับการอบรมให้เข้าใจทฤษฎี และการใช้อุปกรณ์มอนเตสซอรี่ รวมทั้งได้มีโอกาสศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบ คือ โรงเรียนอนุบาลกรแก้ว และสถานรับเลี้ยงเด็กพีระยานาวิน ศูนย์อยุธยา ที่นำแนวคิดนี้ไปใช้กับเด็กเช่นกัน หลังจากใช้แนวคิดไปแล้วระยะหนึ่งครูก็ได้เข้ารับการอบรมการสอนอีกครั้งจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทางศูนย์ฯ ได้จัดห้องเรียนที่มีอุปกรณ์ทั้งสามกลุ่มไว้ 1 ห้องเรียน และเด็กที่จัดกลุ่มแยกเรียนในแต่ละห้องก็เวียนกันเข้ามาใช้ห้องมอนเตสซอรี่ ตามตารางเวลาที่กำหนดเอาไว้ และครูประจำห้องมอนเตสซอรี่จะเป็นผู้สังเกตและบันทึกการทำงานของเด็ก
                    ในขณะที่กลุ่มหนึ่งเข้ามาทำงานให้ห้องมอนเตสซอรี่ เด็กกลุ่มอื่นๆ ก็จะเข้าไปเรียนตามห้องต่างๆ โดยแต่ละห้องจะจัดอุปกรณ์ไว้ให้เด็กทำงานตามแนวคิดของศูนย์การเรียน โดยแต่ละวันจะสลับไปว่าห้องไหนจะจัดศูนย์การเรียน ด้วยกิจกรรมใดบ้าง ครูจะแนะนำการทำงานในศูนย์ให้เด็กลงมือปฏิบัติ และครูสังเกตบันทึกการทำงานของเด็ก ตลอดจนให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของเด็ก โดยสิ่งที่จะจัดในแต่ละศูนย์จะสอดคล้องกับหน่วยที่กำหนดไว้ตามหลักสูตรสถานศึกษา

การสอนโดยใช้ศูนย์การเรียน
              Day (1994) McMillan (1994) และ Holliman (1996) ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับศูนย์การเรียนไว้ เมื่อประมวลแล้วสรุปได้ดังนี้
              ศูนย์การเรียน คือ พื้นที่ที่กำหนดขึ้นมาในห้องเรียนอย่างมีจุดมุ่งหมายในการที่จะจัดกิจกรรมการเรียนที่หลากหลายให้แก่เด็ก และเด็กมีอิสระในการเลือกทำกิจกรรมต่างๆ จากแต่ละศูนย์ได้ตามความสามารถ โดยมีสัญญาการเรียนเป็นเสมือนผู้นำทางในการทำงานของเด็ก
              ศูนย์การเรียนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีประโยชน์ทั้งแก่ครูและเด็ก โดย Holliman (1996) ได้สรุปคุณค่าและประโยชน์ไว้ ดังนี้
              1)   ช่วยทำให้ครูมีเวลาในการปฏิสัมพันธ์กับเด็กมากขึ้น
              2)   ช่วยทำให้มีการจัดกลุ่มได้ยืดหยุ่นและมีกิจกรรมหลากหลายที่จะสนองตอบต่อความต้องการ ของเด็กแต่ละคน
              3)   ช่วยเอื้อต่อรูปแบบการเรียนรู้ (learning styles) ของเด็กที่แตกต่างกัน
              4)   ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของเด็กเพราะเด็กได้มีส่วนร่วมในการทำงานและได้มีโอกาส เลือกทำงาน
              5)   ช่วยให้เด็กเกิดความคิดเกี่ยวกับตนเอง หรืออัตมโนทัศน์ (self-concept) จากการมีโอกาสได้พบความสำเร็จในการทำงาน
              6)   ช่วยให้เด็กมีโอกาส สำรวจ ค้นพบและสร้างสรรค์ ปฏิบัติและใช้ทักษะต่างๆ แก้ปัญหาและใช้ทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นผู้เรียนที่มีอิสระ และร่วมมือกับเพื่อนในการทำงาน
              ความเหมาะสมและคุณค่าดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีนักการศึกษาปฐมวัยนำแนวคิดการสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนมาใช้ในโปแกรมการศึกษาปฐมวัย
              ศูนย์การเรียนมีหลายแบบ อาจจะใช้แบบเดียวกันหรือหลายๆ แบบมารวมกันได้ อาจจะเป็นศูนย์ แบบเน้นตามหลักสูตร เช่น ศูนย์คณิตศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์สังคมศาสตร์ ฯลฯ หรืออาจจะเป็นศูนย์ตามหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีการพัฒนากิจกรรมในแต่ละศูนย์ให้สัมพันธ์กับสาระตามหัวข้อเรื่องในการจัดศูนย์การเรียนได้มีการตั้งชื่อศูนย์แตกต่างกันไปแล้วแต่ความเหมาะสม และการเน้นของหลักสูตร ในแต่ละสถานศึกษา Day (1994) ได้นำเสนอตัวอย่างศูนย์การเรียนที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยไว้ดังนี้
              1)   ศูนย์บล็อก
                     
เพื่อจัดโอกาสให้เด็กได้ทำงานอย่างอิสระ หรือทำงานร่วมกับเด็กอื่น ได้เรียนรู้มิติสัมพันธ์ความสมดุล ความสามารถในการสร้างสรรค์งาน และช่วยพัฒนาการประสานสัมพันธ์ระหว่างตา–มือ กล้ามเนื้อใหญ่และเล็ก
                     อุปกรณ์จะมีทั้งบล็อกขนาดใหญ่ กลาง เล็ก มีรูปร่างต่างๆ กันทั้งสามเหลี่ยม ส่วนโค้ง และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยให้เด็กได้ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
              2)   ศูนย์ภาษา
                     
เพื่อให้เด็กสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิผลด้วยการอ่าน การเขียน การพูด และการฟัง ช่วยให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ คิดเป็นเหตุเป็นผล และมีระบบในการคิด
                     อุปกรณ์ ประกอบด้วย หนังสือนิทาน หนังสือค้นคว้า มีกล่องคำ กระดาษ ดินสอ สีเทียน มีเทป มีหูฟัง ให้เด็กได้ฟังเรื่องราวต่างๆ
              3)   ศูนย์ศิลปะ
                     
เพื่อช่วยพัฒนาความซาบซึ้งในสิ่งที่มีสุนทรียะ การแสดงออก และขยายการเรียนรู้ของเด็ก ช่วยพัฒนาทักษะภาษา กล้ามเนื้อใหญ่และเล็ก สังคมและอารมณ์
                     ศูนย์ดนตรี อุปกรณ์ ประกอบด้วย เครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ สำหรับศูนย์ศิลปะ ควรจัดอุปกรณ์ที่หลากหลายให้เด็กได้เลือก เพื่อสร้างผลงานตามความคิดโดยอิสระ ทั้งกระดาษ สีชนิดต่างๆ วัสดุเหลือใช้ที่สวยงามอยู่ในสภาพดี วัสดุธรรมชาติต่างๆ ฯลฯ
              4)   ศูนย์บ้านและการแสดงสร้างสรรค์
                     
เพื่อให้เด็กได้เล่นในลักษณะที่เป็นธรรมชาติ มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กัน ได้ฝึกฝนการแก้ปัญหาการทำงานร่วมกัน ให้เด็กได้ทำกิจกรรมเย็บปักถักร้อย ประกอบอาหารที่จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก ตา-มือ ประสานสัมพันธ์ และเรียนรู้เกี่ยวกับโภชนาการ
                     อุปกรณ์ประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก เสื้อผ้าสำหรับการแต่งกาย กระจกบานโตที่มองเห็นทั้งตัว ชุดเครื่องเย็บผ้า เครื่องครัว มีฉากกั้นทำเป็นร้านค้า โรงพยาบาล ที่ทำการไปรษณีย์ ฯลฯ
              5)   ศูนย์สำรวจทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
                     
เพื่อสนองความสนใจและความต้องการธรรมชาติของเด็ก ที่สนใจในการที่จะสำรวจ ทดลอง ค้นคว้า แสวงหาคำตอบ สังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว จึงต้องจัดโอกาสให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติและสำรวจ จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การสังเกต การจัดกลุ่ม การวัด การคิดคำนวณ การทดลอง และการคาดคะเน เพื่อพัฒนาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ความคิดรวบยอด และทักษะ
                     อุปกรณ์ในศูนย์วิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย ช้อนเคาะเสียง ขวด ไม้ กระจก สายวัด เครื่องจุลทรรศน์ วัสดุธรรมชาติ มีดอกไม้ ใบไม้ น้ำ ดิน ทราย จัดให้เด็กได้เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช เพื่อฝึกความรับผิดชอบสิ่งที่มีชีวิตโดยได้เลี้ยง ดูแล และสังเกตการเจริญเติบโตของสัตว์และพืช
                     สำหรับศูนย์คณิตศาสตร์ อาจจะมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการนับ เครื่องชั่ง เงิน บล็อกที่มีคุณลักษณะเฉพาะโดมิโน ฯลฯ
                     Holliman (1996) ได้เสนอสิ่งที่ควรพิจารณาในการจัดศูนย์ภายในห้องเรียน คือ ให้คิดระบบการจราจรในห้องเรียนเพื่อเด็กจะได้เคลื่อนที่ไปมาได้โดยสะดวก แยกศูนย์ที่ต้องการความสงบให้อยู่ห่างจากศูนย์ที่มีการใช้เสียง ศูนย์ศิลปะและศูนย์ที่มีการประกอบอาหารควรจะอยู่ใกล้อ่างน้ำ ศูนย์คอมพิวเตอร์ การฟังควรจะอยู่ใกล้ปลั๊กไฟ
                     จำนวนของศูนย์ 5 ศูนย์ต่อสัปดาห์ดูจะเหมาะสำหรับการจัดการโดยเฉพาะกับครูที่เพิ่งเริ่มจัดศูนย์ (Holliman, 1996) หลังจากมั่นใจและมีพัฒนาการการจัดกิจกรรมในศูนย์ได้สำเร็จแล้ว ก็สามารถเพิ่มจำนวนศูนย์ไปได้เรื่อยๆ เมื่อสบายใจกับจำนวนของศูนย์และแบบของศูนย์ที่ใช้ อาจจะใช้ศูนย์นั้นไปได้ ทั้งปี โดยใช้วิธีการเพิ่มกิจกรรมใหม่เข้าไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ทำงานได้ดี
                     สัญญาการเรียน  ช่วยให้เด็กได้ทำงานตามความสามารถของตนเองในแต่ละศูนย์ เป็นตัวสะท้อนถึงตารางสอนของเด็ก ซึ่งอาจแบ่งช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมในศูนย์ที่เลือกเอง ทำกิจกรรมอิสระ ที่ครูเป็นผู้วางแผน เด็กทำงานในศูนย์ตามความสนใจ ในช่วงเวลาเลือกอิสระและต้องรับผิดชอบ ในการทำงานตามสัญญาทุกวัน สัญญาการเรียนช่วยการประเมินแต่ละวันเพื่อวัดความก้าวหน้าของเด็ก โดยครูและเด็ก ใช้ในการทบทวนการทำงาน ให้ข้อมูลย้อนกลับ วางแผนกิจกรรมในอนาคต และใช้เป็นใบรายงานผลให้เด็กนำกลับบ้านในแต่ละวัน สัญญาการเรียนอาจครอบคลุมกิจกรรมหนึ่งวัน หรือหลายวัน หรือหลายวิชา และอาจทำได้หลายแบบ มีภาพ สัญลักษณ์หรือเขียน
                     การกำหนดจำนวนเด็กเข้าศูนย์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของครู โดยต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ให้เด็กทำงานในแต่ละศูนย์ แต่เด็กควรจะได้ทราบว่าจะให้เข้าไปทำงานในแต่ละศูนย์ได้กี่คน
                     การจัดตารางเวลาทำงานในศูนย์การเรียน Mcmillan (1994) ยกตัวอย่างว่าเด็กอายุ 3-6 ปี ควรใช้เวลาประมาณ 45 นาที
                     การสอนโดยใช้ศูนย์การเรียนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เวลาพบกันทั้งกลุ่ม เวลาทำงานในศูนย์การเรียนและเวลาทบทวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้
                     ในการเข้าไปทำงานในศูนย์การเรียน อาจจะต้องใช้ระบบหมุนเวียน โดยกำหนดเวลาให้ทำงานในแต่ละศูนย์ แล้วย้ายไปตามศูนย์หรือใช้ระบบที่เลือกด้วยตนเอง โดยเด็กเลือกกิจกรรมในศูนย์ด้วยตนเอง และบันทึกการทำงานลงไปในสัญญาเรียน
                     การประเมินผลการสอน ก็ด้วยการสังเกตขณะที่เด็กทำงานอย่างอิสระในศูนย์ เช่น การสังเกตเด็กทำงานกับอุปกรณ์ต่างๆ กระบวนการทำงานและผลงานของเด็ก รวมทั้งการทำงานร่วมกับคนอื่น การพูดคุยกับเด็กในขณะเด็กทำงานในศูนย์ทำให้ทราบความคิดและการแก้ปัญหาของเด็ก การพูดคุยกับผู้ปกครอง  จะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ความคิดเห็นของผู้ปกครอง และพื้นฐานเกี่ยวกับครอบครัว การจัดทำแฟ้มสะสมงาน ถ้าใช้วิธีการนี้ควรจะได้ส่งแฟ้มต่อให้ผู้ดูแลเด็กในปีต่อไปด้วย เพื่อจะได้มีความต่อเนื่องในการบันทึกพัฒนาการเด็กและดูแลเด็กจากพื้นฐานข้อมูลที่แท้จริงของเด็กแต่ละคนต่อไป
                     การจัดการชั้นเรียนโดยบูรณาการแนวคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่และศูนย์การเรียนครูที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปานุราชสามารถทำได้ดี นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ต่างๆ ให้แก่เด็กในตารางกิจกรรมประจำวัน โดยหมุนเวียนไปตามเหตุการณ์สำคัญ และตารางเวลาที่กำหนดจากข้อตกลงร่วมกัน เช่น กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมการเล่นในร่มและกลางแจ้ง กิจกรรมเล่นน้ำ-เล่นทราย กิจกรรมวันพ่อ-วันแม่ กิจกรรมวันปีใหม่ วันเด็ก วันลอยกระทง ฯลฯ กิจกรรมพิเศษ “เมืองกระบี่ของเรา” กิจกรรมพิเศษ “ผู้นำชุมชน” มีการสนทนาเกี่ยวกับข่าวและเหตุการณ์ การศึกษานอกสถานที่ กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่จัดเสริมไปกับการนำแนวคิดทั้งสองมาปฏิบัติ นอกจากนี้ก็มีการปฏิบัติตามปกติเช่นเดียวกับโรงเรียนหรือศูนย์สำหรับเด็กปฐมวัยทั่วไป คือ กิจกรรม หน้าเสาธง เคารพธงชาติ รับประทานอาหารว่าง ดื่มนม รับประทานอาหารกลางวัน เวลาพักผ่อน/นอน
                     จุดเด่นที่ครูของศูนย์ทำได้ดี คือ การประกอบอาหาร โดยเริ่มตั้งแต่เด็กปลูกพืชเองแล้วนำมา เตรียมอาหารนำไปประกอบอาหารทำร่วมกันระหว่างครู และนักเรียน จนถึงการรับประทานอาหารที่ทำ และบางครั้งได้ให้ผู้ปกครองหรือบุคคลอื่นๆ ในชุมชนที่มีความสามารถมาเป็นวิทยากรในส่วนของ   การประกอบอาหารกับเด็ก บางเรื่องทำให้ครูได้รับความรู้เพิ่มเติมจากวิทยากรเท่าที่ทราบทางศูนย์ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง และชุมชนในการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ อย่างดี การศึกษานอกสถานที่ และการไปแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ก็เป็นกิจกรรมที่ทำได้ดีเช่นกัน
                     การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กปานุราชดำเนินการมาได้อย่างดียิ่ง ด้วยความตั้งใจจริงของครู การสนับสนุนดูแลให้กำลังใจจากผู้บริหาร ครูทุกคนมีความสามารถในการทำงานกับเด็กปฐมวัย ผู้ปกครองและชุมชนได้ดี ศูนย์เป็นต้นแบบที่ดีในการดูแลและการให้การศึกษาแก่เด็ก ที่พิสูจน์ได้จากความต้องการ ของผู้ปกครองที่จะให้เด็กเข้าเรียนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ศูนย์ได้รับรางวัลจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ดีเด่นระดับจังหวัดนอกเหนือจากการเป็นศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ ศูนย์จะยังคงคุณภาพประสิทธิภาพ และประสิทธิผลได้ตามวัตถุประสงค์ ถ้าบุคลากรที่เกี่ยวข้องยังคงให้การสนับสนุนและให้กำลังใจแก่ผู้ปฎิบัติติงานที่มีคุณภาพเหล่านี้

บรรณานุกรม
              จีระพันธุ์  พูลพัฒน์ (2540). การสอนแบบมอนเตสซอรี่จากทฤษฏีสู่การปฏิบัติ, กรุงเทพมหานคร : สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.).
              เอกสารแนะนำ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนปานุราช. ของเทศบาลเมืองกระบี่.

รายการอ้างอิง
              Day,B. (1994). Early Childhood education, 4th edition, New York : Macmillan College Publishing Company.
              Holliman, L., (1996). Classroom center, CA : Creative Teaching Press, Inc.,
              Mcmillan,D. (1994) Center time, Carthage, IL : Teaching and Learning Company.

(บทความที่ 1 ชุดที่ 2)