ลูก…ที่เกิดจากความรักระหว่างคนที่ถูกเรียกว่า “แม่” กับ “พ่อ” ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าใครจะเป็นคนดูแลเลี้ยงดูถ้าไม่ใช่ แม่และพ่อผู้ให้กำเนิด แต่ด้วยปัจจัยความพร้อมต่าง ๆ ทำให้เมื่อเด็กคนนึงเกิดมาจะมีทั้ง ปู่-ย่า ตา-ยาย หรือญาติ ๆ รวมไปถึงคนอื่น ๆ ทั้งลูกจ้าง คนรับใช้ จนไปถึงพี่เลี้ยงเด็ก ทุกคนจะเข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการเลี้ยงดูเด็ก ๆ แต่ก็มีไม่น้อยที่บทบาทส่วนใหญ่ถูกโยนให้คนเป็น “แม่” แต่เพียงผู้เดียว โดยมีข้ออ้างมากมายที่คนเป็นพ่อจะบ่ายเบี่ยง ใช้เป็นข้ออ้าง หรือถูกห้ามไม่ให้เข้ามาเลี้ยงหรือดูแลลูก ไม่ว่าจะเป็น การต้องทำงานนอกบ้าน ความไม่ถนัด ดูขัดขัด เกรงเกรง เดี่ยวทำลูกหล่น เป็นผู้ชายมือหนัก สารพัดคำกล่าวที่คนเป็นพ่อจะถูกกีดกันออกไปในการทำหน้าที่เลี้ยงดูลูก แต่ก็มีพ่อจำนวนไม่น้อยที่ขันอาสาในการเลี้ยงดูเป็นหลักโดยมีคำแนะนำจากคนรอบข้าง เช่น คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือคุณพ่อที่ทำหน้าที่เลี้ยงลูกเป็นหลัก และคุณแม่ทำงานนอกบ้าน แต่ไม่ว่าจะคุณแม่เลี้ยงเป็นหลัก หรือคุณพ่อเลี้ยงเป็นหลัก สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก คือการที่พ่อแม่ช่วยกันเลี้ยง ช่วยกันดูแลลูก เพื่อให้ลูกได้รับความรัก ความอบอุ่นจากทั้งพ่อและแม่
เมื่อเด็กอยู่ในช่วงวัยที่ใช้การเล่นเพื่อสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ความคิด จินตนาการ พัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ทั้งการฟังนิทาน เล่นสี เล่นทราย วิ่ง กระโดด เล่นลูกบอล และการออกกำลังกายในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยสรีระและพละกำลังของพ่อน่าจะต่อกรกับพลังของเด็กในช่วงวัยที่กำลังโตที่มีพลังแบบไม่มีวันหมดได้เป็นอย่างดี และยิ่งไปกว่านั้นเสียงที่ทุ้มต่ำ ในโทนของพ่ออาจทำให้ลูกติดใจและชอบให้พ่อเล่านิทานมากกว่าแม่เล่าด้วยซ้ำไป และยิ่งพ่อทำเสียงทุ้ม ๆ ต่ำ ๆ สลับกับการดัดเสียงเล็กแหลม ๆ ก็เป็นการสร้างบรรยากาศในการเล่านิทานให้ลูกเพลิดเพลิน และเรียกร้องให้พ่อเล่าให้ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เป็นได้
นอกจากนี้ การเล่นของพ่อกับลูกที่พบเห็นได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็น การเป่าพุง จั๊กจี๋ อุ้มบิน ขี่ม้า สไลเดอร์ที่ขา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่เสียเงินสักบาทแค่แลกมาด้วยการออกแรงมากมายของพ่อ แต่น่าจะคุ้มกับความสุขและความสนุกของพ่อกับลูก นอกจากการเล่นที่ต้องใช้ร่างกายของพ่อแล้ว การเล่นของเล่นที่หลายบ้าน หลายครอบครัว เด็กหลาย ๆ คนเคยผ่านเคยเล่น “ของเล่นที่ไร้ราคาแต่มากด้วยคุณค่าทางจิตใจ” ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้าน และสร้างจิตนาการให้กว้างไกล คงหนีไม่พ้นสิ่งของเหลือใช้ที่จะถูกหยิบจับมาเป็นของเล่นให้กับลูกน้อย ทั้งรถกล่องไม่ขีด รถไฟกล่องยาสีฟัน จรวดขวดน้ำ ไปจนถึงบ้านกล่องกระดาษ ล้วนเป็นของเล่นที่ต้องอาศัยจินตนาการ ความร่วมแรงร่วมใจในการสร้างและประดิษฐ์ และยังต้องใช้จินตนาการในการเล่นร่วมกันระหว่างพ่อกับลูกอีกด้วย
การสร้างหรือประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ภายในบ้านที่พ่อกับลูกสามารถร่วมมือกันสร้าง ร่วมกันจับ ตัด ต่อ แปะ สิ่งเหล่านี้เป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการของทั้งพ่อและลูก ในระหว่างการทำกิจกรรม การพูดคุย การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การหยิบจับอุปกรณ์ หรือแม้แต่การรอคอยผลงานที่จะสำเร็จ เมื่อสังเกตที่แววตาของลูกจะพบว่าพวกเขากำลังมองสิ่งเหล่านั้นอย่างใจจดใจจ่อ และเกิดความความภูมิใจในตัวพ่อของเขา และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้เสร็จ จินตนาการขั้นต่อไปคือการเล่น การเล่นบทบามสมมติ การทำตามคำสั่งลูก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นคือการเรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาการของลูกรัก ส่งเสริมความรักในครอบครัว ให้เป็นครอบครัวที่มีความสุข จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า “ไม่ใช่แม่เท่านั้นที่มีบทบาทในการเลี้ยงดูลูก แต่คนเป็นพ่อก็มีบทบาทในการดูแลลูกเช่นเดียวกัน…”
ดร.ณัฐพล แย้มฉิม
ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต