ความคิดสร้างสรรค์ : รวมพลังรังสรรค์ให้แก่เด็ก

รศ.ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์  (พ.ศ. 2549)

คำนำ

              จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษา คือ การสร้างคนที่สามารถทำอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ได้ ไม่เพียงแต่ทำอะไรซ้ำๆ กับที่คนอื่นได้ทำต่อๆ กันมา เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนักประดิษฐ์คิดค้น จุดมุ่งหมายที่สองของการศึกษา คือ การสร้างจิตที่สามารถคิดวิจารณญาณ สามารถตรวจสอบสิ่งต่างๆ และไม่ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่คนอื่นนำมายื่นให้  (Piaget อ้างถึงใน Fisher, 1992 : 29)
              การศึกษาเรื่องความคิดสร้างสรรค์ จะมีเรื่องชวนคิดชวนสงสัยหลายอย่างเกิดขึ้น และก็มีแนวคิดของนักการศึกษา นักจิตวิทยา ที่มองในเรื่องนี้เหมือนและต่างกันไปว่า ความคิดสร้างสรรค์  มาจากไหน อะไรคือความคิดสร้างสรรค์ อะไรคือไม่ใช่ อะไรคือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ความเหมือน ความแตกต่าง หรือเหมือนกันหรือไม่ในระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับความสามารถพิเศษ (talented) กับพรสวรรค์ (gifted) สติปัญญากับความคิดสร้างสรรค์มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร
              ในเรื่องแหล่งที่มาของความคิดสร้างสรรค์มีแนวคิดแตกต่างกันไป แนวคิดแรก เชื่อว่า  ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เด็กทุกคนเกิดมามีความคิดสร้างสรรค์ (Lowenfeld,1975: 63) การที่ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กจะมากขึ้น ลดลง หรือได้มีโอกาสแสดงให้เห็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเด็กเป็นสำคัญแนวคิดที่สองเชื่อว่าคนทุกคนมีความสามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ (ประสาร  มาลากุล ณ อยุธยา, 2537 : 103) และความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้หรือผลมาจากเงื่อนไข หรือประสบการณ์รอบๆ ตัวบุคคล (สมศักดิ์ ภู่วิภาดาวรรธน์, 2537 : 8)
              แนวคิดดังกล่าวข้างต้น พบว่า ความคิดสร้างสรรค์นั้นมีการพิจารณาทั้งในแง่ที่เป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด กับในแง่เป็นสิ่งที่พัฒนาให้เกิดขึ้นในภายหลัง โดยที่ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้

              ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์
              ความก้าวหน้าของประชาคมโลก จากยุคดึกดำบรรพ์จนถึงยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข่าวสารข้อมูลและสื่อเทคโนโลยีต่างๆ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกก้าวหน้าไปขนาดนี้ คือความคิดสร้างสรรค์ของบุคคลต่างๆที่ผ่านมา ได้คิดค้นหาสิ่งใหม่ ทำให้เกิดความคล่องตัวขึ้นในสังคม  ที่ใดมีการประดิษฐ์คิดค้นทำสิ่งแปลกใหม่ หรือ เป็นต้นคิดในเรื่องใดๆ ก็จะสามารถพัฒนาประเทศได้เจริญรุดหน้า มีเศรษฐกิจดีกว่าประเทศที่คนในชาติมีความคิดสร้างสรรค์น้อย หรือมีความคิดสร้างสรรค์มากแต่ไม่ได้รับการพัฒนาจากสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
              บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในชาติเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้คนออกความคิดอยากจะค้นคว้า อยากจะสร้างหรือทดลอง ดังนั้น ประเทศต่างๆ ควรจะได้มีการกำหนดการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เอาไว้ในนโยบายของชาติ โดยเฉพาะนโยบายทางด้านการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติ  และพัฒนาจนกระทั่งมาเป็นหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน รัฐให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ  ที่ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของคนในชาติ มีการประชาสัมพันธ์สิ่งสร้างสรรค์ต่างๆ ให้คนในชาติได้รับรู้ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้คนได้เกิดความรู้สึกอยากคิดอยากทำ เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในด้านความคิดสร้างสรรค์ เป็นภาพโดยรวมของชาติ และขยายวงเข้าไปสู่สถาบันที่เกี่ยวข้อง ทั้งบ้าน  และโรงเรียน หรือในทางกลับกันจากบ้านและโรงเรียนผลักดันเข้าไปสู่สังคม
              Torrance (1980 : 11) ได้กล่าวถึงบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์ และพรสวรรค์ไว้ว่า พบว่ามีหลักฐานมากมายว่า ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีบรรยากาศที่ดีที่สุดสำหรับความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาเด็กที่มีพรสวรรค์ยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลก บรรยากาศของประเทศที่สะท้อนให้เห็นในเรื่องนี้ จากการปราศรัยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่อรัฐสภา เมื่อ 25 มกราคม 2522 ว่า…
              ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ข้อความที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของชาติ…” สังคมใหม่ที่เป็นเป้าหมายคือการเอาชนะความไม่ไว้วางใจและการเผชิญหน้า ความเข้าใจ และไว้วางใจกัน ควรจะได้รับการปลูกฝังในเป้าหมายของชีวิตที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง ในทุกแง่มุม  บ้าน  ชุมชน รัฐ และสังคมโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นสังคมที่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคลจะได้รับ การยอมรับ ความอุตสาหะพากเพียรจะได้รับผลอย่างยุติธรรม…” จากคำปราศรัยครั้งนี้เป็นการท้าทายบ้าน โรงเรียน และชุมชนในการพัฒนาแต่ละบุคคล ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้สึกที่เป็นนานาชาติ
              นอกจากนี้ยังมีคำปราศรัยอีกหลายส่วนที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ “… ประเทศญี่ปุ่นและโลกในปัจจุบันนี้ กำลังก้าวไปสู่ยุคใหม่ เราจะไม่ยึดติดกับหลักการที่ล้าสมัย  และวิถีทางที่กำลังจะหมดสิ้นไป…” ได้มีการพูดอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ และการได้บรรลุศักยภาพของตน จนท้ายคำปราศรัยได้กล่าวว่า… “รัฐมุ่งมั่นในการปรับปรุงและส่งเสริมวัฒนธรรม การศึกษา กีฬา และโอกาสอื่นๆ เพื่อที่คนในชาติจะได้พัฒนาตนเองไปตลอดชีวิต ทำให้ได้สูงสุดในแต่ละบุคคล และเต็มตามพรสวรรค์ และสามารถมีความสุขในการที่จะมีชีวิตที่สร้างสรรค์ตามที่ตนได้เลือก…เชื่อว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลในการกระตุ้นให้คนรุ่นหลังได้พัฒนาไปเต็มตามศักยภาพของเขา”
              Torrance ได้แสดงความคิดเห็นว่า ที่ได้นำคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ปราศรัยต่อรัฐสภามากล่าวถึงนั้น ด้วยต้องการให้เห็นว่า พฤติกรรมของผู้นำระดับสูงเท่านั้น จะทำให้เกิดบรรยากาศความคิดสร้างสรรค์ บรรยากาศเช่นนี้จะต้องมีการนำไปใช้โดยผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน  ครู บุคลากรของโรงเรียน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม ข้าราชการ และบุคคลอื่นๆ ซึ่งเขาคิดว่า  สะท้อนบรรยากาศของประเทศชาติโดยรวม
              สภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน มีผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของบุคคลต่างๆ หลายระดับอายุให้เห็นอยู่โดยทั่วไป ความสะดวก ความคล่องตัว ความปลอดภัย สิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นมา ก็ล้วนแต่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ทั้งสิ้น จึงเป็นความจำเป็นที่ทุกสถาบันที่เกี่ยวข้องจะได้ให้ความสนใจ สนับสนุน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคลให้ไปได้สูงสุดเต็มตามศักยภาพ

              ความหมายของการสร้างสรรค์ที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์
                    อะไรคือการสร้างสรรค์ (Creativity)
                          Harris (1998) ได้สรุปสาระไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
                                1. ความสามารถ (An Ability) คือความสามารถในการจินตนาการ หรือประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ เป็นความสามารถที่จะทำให้เกิดความคิดใหม่ด้วยการรวม เปลี่ยนแปลง หรือปรับมาใช้จากความคิดที่มีอยู่ทุกคนมีความสามารถในการสร้างสรรค์
                                2. ทัศนคติ (An Attitude) การสร้างสรรค์เป็นทัศนคติ ความสามารถ ในการที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ ความเต็มใจที่จะเล่นกับความคิดและความเป็นไปได้ ความยืดหยุ่นในการมอง มีนิสัยที่จะสนุกกับสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันก็หาแนวทางในการปรับปรุง
                                3.  กระบวนการ (A Process) คนที่สร้างสรรค์จะทำงานหนัก จะปรับปรุงความคิดและวิธีแก้ปัญหาอยู่ตลอด โดยการที่จะค่อยๆ ยกเลิกหรือปรับงานของตน
                                      คนสร้างสรรค์ (Creative Person) จะรู้ว่ามีโอกาสที่จะปรับปรุงงานได้ตลอดเวลา
                                      Feldhusen และ Goh (1995) ได้ให้ความหมายของการสร้างสรรค์จากจุดเน้นของนักวิจัยและบุคคลทั้งหลายที่สนใจในกระบวนการพัฒนา โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ บุคคล (person) ผลผลิต (product) กระบวนการ (process) และสิ่งแวดล้อม (environment) ซึ่ง Tradiff  และ Sternberg (1998, cited in Fleith, 2000:22) ได้ให้คำจำกัดความองค์ประกอบทั้ง 4 ประเภทเอาไว้โดยมีจุดเน้น ดังนี้
                                      1.   บุคคล คนสร้างสรรค์พิจารณาได้จาก ลักษณะของการรับรู้ บุคลิกภาพ และคุณภาพทางอารมณ์ ตลอดจนประสบการณ์ที่ตนได้รับการพัฒนา
                                      2.   ผลผลิต ประเภทของผลผลิตที่สร้างสรรค์ ควรจะต้องใหม่ มีพลัง มีค่า หรือ มีประโยชน์ต่อสังคม
                                      3.   กระบวนการ กระบวนการสร้างสรรค์ที่นำไปสู่วิถีทางที่เป็นต้นกำเนิดในการผลิตความคิดที่ไม่ธรรมดา ทำให้มีส่วนประกอบที่แตกต่างหรือเสริมความคิดใหม่ต่อจากความรู้ที่มีอยู่ รวมถึงการพัฒนาผลผลิตที่สร้างสรรค์
                                      4.   สิ่งแวดล้อม บทบาทของสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมหรือขัดขวางสมรรถภาพ ในการสร้างสรรค์
                                             Klenz (1987) ได้กล่าวถึง ความคิดสร้างสรรค์ว่า เมื่อพิจารณาแล้วเป็นการเกี่ยวข้องกับ การสร้างสรรค์ หรือการก่อให้เกิดความคิด กระบวนการ ประสบการณ์หรือสิ่งต่างๆ

มุมมองเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์
              
Amabile (1989 : 25) กล่าวว่า อะไรก็ตามที่เด็กทำหรือพูดสามารถพิจารณาได้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ ถ้าอยู่ในเกณฑ์การพิจารณาดังนี้
              1.   แตกต่างไปจากสิ่งอื่นๆที่เด็กได้เคยทำมาก่อน ได้เคยพบเห็น หรือได้ยินมาก่อน คือ มีความคิดใหม่ (novelty)
              2.   นอกจากมีความแตกต่างแล้ว จะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ น่าสนใจ และมีความหมายต่อเด็กไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คือ มีความเหมาะสม (appropriateness)
                    หลักเกณฑ์ความใหม่ งานของเด็กจะต้องใหม่ในแง่มุมใดมุมหนึ่ง การที่จะตรวจสอบให้รู้ว่ามีความใหม่หรือไม่ สิ่งที่จะต้องทราบเกี่ยวกับเด็กคือ ความรู้เดิม และประสบการณ์เดิมของเด็ก
                    หลักเกณฑ์ความเหมาะสม  บางครั้งก็จะพิจารณาได้ลำบาก เพราะบางครั้งสิ่งที่ทำบรรลุเป้าหมายของเด็ก แต่ไม่เหมาะสมในแง่จริยธรรม เช่น เด็กที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์  อย่างดี แต่นำความรู้ที่มีไปสร้างโปรแกรมผิดกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงเกรด
                    ดังนั้น  สิ่งใหม่ที่มีความหมายและตรงตามความมุ่งหมายของเด็ก ควรจะพิจารณาในแง่ของความคิดในทางบวก
                    แนวคิดของ Amabile ในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ในแง่ของกระบวนการ คือ  เป็นกระบวนการที่ได้บางสิ่งบางอย่างมาเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ ได้วิถีทางใหม่ในการทำสิ่งต่างๆ ได้วิถีทางในการคิดใหม่ วิถีทางทำใหม่
                    จุดสำคัญ คือ ควรสอนเด็กไม่เฉพาะทักษะที่เด็กต้องการ เพื่อจะได้มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ควรจะปลูกฝังค่านิยมที่จะให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์ในทางที่ถูกต้อง
                    Earp (1974: 178-179) ได้กล่าวถึงความหมายของความคิดสร้างสรรค์ว่าโดยทั่วๆ ไป จะมีการให้คำจำกัดความของความคิดสร้างสรรค์ทั้งในแง่ของกระบวนการ (process)  และผลผลิต (product) กลุ่มผู้ที่คิดในแง่ของกระบวนการจะพุ่งความสนใจไปที่ วิธีการกระทำ (manner) และการทำงาน (working) ซึ่งเป็นการปฏิบัติการทางสติปัญญา ที่ผู้มีความคิดสร้างสรรค์แต่ละคนปะทะกับปัญหา แล้วใช้กระบวนการเฉพาะหรือลำดับขั้นตอน เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ  ผลผลิตหรือแนวคิดซึ่งจะมีเข้ามาด้วยผลของความคิดสร้างสรรค์ สำหรับกลุ่มในแง่ของผลผลิตคือ  ผลผลิตที่ได้รับออกมามีลักษณะเฉพาะ (unique) คือ เป็นสิ่งที่คิดมาใหม่ เป็นต้นคิด (original) ในแง่ใดแง่หนึ่ง
                    ความคิดสร้างสรรค์เป็นทิศทางความคิดของแต่ละบุคคล ซึ่งแตกต่างไปจากปกติธรรมดาทั่วไป หรือแตกต่างไปจากคำตอบและการตอบสนองที่คาดหวัง ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์  คือ ความคิดซึ่งเป็นวิถีทางของแต่ละคนคิด เป็นกระบวนการ และออกมาเป็นผลผลิต จากผลของ  การคิดของเขา
                    Fryer and Collings (1991: 75 – 78) ศึกษาความคิดเห็นของครูประเทศอังกฤษเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ครูที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 1,028 คน จาก 57 โรงเรียน/วิทยาลัย ในเขตภูมิศาสตร์ต่างๆ ของอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ กลุ่มตัวอย่างมีอาวุโสที่แตกต่างกัน เป็นครูสอนนักเรียนในระดับต่างๆ อายุตั้งแต่ 5 – 18 ปี และสอนในวิชาต่างๆกันของโรงเรียน ครูได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับคำจำกัดความของความคิดสร้างสรรค์ว่า มีความหมายเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ดังนี้

ความหมาย %
จินตนาการ (imagination) 88.7
การเป็นต้นคิด (original idea) 80.1
การแสดงออกของตนเอง (self – expression) 73.7
การค้นพบ (discovery) 65.4
การมองเห็นความต่อเนื่อง (seeing connections) 65.4
การประดิษฐ์คิดค้น (invention) 61.4
การเปลี่ยนแปลงใหม่ (innovation) 59.3
การคิดอเนกนัย (divergent thinking) 53.8
กระบวนการคิดที่หลากหลาย (various thinking process) 51.9
การตระหนักถึงความสวยงาม (awareness of beauty) 49.7
การรวมความคิด (combining ideas) 49.5
แรงดลใจ (inspiration) 46.6
ผลิตผลทางสุนทรียศาสตร์ (aesthetic products) 33.6
ความคิดที่มีคุณค่า (valuable ideas) 32.8
กิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว (unconscious activities) 18.1
ความคิดเอกนัย (convergent thinking) 10.2
กระบวนการที่ลึกลับ (mysterious processes) 9.8
ผลผลิตที่แน่ชัดเป็นตัวเป็นตน (tangible product) 9.5
แง่คิดอื่นๆ 5.0


ลักษณะของเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์
              
เด็กทุกคนที่เกิดมามีความสามารถทางความคิดสร้างสรรค์ (ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา, 2537 : 103 ) แต่ความคิดสร้างสรรค์ที่มีนั้นจะปรากฏออกมาให้เห็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้อง  จะจัดบรรยากาศสนับสนุนให้เด็กได้ใช้ความพยายามทางสร้างสรรค์ของเด็กออกมานักจิตวิทยา Rogers (อ้างถึงใน Fisher,1992 : 35) ได้กล่าวว่า มนุษย์ต้องการความปลอดภัยทางจิตและอิสรภาพทางจิต  ถ้าเขาจะต้องทำอะไรอย่างสร้างสรรค์ การที่เด็กรู้สึกปลอดภัยทางใจ จะมีกระบวนการที่เกี่ยวข้อง 3 อย่าง คือ
              1. ยอมรับเด็กแต่ละคน ไม่ว่าจะมีการเสนออะไรออกมา
              2. หลีกเลี่ยงการประเมินภายนอกและกระตุ้นให้มีการประเมินตนเอง
              3. พยายามมองโลกในแง่มุมของเด็ก เข้าใจและยอมรับเขา
              ความอบอุ่น การได้รับการยอมรับทางบวก ความรู้สึกมั่นคง และการมีจิตที่อิสระของเด็กจะช่วยให้เขาคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ออกมา
              Fisher (1992 : 36) ได้กล่าวถึง ลักษณะของเด็กที่อยู่ในกรอบ (safeguarding self) กับลักษณะของเด็กที่ใฝ่รู้ใฝ่ทดลอง ที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ (experimental self) ไว้ดังนี้

อยู่ในกรอบ  ชอบทดลอง
1)   หวาดระแวงกับสิ่งใหม่ 1)   เปิดตนเองในการแสวงหาประสบการณ์
2)   ระมัดระวัง 2)   อยากรู้อยากเห็น
3)   ยึดติดกับสิ่งที่รู้สิ่งที่เคยทำ 3)   คาดคะเน เสี่ยงเดา
4)   จะทำตามกฎระเบียบ 4)   หยั่งรู้ (intuitive)
5)   ทำตามประเพณีนิยม 5)   ไม่ยึดติดกับประเพณีนิยม
6)   ขึ้นอยู่กับคนอื่น 6)   แสดงความเป็นอิสระ
7)   ลงโทษกล่าวโทษสิ่งที่ผิด 7)   ไม่คิดมากกับการทำผิด
8)   หลีกเลี่ยงการเสี่ยง 8)   กล้าเสี่ยง
9)   ตื่นตัวต่อเหตุการณ์ที่จะเป็นอันตราย 9)   แสวงหารูปแบบใหม่
10)  หลีกเลี่ยงการทำผิด 10)  แก้ไขข้อผิดพลาดด้วยความหวัง
11)  กลัวสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา 11)  ชอบเล่
12)  เคร่งเครียด 12)  มองสิ่งต่างๆ อย่างรู้สึกสนุก
13)  หลีกเลี่ยงการทำอะไรที่ทำให้ประหลาดใจ 13)  ชอบสิ่งที่ทำให้ประหลาดใจ


              
เด็กที่มีลักษณะต่างๆ ในกลุ่มชอบทดลอง เด็กเหล่านี้จะสามารถที่จะผลิตผลงานสร้างสรรค์ออกมาได้ และในสิ่งเหล่านี้จะปรากฏเห็นชัดถ้าได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในการสร้างบรรยากาศที่สนับสนุน การทำตนให้สนับสนุนด้วย
              Torrance (1967 อ้างถึงใน Lowenfeld and Britain, 1975 : 66) ได้เขียนพฤติกรรมเฉพาะอย่างที่เขาคิดว่าเป็นตัวชี้ว่าเด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งรายการเหล่านี้ได้มาจากครู และนักแนะแนว 87 คน เช่น นักเรียนจะใช้เวลาของเขาให้หมดไปโดยไม่ต้องคอยให้กระตุ้นจะทำงานเกินกว่าที่กำหนดให้ทำ จะถามคำถามหลายรูปแบบมากกว่าการถามไปในแนวเดียวกันว่า “ทำไม” หรือ “อย่างไร” คิดหาวิธีการได้หลากหลายในการทำสิ่งต่างๆ ไม่มีความกลัวในการที่จะทำสิ่งใหม่ๆ จะสนใจและสนุกในการที่จะลากเส้นและวาดภาพ ในขณะที่ครูกำลังบรรยายหรือให้คำแนะนำอะไรอยู่ เป็นคนช่างสังเกต ไม่รังเกียจผลที่ตามมา ถ้าสิ่งที่เขาทำไปแตกต่างจากคนอื่น และสนใจในการทดลองกับสิ่งต่างๆ ที่คุ้นเคยมากกว่าจะปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปเช่นนั้น
              Davis and Rimm (1994 : 187-188) สรุปลักษณะของนักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เป็นตัวของตัวเอง ชอบที่จะทำอะไรที่เสี่ยง มีพลัง กระตือรือร้น  ขี้เล่น มีอารมณ์ขัน ยึดอุดมคติ มีปฏิกริยาโต้ตอบ มีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่มีศิลปะ และสนใจเกี่ยวกับความงาม สนใจในสิ่งที่ซับซ้อนและลึกลับ ต้องการเวลาที่เป็นส่วนตัวและอยู่ตามลำพัง มีแนวโน้ม ที่จะเป็นคนรับรู้ได้มากและหยั่งรู้ ที่สำคัญคือ เต็มใจที่จะอดทนต่อสิ่งที่คลุมเครือที่จะมาพร้อมกับ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ บางลักษณะอาจจะทำความลำบากใจให้แก่ครู โดยเฉพาะลักษณะของการเป็นตัวของตัวเอง และการที่มีพลังงานมาก ผนวกกับไม่ค่อยจะอยู่ในระเบียบและข้อกำหนดตามกรอบประเพณีต่างๆ อาจจะนำไปสู่ความดื้อรัน การต่อต้านครูและผู้ปกครอง การไม่ให้ความร่วมมือ มีความเห็นแตกต่างในการที่จะยอมรับระเบียบแบบแผน มีแนวโน้มที่จะซักถามเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ ข้อตกลง และอำนาจต่างๆ มีความสนใจในการทำสิ่งต่างๆ มาก ไม่ค่อยจะสื่อสาร
              Earp (1974 : 182-183) กล่าวถึงลักษณะของเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงไว้ดังนี้
                    1.   มีความคิดอเนกนัย เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ หลายทิศทาง แต่การตอบสนองนั้นจะต้องมีเหตุผลและมีความสัมพันธ์กับความคิดที่ได้ทำการตอบสนองออกมา
                    2.   มีแง่คิดที่มีอารมณ์ขันในสภาพการณ์ต่างๆ การตอบสนองจากเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่เพียงแต่เป็นความคิดอเนกนัยเท่านั้น แต่บ่อยครั้งจะสะท้อนให้เห็นถึงการมีอารมณ์ขัน โดยได้อ้างถึงผลการศึกษาของ Getzels and Jackson ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ได้ทดสอบ ไม่เพียงแต่ได้ใช้ความคิดอเนกนัยต่องานของเขา แต่งานของเขาที่ตอบสนองออกมายังมีลักษณะของความมีอารมณ์ขัน แต่มีเหตุผล
                    3.   แตกต่างไปจากบุคคลอื่น อ้างถึงคำกล่าวของ Taylor ที่ว่า ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว ในหลายสภาพการณ์ที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
                    4.   กล้าทำในสิ่งที่ต่างออกไป การศึกษาต่างๆ ได้ชี้ให้เห็นว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเต็มใจ กล้าทำอะไรที่แตกต่างไปจากคนในยุคในเวลาเดียวกัน
                    5.   มองปัญหาได้ลึกซึ้งกว่า เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเข้าใจ มองเห็น ความไม่สัมพันธ์กันหรือความขัดแย้งกันระหว่างปัญหาและคำตอบ ในการแก้ปัญหาเด็กจะแสดงความสามารถพิเศษและความต่อเนื่องในการแสวงหาคำตอบ เขาพร้อมที่จะละทิ้งงานอื่นมาทำงานที่ตนเองสนใจและไม่กลัวคำขู่
                    6.   ไม่กังวลกับผลกระทบ เมื่อเกิดความสนใจในการแสวงหาความคิดริเริ่มใหม่ๆ จะมีความกระตือรือร้นมาก จนไม่เกิดความรู้สึกอะไรกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
              นอกจากนี้  ยังได้กล่าวถึงผลงานของ Torrance ที่ระบุว่า เด็กในวัยอนุบาลมีแนวโน้มที่จะมีประสบการณ์ในการปฏิบัติการทางด้านความคิดสร้างสรรค์บ้างเล็กน้อย โดยทั่วไปความคิดสร้างสรรค์จะเพิ่มขึ้นในระดับประถมศึกษา และมีการลดลงในระดับชั้น ป.3 หรือ ป. 4 ติดตามด้วยความเจริญเติบโตของความคิดสร้างสรรค์อีกในชั้น ป. 5 และ ป. 6 ลดลงอีกครั้งใน ชั้น ป. 7 แล้วก็เพิ่มขึ้นอีก
              กรณีดังกล่าว การลดลงของความคิดสร้างสรรค์เป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะขาดความต่อเนื่องในการพัฒนา
              สำหรับความมีอารมณ์ขัน ที่ได้รับการระบุว่า เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ Dimmer (1993) ได้ศึกษาผลกระทบของอารมณ์ขันต่อความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาของแต่ละคน ผลพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มเด็กที่มีอารมณ์ขันและไม่มีอารมณ์ขัน ในแบบวัดทั้งหมดจึงเสนอว่า อารมณ์ขันไม่ได้ช่วยปรับปรุงความคิดแบบอเนกนัย

การจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
              Torrance (1981,cited in Fasko, Jr., 2000-2001 : 319) กล่าวถึง เป้าหมายของการสอนอย่างสร้างสรรค์ คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบผ่านครูที่มีความกระตือรือร้นอย่างสูงมีความซาบซึ้งต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล ในเรื่องเดียวกันนี้ Feldhusen และ Traffinger (1980) และ Davis (1991) ก็เชื่อในการสร้าง “บรรยากาศที่สร้างสรรค์” (creative climate) จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และได้นำเสนอแนวทางการสร้างบรรยากาศให้นักเรียนที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ไว้ดังนี้
              1.   สนับสนุนและเสริมแรงความคิดที่ไม่ปกติ
              2.   ใช้ความล้มเหลวเป็นตัวช่วยให้นักเรียนตระหนักถึงข้อผิดพลาดและช่วยสนับสนุนให้ทำได้ตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ
              3.   ปรับเปลี่ยนความสนใจและความคิดของนักเรียนในห้องเรียนเท่าที่จะทำได้
              4.   ให้เวลานักเรียนในการที่จะคิดและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเขา ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด
              5.   สร้างบรรยากาศของการเคารพและการยอมรับซึ่งกันและกัน ระหว่างนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับครู เพื่อที่เด็กจะได้แลกเปลี่ยนความคิด พัฒนาและเรียนรวมกัน รวมทั้ง มีอิสระในการทำอะไร
              6.   ตระหนักถึงความคิดสร้างสรรค์ในส่วนอื่นนอกเหนือจากการทำศิลปะและ งานประดิษฐ์ การพูด การเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ฯลฯ ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในทุกวิชา
              7.   ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาก ทำตัวเป็นแหล่งวิทยาการ
              8.   รับฟังและหัวเราะร่วมไปกับนักเรียน บรรยากาศที่อบอุ่นจะช่วยให้มีอิสระและความมั่นคงในการสำรวจความคิด
              9.   ให้นักเรียนได้มีโอกาสเลือก มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีส่วนในการดูแลประสบการณ์การเรียนรู้และการศึกษาของตนเอง
              10.  ให้ทุกคนมีส่วนร่วม และแสดงให้เห็นว่าการร่วมมือกันเป็นสิ่งที่มีคุณค่า โดยสนับสนุนความคิดเห็นของเด็กและการตัดสินใจในการแก้ปัญหาและทำโครงการต่างๆ
              Klenz (1987 : 4) ได้นำเสนอถึงการจัดบรรยากาศที่ดูว่าเหมาะสมที่สุด คือ ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางจิต และอิสระทางปัญญาภายใต้โครงสร้างที่แต่ละคนให้ความเคารพซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังได้นำเสนอเกี่ยวกับหลักการในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ บทบาทของครูในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ไว้อย่างน่าสนใจ สรุปได้ดังนี้

หลักการในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
              
1.   จุดสำคัญจะต้องเริ่มต้นด้วยการมีประชาธิปไตย ที่จะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ ความเป็นอิสระ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
              2.   พิจารณาวิธีสอน และวิถีทางในการเรียนที่มีความต่อเนื่องในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
              3.   สร้างความเข้าใจในความคิดรวบยอด ทักษะและกระบวนการของศาสตร์ต่างๆ วิธีการสร้างและประเมินความรู้ 

บทบาทของครูในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
              
1.   ครูในฐานะเป็นตัวแทน
                    
1.1   มีความรักในการเรียนรู้ ช่วยนักเรียนให้รู้จักตนเองและกระทำตามศักยภาพ สร้างบรรยากาศของห้องเรียนบนฐานของความเคารพต่อกัน
                    1.2   วิเคราะห์กระบวนการคิดของตน การปฏิบัติในห้องเรียนและให้เหตุผลในสิ่งที่ทำ
                    1.3   เปิดเผย กระตุ้นเด็กให้ติดตามความคิดของตนไม่ใช่เพียงแต่ทำตามครู
                    1.4   เต็มใจที่จะยอมรับความผิดพลาด
                    1.5   จัดโอกาสให้เด็กได้เลือกกิจกรรม และจัดมอบหมายงานโดยมีโอกาสเลือกอย่างเหมาะสม
                    1.6   แสดงความสนใจที่แท้จริง กระหายใคร่รู้และมุ่งมั่นในการเรียนรู้
                    1.7   ดำเนินการและตระเตรียมสิ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย
                    1.8   แสวงหาวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ เหมาะสมและมีจริยธรรม
                    1.9   ไวต่อความรู้สึกของบุคคลอื่น ระดับของความรู้ และระดับความซับซ้อน
                    1.10  จัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เป็นตัวกระตุ้นและช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการคิด
                    1.11  อนุญาตให้เด็กได้ร่วมในการตั้งกฎ และตัดสินใจเกี่ยวกับทุกแง่มุมของการเรียนรู้ รวมถึงการประเมิน
              2.   การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในรายวิชาที่สอน
              
       2.1   ใช้คำถามที่ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์โดยมีคำตอบได้หลายๆ ด้าน เช่น จะลงความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของกระทำ ได้อย่างไร และให้นักเรียนได้ใช้เหตุผลยืนยันคำตอบหรือความเชื่อของตน
                     2.2   ให้นักเรียนเล่นบทบาทสมมุติ หรือสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับคนที่มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน หรือ จัดกิจกรรมที่มีการโต้แย้ง ด้วยการนำนักเรียนมาอภิปราย/ถกเถียงกันด้วยมุมมองต่างๆ ของปัญหา โดยโต้ตอบกันด้วยหลักฐานและแหล่งอ้างอิงที่เป็นเหตุเป็นผล
                    2.3   ให้นักเรียนตื่นตัวในการสังเกตสื่อต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือเรียน ฟิล์ม และการสื่อสารอื่นๆ ว่าเกินความจริง/บิดเบือนความจริงตามความเข้าใจของนักเรียน และโดยใช้มาตรฐานเป็นเกณฑ์
                    2.4   ให้นักเรียนได้ใช้แหล่งวิทยาการ สอบถามผู้ทรงคุณวุฒิใช้เอกสารต่างๆ นอกจากหนังสือเรียนที่จะให้ข้อมูลและขยายการเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้นในแต่ละวิชา ไปร่วมประชุมกับชุมชน ดูรายการโทรทัศน์ อ่านบทความต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ ติดตามด้วยการวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของข้อโต้แย้งหรือเป้าหมายของตนภายใต้แง่มุมต่างๆ
                    2.5   ให้นักเรียนได้แก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลายและมีข้อมูลประกอบในการแก้ไข
                    2.6   สำรวจวิธีการที่นักเรียนใช้ในการพัฒนาความรู้ศาสตร์และสาขาต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน
                    2.7   ให้นักเรียนวิเคราะห์สิ่งของและสิ่งประดิษฐ์ ไม่ว่าจะทำด้วยคนหรือมีอยู่ตามธรรมชาติ โดยพิจารณาเกี่ยวกับ วัตถุประสงค์ โครงสร้าง รูปแบบ และเกณฑ์สำหรับการประเมิน
                    2.8   กระตุ้นให้เด็กได้ใช้การเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยในการบรรยาย เปรียบเทียบและพยายามเข้าใจความคิดรวบยอดใหม่ ความคิดเห็น หลักการ หรือทฤษฎี
                    2.9   ให้นักเรียนได้เสนอเกณฑ์ในการประเมินกิจกรรมของห้องเรียน งานที่ มอบหมายให้ และพฤติกรรม มีการนำผลงานของนักเรียนไปจัดนิทรรศการต่างๆ
                    2.10  เลือกสิ่งของจริง ให้ประสบการณ์จริงนอกเหนือจากแบบเรียน/แบบฝึกหัดในการพัฒนาความเข้าใจเท่าที่จะทำได้ และกระตุ้นให้เด็กรู้จักแสวงหาวิธีการและทางเลือกที่หลากหลายสำหรับงานต่างๆ ที่ทำ
              การปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ชั้นเล็กๆ เมื่อครูเองมีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการคิด ก่อนที่นักเรียนจะสามารถวิเคราะห์ข้อโต้แย้ง ต้องให้รู้ข้อสันนิษฐานที่มีอยู่คิดเห็นเป็นปรนัย มีสามัญสำนึกของตนเองและเห็นคุณค่าของคนอื่น ความรู้สึกเหล่านี้สร้างได้จากความเข้าใจความรู้สึกของคน และรู้ถึงผลกระทบจากพฤติกรรมของแต่ละคนที่มีต่อบุคคลรอบข้าง
              ครูอนุบาลเริ่มพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กได้ตั้งแต่วันแรกที่มาโรงเรียน ผ่านกิจกรรมที่ช่วยทางอารมณ์แก่เด็ก ขณะที่ช่วยให้ใช้ภาษาในการแสดงออกครูเด็กเล็กจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนนักเรียนให้แก้ปัญหาทางสังคมและข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่การบอกวิธีการแก้ปัญหาให้แก่เด็ก
              หลักสูตรการศึกษาทุกวิชา ในทุกระดับ สามารถจัดโอกาสให้เกิดความตื่นเต้นได้เท่าเทียมกัน  ครูสามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้ โดยให้ได้พบกับปัญหาที่หลากหลาย ปัญหา ที่แผ่ขยายออกไป ทำให้มีคำตอบหลากหลาย และไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัว ครูช่วยเด็กให้หา แหล่งความรู้และทรัพยากรภายนอกห้องเรียน เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ต้องพัฒนาแรงจูงใจ และทักษะสำหรับการเรียน บรรณารักษ์ช่วยพัฒนาทักษะในการค้นคว้า การเข้าไปอุปถัมภ์ชมรมต่างๆ เช่น ชมรมการแสดง ชมรมการเขียน ชมรมสิ่งประดิษฐ์ และกลุ่มความสนใจต่างๆ ที่เด็กริเริ่มคิดขึ้นมา ก็จะช่วยสนองความต้องการของเด็ก ในโปรแกรมของโรงเรียนปกติ กิจกรรมเหล่านี้อาจจะไม่มีการประเมินผล แต่เน้นไปในด้านการสร้างสรรค์งานให้เด็กทำงานร่วมกับชุมชน
              บรรยากาศที่สร้างสรรค์ จะช่วยทำให้เกิดการเปิดเผย เคารพต่อคำถามและความคิดที่ต่างไปจากปกติ ทำให้มีความเข้าใจว่า ความคิดทั้งหลายมีคุณค่าและควรมีโอกาสเรียนและกระทำโดยไม่ต้องเกิดความรู้สึกกลัวจากการประเมินผล
              สิ่งที่ครูควรระวัง ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนก็ คือ การทำลายความคิดสร้างสรรค์ด้วยความไม่ตั้งใจ Hennessey (1987) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์     ของเด็ก คือ การที่ครูให้เด็กทำงานโดยมีของรางวัลเป็นตัวล่อ จัดบรรยากาศในการเรียนการสอนขึ้นมาในสภาพของการแข่งขัน ให้เด็กมุ่งเน้นไปในการที่จะทำอะไรให้ดีตามเกณฑ์การประเมินผลที่กำหนดครูคอยติดตามระมัดระวังดูแลเด็กอยู่ตลอดเวลา และสร้างสถานการณ์ต่างๆ ให้แก่เด็กโดยไปจำกัดการเลือกของเด็กในการทำอะไรก็ตาม
              Eisner (1985 : 15) ได้สรุปหลักการในการจัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้มีประสิทธิผลไว้ 3 ประการ คือ
                    1.   การสร้างบรรยากาศของโรงเรียนและห้องเรียน นำไปสู่ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
                    2.   การพัฒนาหลักสูตร ที่จะช่วยครูให้ทำงานได้
                    3.   การให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ครู เกี่ยวกับการสอนของเขา เพื่อจะได้ทราบจุดอ่อนและ จุดแข็งของตัวเอง
              ทั้งสามประการนี้ เป็นสิ่งที่ครูทุกคนคงต้องนำมาพิจารณา ถ้ามุ่งหวังจริงจังที่จะช่วยกันเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก

สรุป
              ความคิดสร้างสรรค์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าของประชาคมโลก สิ่งต่างๆ ที่ทุกคนได้รับความสะดวก ความรวดเร็ว มีความคล่องตัวในการทำงานและดำเนินชีวิตประจำวันก็เนื่องมาจากความคิดสร้างสรรค์ของบุคคลต่างๆ ที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันสร้างบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ไม่ว่าจะในส่วนของสังคม ระดับนโยบายของชาติ สถาบัน บุคคลทุกอาชีพ พ่อ แม่ ผู้ปกครองและครู
              ระดับชาติควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงทั้งในสังคม บ้าน และโรงเรียนให้การสนับสนุนโครงกางต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของคนในชาติ มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในชาติรับรู้ เป็นนโยบาย  ที่นำต่อเนื่องไปเป็นปรัชญาและจุดมุ่งหมายในโรงเรียน โดยกำหนดชัดเจนเช่นกันว่า ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักเรียน เพื่อเป็นนโยบายของโรงเรียน ครูจะได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และหลักสูตรของห้องเรียนให้สอดคล้องกันทุกวิชา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ให้แก่ เด็กนักเรียน โดยครูเองต้องเข้าใจในปรัชญา และจุดมุ่งหมาย เชื่อในศักยภาพของเด็กว่าพัฒนาได้ ปฏิบัติตนให้เกื้อหนุนด้วยการสร้างค่านิยม ทักษะ ความรู้ และกระบวนการคิดสร้างสรรค์เข้าไป ในทุกวิชาที่สอน นอกจากนี้ครู คือ  คนสำคัญที่จะต้องทำงานกับผู้ปกครอง ช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจและซาบซึ้งในการทำงานทางความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนแล้วมาร่วมมือกับโรงเรียนและสังคม ในการที่จะช่วยพัฒนาเด็กให้เต็มตามศักยภาพของเขา โดยมีสังคม บ้าน โรงเรียนเป็นสามประสาน ที่จะอุปถัมภ์และรังสรรค์ความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก
              Guilford (1967 a : 13) ได้ให้แง่คิดไว้ว่า  “ความคิดสร้างสรรค์ คือ กุญแจดอกสำคัญของการศึกษา เพื่อที่จะไขไปสู่ความรู้สึกและการแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษยชาติ ”

รายการอ้างอิง
ภาษาไทย
              ประสาร  มาลากุล ณ อยุธยา (2537). ”ความคิดสร้างสรรค์ : พรสวรรค์ที่พัฒนาได้” ปรีตยาภิวันทน์. กรุงเทพมหานคร : บริษัทบพิธการพิมพ์ จำกัด ,หน้า 91-149.
              สมศักดิ์  ภู่วิภาดาวรรธน์ (2537). เทคนิคการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์. กรุงเทพมหานคร :  ไทยวัฒนาพานิช . 

ภาษาอังกฤษ
              Amabile,T.M.(1989) Grow up creative , New York : Crown Publishers,Inc.,
              Davis, G.A and Rimm, S.B. (1994) Education of the gifted and talented, Boston :  Allyn and Bacon.
              Davis, G.A.  (1991 ) “ Teaching creative thinking ”, Handbook of Gifted Education,  Boston: Allyn and Bacon, 236 – 244.
              Dimmer, S.A.  ( 1993 ) The Effect of humor on creative thinking and personal solving in college students, Doctoral Dissertation Central Michigan University, U.S.A.
              Earp, N.W.  ( 1974 ) “ Chapter VII Creativity as it related to educational practices,”  Improving Instruction of the Experienced Teacher, R.E. Bradley (ed.), Texas: University Press, 174 – 205.
              Eisner, E.W.  (1985) “Creative education in American schools today,” Educational  Horizons, 63 Special Issues, 10 – 15.
              Fasko, D., Jr., ( 2000 – 2001 ) “ Education and creativity,” Creative Research Journal 13 ( 3 & 4 ), 317 – 327.
              Feldhusen, J.F.  and Goh, B.E.  (1995) “Assessing and accessing creativity: an integretive review of theory, research, and development,” Creativity Research Journal, 8 (3), 231 – 247.
              Feldhusen, J.F., and Treffinger, D.J. (1980) Creative thinking and problem solving in gifted education, Dubuque: IA: Kendall / hunt.
              Fisher, R.  (1992), Teaching children to think, Herts, HP27EZ: Simon and Schuster Education.
              Fleith, D. de. S., (2000) “Teacher and student perceptions of creativity in the classroom environment, ”  Roeper Review, 22( 3 ), 148 – 152.
              Guilford, J.P. (1967a) “Creativity : Yesterday, today and tomorrow,” Journal of Creative Behavior, 1,3 – 14.
              Harris, R. (1998) Introduction to creative thinking, http://www.virtualsalt.com/ crebook1.htm.
              Henessey, B.A.  and Amabile, T.M. ( 1987 ) Creativity  and  learning: What  research says to the teacher, Washington, D.C. : National Education Association.
              Klenz, S. (1987), Chapter IV: Critical and creative thinking, http:// www.sasked.gov.sk.ca/doos/policy/cels/el 4 html.
              Lowenfeld, V. and Britain, W.L. (1975), “3. the  Development of creativity,” Creative and Mental Growth, New York: Macmillan. Co. , 59 – 83.
              Torrance, E.P. (1980) “Lesson about giftedness and creativity from a nation of 115  million overachieves,” Gifted Child Quarterly, 24, 10 – 14.

(บทความที่ 1 ชุดที่ 3)