เรียบเรียงโดย รศ.ดร.จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ และนางสาวพัชรัตน์ ลออปักษา
                                                               (ตุลาคม 2561)

บทความฉบับนี้เป็นการเรียบเรียงข้อมูลในส่วนที่จะให้ข้อคิดเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติของผู้ปกครองในช่วงรอยเชื่อมต่อจากระดับชั้นอนุบาลไปสู่ระดับชั้นประถมศึกษา จากงานวิจัย เรื่อง บทบาทของผู้ปกครองในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลสู่โรงเรียนประถมศึกษา ของ พัชรัตน์ ลออปักษา (2561) ที่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่า

รอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมศึกษา หมายถึง ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากโรงเรียนอนุบาลสู่โรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งมีการจัดการเรียนรู้และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันตามระบบการศึกษา ทำให้เด็กต้องปรับตัวกับการเรียน และสภาพแวดล้อมใหม่

รอยเชื่อมต่อทางการศึกษาในทุกช่วง เป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็ก เพราะเด็กจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะจากบ้านไปสถานที่ต่างๆ หรือจากบ้านไปสู่สถานรับเลี้ยงเด็ก จากโรงเรียนอนุบาลไปสู่โรงเรียนประถมศึกษา พ่อแม่เป็นบุคคลกลุ่มแรกที่จะต้องเข้าใจและเตรียมพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้วยการช่วยเหลือ ดูแลและประคับประคองให้เด็กผ่านช่วงเวลาสำคัญนี้ไปให้ได้ เด็กจะพบกับบุคคลที่ไม่รู้จัก สถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ต้องไปอยู่ร่วมกับเด็กอื่นที่มาจากหลากหลายบริบท ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครองเองก็จะพบกับสิ่งใหม่เช่นเดียวกันกับเด็ก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กคงจะต้องสอดคล้องประสานกัน เพื่อช่วยนำความสุข และความสำเร็จไปสู่เด็ก

แนวทางปฏิบัติของผู้ปกครองในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลสู่โรงเรียนประถมศึกษา

พัชรัตน์ ลออปักษา (2561 : 42 – 67) ได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติของผู้ปกครองจากเอกสารทางวิชาการต่างๆ นำเสนอไว้ในงานวิจัยดังนี้

  1. Peters (2010) ได้สรุปแนวทางสำหรับผู้ปกครองในการสนับสนุนรอยเชื่อมต่อประกอบด้วย
    (1) การให้การศึกษาที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (2) การสนับสนุนการสร้างมิตรภาพให้กับเด็ก
    (3) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ปกครองและผู้ดูแล (4) การให้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่พรั่งพร้อม
    แก่เด็ก เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ มีความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง มีความสามารถทางภาษา
    ความรู้ทั่วไป และมีทักษะทางสังคมอารมณ์ที่ดี (5) การหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนก่อนจะเปิดเรียน ด้วยการสอบถามหาข้อมูลของโรงเรียน และการพาเด็กไปเยี่ยมชมโรงเรียนเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับสถานที่
    และบุคคลในโรงเรียน (6) การมีส่วนร่วมกับโรงเรียน (7) การมีมุมมองหรือความคาดหวังเกี่ยวกับการปรับตัวเข้าเรียนของเด็ก (8) การตรวจสุขภาพให้กับเด็กเพื่อมั่นใจว่าเด็กไม่มีปัญหาสุขภาพที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้
    (9) การปรับกิจวัตรประจำวันให้สอดคล้องกับการเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา และ (10) การปกป้องและให้ความช่วยเหลือเด็ก
  2. Commonwealth of Australia (2013) ได้นำเสนอ แนวปฏิบัติสำหรับผู้ปกครองในการส่งเสริมการปรับตัวของเด็กในช่วงรอยเชื่อมต่อสู่โรงเรียนประถมศึกษา ดังนี้
  3. การพัฒนาทักษะในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเด็ก

1.1 ด้านทักษะอารมณ์และสังคม

1.1.1 การสอนทักษะมิตรภาพ
การสอนวิธีการแนะนำตัวกับเพื่อนใหม่ให้กับเด็ก การเล่นร่วมกับผู้อื่น ด้วยความเป็นมิตรและร่วมมือกัน การคุยกับเด็กเกี่ยวกับการเป็นเพื่อนที่ดี เช่น การแบ่งปัน การผลัดกันเล่น ใช้คำพูดที่เป็นมิตร

1.1.2 การส่งเสริมการแบ่งปัน และการผลัดกันเล่น
การเล่นกับเด็ก ทำตามสิ่งที่เด็กนำ และสนุกไปด้วยกัน จะช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็ก การเล่นเกมร่วมกับเด็กจะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะการแบ่งปัน และการผลัดกันเล่น ซึ่งช่วยให้เด็กรับมือกับความผิดหวังเมื่อเขาไม่ได้เป็นผู้ชนะในการเล่นเกมตลอดเวลา

1.1.3 การชักชวนให้เด็กเล่นร่วมกับผู้อื่น
การจัดให้เด็กได้อยู่ร่วมกับเด็กคนอื่น การให้คำแนะนำที่ดีและการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กขณะเล่นร่วมกับเพื่อนจะช่วยสนับสนุนให้เด็กสร้างมิตรภาพและฝึกทักษะทางสังคม เช่น การใช้บล็อกสร้างตึกร่วมกัน

1.1.4 การให้เด็กมีส่วนร่วมในการสนทนา
การพูดคุยกับเด็กและสนับสนุนให้เด็กสื่อสาร ช่วยให้เด็กเรียนรู้กฎของการสื่อสารเช่น การรอให้ถึงลำดับของตน การแสดงความคิดเห็น และการฟังโดยไม่ขัดจังหวะ

1.1.5 การช่วยเหลือเด็กในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง
ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กในเรื่อง ความสามารถในการรับรู้ และการแสดงอารมณ์ ความเข้าใจ และการจัดการกับความรู้สึกที่หลากหลายด้วยการให้เวลาให้ความอบอุ่น และตอบสนองความต้องการของเด็ก การพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและช่วยให้เด็กอธิบายและบอกอารมณ์ที่เด็กรู้สึก

1.1.6 การทำความรู้จักกับครอบครัวอื่นในโรงเรียน
การจัดให้เด็กได้พบครอบครัวอื่นๆในโรงเรียนก่อนจะเริ่มเข้าโรงเรียน จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ และความรู้สึกเชื่อมโยงกับชุมชนโรงเรียนได้

1.2. ด้านทักษะการพึ่งพาตนเอง

1.2.1 การส่งเสริมให้มีทักษะในการช่วยเหลือตนเอง
การส่งเสริมให้เด็กพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตนเอง ได้แก่ การแต่งตัว และการถอดเสื้อผ้า การรับประทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ และการขอความช่วยเหลือ จะช่วยพัฒนาความเชื่อมั่นในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองของเด็ก

1.2.2 การส่งเสริมทักษะความรับผิดชอบ
การส่งเสริมให้เด็กรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายเล็กๆน้อยๆ เช่น การจัดโต๊ะอาหารเย็น การใส่เสื้อผ้าลงในตะกร้าซักผ้า จะช่วยให้เด็กมองเห็นคุณค่าในตนเอง และ สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง

1.2.3 การสอนให้เด็กดูแลของใช้ส่วนตัว
การส่งเสริมให้เด็กดูแลและรักษาของใช้ของตน เช่น การเก็บของเล่น การเก็บดินสอใส่กล่องดินสอ

1.2.4 การให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
การให้ทางเลือกง่ายๆ แก่เด็กเพื่อฝึกทักษะการตัดสินใจซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้ที่โรงเรียนเริ่มจากการให้ทางเลือก 2 ทาง เช่น จะใส่เสื้อสีแดงหรือสีฟ้า จะรับประทานส้มหรือกล้วย
เป็นของว่าง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีทักษะและมีความมั่นใจในการตัดสินใจมากขึ้น

1.2.5 การพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบสังคมให้กับเด็ก
การพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับกฎระเบียบการปฏิบัติตนที่แตกต่างกันไปแต่ละสถานที่
เช่น กฎในโรงเรียนอนุบาล กฎในการใช้สระว่ายน้ำให้ปลอดภัย สิ่งนี้จะช่วยให้เด็กปรับตัวกับกฎใหม่ๆ ที่เด็กต้องเรียนรู้ และสามารถปฏิบัติตามกฎที่โรงเรียนได้

1.3 ด้านทักษะการเรียนรู้

1.3.1 การส่งเสริมทักษะการรู้หนังสือ และทักษะทางจำนวนเบื้องต้น
การรู้ตัวเลข และตัวอักษร การนับและการเขียนชื่อตนเองของเด็ก นำเสนอมโนทัศน์เกี่ยวกับการนับ และการรู้ตัวอักษรเบื้องต้นผ่านกิจกรรมประจำวัน เช่น การนับจำนวนของเล่นบนพื้น การชี้คำขณะอ่านหนังสือให้เด็กฟัง การร้องเพลง และการส่งเสริมให้เด็กสนุกกับการฟังนิทาน

1.3.2 การส่งเสริมให้เด็กมีสมาธิในการทำกิจกรรม
การให้เด็กนั่งและมีสมาธิกับกิจกรรมในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น การสร้างบ้านจากบล็อก
การสร้างถนนรถแข่ง การวาดรูป การต่อตัวต่อ โดยใช้การเสริมแรงทางบวก ให้ คำแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำเพื่อให้เด็กมีสมาธิ และสนุกกับสิ่งที่ทำ เช่น ผู้ปกครองอาจพูดกับเด็กว่า “ดูที่ขนาดของบ้านที่หนูสร้างสิ
เราสามารถเพิ่มรั้วหรือสวนได้ไหม” ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสมาธิให้แก่เด็กได้

1.3.3 การส่งเสริมทักษะการฟัง
การอ่านหนังสือ หรือฟังนิทานผ่านแผ่นซีดี หรือดีวีดี เป็นวิธีที่ดีในการช่วยพัฒนาทักษะการฟังของเด็ก ถามคำถามกับเด็กเกี่ยวกับนิทานสามารถช่วยกระตุ้นความอยากรู้ อยากเห็น ส่งเสริมทักษะความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวและการสื่อสารของเด็ก เช่น ถามคำถาม เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่อาจจะเกิดต่อไป หรือความรู้สึกของตัวละคร เป็นต้น

1.3.4 การปฏิบัติตามคำสั่ง
ผู้ปกครองสามารถสั่งให้เด็กทำตามสั่ง เช่น ใส่ถุงเท้า เก็บจานไว้ใน อ่าง จากนั้นผู้ปกครองสามารถให้คำสั่งเด็ก 2 ขั้นตอน เช่น นำจานไปใส่ไว้ในอ่าง และใส่ถุงเท้า ซึ่งเด็กมักมีปัญหาในการจำคำสั่งที่มากกว่า 2 หรือ 3 ขั้นตอนต่อเนื่องในเวลาเดียวกัน

1.3.5 การให้เด็กเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
การให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นและประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ด้วยการให้เด็กได้มีประสบการณ์ในสถานที่ใหม่ๆ เช่น การพาไปหาหนังสือในห้องสมุด การเยี่ยมชม สถานที่ต่างๆ ในชุมชน
และทำในสิ่งที่เด็กสนใจ เช่น การมองหาจำนวนขาของแมลง เป็นการทำให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก การมีความเชื่อในสิ่งที่เล่น เช่น การเล่นบทบาทสมมติที่ส่งเสริมการกระตุ้นจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์

1.3.6 การส่งเสริมการประสานสัมพันธ์ของมือและตา
การใช้กรรไกรและกาว การวาดรูป การสร้างบล็อก การประกอบอาหาร เช่น การกวนและเท การขว้าง-จับลูกบอล สามารถช่วยฝึกการประสานสัมพันธ์ระหว่างตาและมือให้แก่เด็ก ซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการเรียนรู้การอ่านและการเขียนของเด็ก

  1. การปรับตัวของครอบครัวสำหรับการเปลี่ยนแปลง

2.1 การจัดการกับอารมณ์ และความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวของเด็ก
การเข้าโรงเรียนของเด็กอาจทำให้ผู้ปกครองรู้สึกสูญเสียเด็กไปเพราะเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงเรียน และได้รับการดูแลจากผู้อื่น เด็กสามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้ปกครองซึ่งจะส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อโรงเรียนของเด็ก ถ้าผู้ปกครองแสดงความมั่นใจต่อความท้าทายที่กำลังเผชิญ
และแสดงออกในทางบวก จะทำให้เด็กรู้สึกมีความมั่นใจในการเริ่มเข้าโรงเรียน ดังนั้น ผู้ปกครองควรสังเกตความรู้สึกของตนเอง เช่น ความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของเด็กในการอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ การรับมือกับการเรียนรู้วิชาใหม่ๆ และการสร้างมิตรภาพ ความรู้สึก ตื่นเต้น ภูมิใจกับการเติบโตและการก้าวเข้าสู่ช่วงชีวิตใหม่ของเด็ก การพิจารณาถึงสิ่งที่ต้องการในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าโรงเรียนของลูก จะช่วยให้ผู้ปกครองแสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม การวางแผนกิจกรรมที่สนุกและผ่อนคลายจะช่วยให้ผู้ปกครองจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้

2.2 การปรับกิจวัตรประจำวันในครอบครัวให้สอดคล้องกับโรงเรียน
เด็กอาจรู้สึกเหนื่อยล้าจากปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง ผู้ปกครองมีการปรับเปลี่ยนหรือเลื่อนกิจกรรมหลังเลิกเรียนที่เคยทำออกไป ผู้ปกครองควรคำนึงถึงการปรับกิจวัตรประจำวันในครอบครัวใหม่
ถ้าผู้ปกครองทำงานประจำควรเตรียมพร้อมสำหรับการดูแลช่วงก่อนและหลังเวลาเรียน หรืออาจจัดการรับ-ส่งเด็ก

2.3 การสนับสนุนความสัมพันธ์ที่ดีกับครู และผู้ปกครอง
การพูดคุยเกี่ยวกับความกังวลใจ การแบ่งปันความหวังและประสบการณ์ ของผู้ปกครอง
ในช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงกับเพื่อน และครอบครัว หรือครูอนุบาลของเด็ก สามารถช่วยให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้วิธีการหรือแนวทางที่เป็นประโยชน์ ในวันแรกของการเปิดเรียน ผู้ปกครองควรเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นเพื่อได้พบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ปกครอง ท่านอื่น

2.4 การติดต่อสื่อสารกับโรงเรียนของลูก
การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเด็กระหว่างครอบครัวและโรงเรียน จะช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวกับสถานที่ใหม่ และเป็นโอกาสที่โรงเรียนจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก เช่น ผู้ปกครองอาจหาเวลาในการสื่อสารเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน โดยการร่วมรับฟังข้อมูลและการประชุมของโรงเรียน การแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและสภาพแวดล้อมที่เด็กเคยพบมาด้วยการให้รูปถ่ายของเด็กที่โรงเรียนอนุบาล เพื่อส่งข้อมูลมายังโรงเรียน การพูดคุยกับบุคลากรในโรงเรียนเกี่ยวกับความกังวล หรือปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เด็กกลัวการใช้ห้องน้ำ
ความกังวลจากการแยกจาก และวางแผนการใช้ชีวิตของผู้ปกครองก่อนเด็กเข้าโรงเรียน เมื่อโรงเรียนเปิดผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมโดย การพูดคุยกับครูเกี่ยวกับความต้องการและความสนใจของเด็ก และอภิปรายวิธีการที่โรงเรียนจะใช้ในการสนับสนุนครอบครัว การแลกเปลี่ยนข้อมูลในช่วงเย็นและกิจกรรมพิเศษของโรงเรียน การหาโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับครอบครัวอื่นตลอดปีการศึกษา การให้ความสนใจเกี่ยวกับ
การเรียนรู้ของเด็ก การพูดคุยกับครูเกี่ยวกับการเรียนรู้และวิธีการที่ผู้ปกครองสามารถสนับสนุนเด็กที่บ้าน
การถามเด็กเกี่ยวกับการเรียนและการรับรู้ความพยายามในการเรียนรู้ของเด็ก การหาโอกาสแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์กับครู และครอบครัวอื่น

  1. การวางแผนและเตรียมความพร้อมของเด็กและครอบครัวก่อนเข้าโรงเรียน

3.1 การหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนของเด็ก ได้แก่ ตารางกำหนดการต่างๆ ของโรงเรียน แผนผังอาคารเรียนของโรงเรียน ที่ตั้งของห้องเรียน ห้องน้ำ ตู้น้ำดื่ม สนามเด็กเล่น ตารางสอน เวลาเข้าเรียนและเลิกเรียน ระยะเวลาพักกลางวัน สิ่งที่ต้องนำมาโรงเรียนในแต่ละวัน วิธีการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและบ้าน
การดูแลของโรงเรียนก่อนเรียน – หลังเลิกเรียนสำหรับผู้ปกครองที่ทำงาน วิธีการที่ผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมกับโรงเรียน และการพบกับครอบครัวอื่น

3.2 การปรับกิจวัตรประจำวัน และการเยี่ยมชมโรงเรียน
การฝึกกิจวัตรประจำวันจะช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยและลดความเครียด ในการเข้าโรงเรียน การเยี่ยมชมโรงเรียนช่วยให้เด็กคุ้นเคย มีความเชื่อมั่นกับโรงเรียน ผู้ปกครองสามารถฝึกสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อไปโรงเรียน โดยใช้วิธีที่เหมาะสมกับเด็ก ได้แก่

3.2.1 การฝึกเดินทางไป และกลับจากโรงเรียนหลายๆ ครั้ง ความคุ้นเคยกับการเดินทางไปโรงเรียน เส้นทาง การทดลองไปส่ง-รับเด็กที่โรงเรียนในเวลาปกติ ช่วยให้ผู้ปกครอง และเด็กรู้ปัญหา
สภาพที่จะเกิดขึ้น เช่น เวลาที่มีรถหนาแน่น เส้นทางที่ใช้ในการเดินทาง

3.2.2 การฝึกกิจวัตรประจำวันของโรงเรียน กำหนดเวลาเข้านอน เวลาตื่นนอนที่เร็วขึ้น
การใส่ชุดนักเรียน และการจัดเตรียมกระเป๋านักเรียน เพื่อให้เด็กตื่นอย่างสดชื่นและพร้อมไปโรงเรียน

3.2.3 การฝึกกิจวัตรช่วงอาหารกลางวัน ผู้ปกครองอาจฝึกให้เด็กจัดการกับอาหารของตนเอง เช่น ไปปิคนิคในสนามหลังบ้านหรือสวนสาธารณะ เด็กได้ฝึกการหยิบกล่องอาหาร จากกระเป๋านักเรียน
และเปิดกระเป๋าด้วยตนเอง ผู้ปกครองอาจช่วยโดยให้เด็กบอกได้ว่าจะรับประทานอะไรเป็นอาหารว่าง
และอาหารกลางวัน

3.2.4 การจัดทำรายการสิ่งที่ต้องทำกับเด็ก เช่น รายการสิ่งที่ต้องทำในตอนเย็นหรือตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน อาจมีการบันทึกภาพเด็กขณะทำเพื่อให้เป็นการเรียนรู้ที่สนุก

3.2.5 แต่งนิทานเกี่ยวกับโรงเรียนใหม่และสิ่งที่จะเกิดระหว่างวัน ผู้ปกครอง สามารถวาดรูปหรือเพิ่มรูปถ่ายเข้าไปขณะใช้เวลาอ่านร่วมกัน สิ่งนี้จะช่วยบรรเทาความวิตกกังวล เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดระหว่างวันได้

3.2.6 พาเด็กเยี่ยมชมโรงเรียนในวันหยุดสุดสัปดาห์ถ้าโรงเรียนอนุญาต เด็กจะได้ฝึกการใช้อุปกรณ์การปีนป่ายและการเล่นในสนามของโรงเรียน

3.2.7 จัดโอกาสให้เด็กได้เล่นกับคนอื่นที่จะเข้าโรงเรียนเดียวกัน การได้พบเจอเพื่อนที่คุ้นเคยจะช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นใจและผ่อนคลายมากขึ้นในวันแรกของการไปโรงเรียน และในช่วงสัปดาห์แรกของการเข้าโรงเรียน

3.3 การวางแผนช่วยเด็กรับมือกับความรู้สึกแยกจาก
ผู้ปกครองกังวลเกี่ยวกับวิธีการที่ช่วยให้เด็กรับมือกับการแยกจากกับผู้ปกครอง ในการปรับตัวให้อยู่ในโรงเรียนได้โดยไม่มีผู้ปกครอง สิ่งที่ผู้ปกครองต้องวางแผน มีดังนี้

3.3.1 วิธีการที่ช่วยให้เด็กแยกจากผู้ปกครองอย่างสะดวกสบายใจในตอนเช้า

3.3.2 การนำรูป หรือสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจของเด็กจากบ้านไปโรงเรียน

3.3.3 การรับมือการแยกจากของผู้ปกครอง เช่น การพูดคุยกับเพื่อน ผู้ปกครอง

การออกกำลังกาย

ผู้ปกครองควรพูดคุยกับครูอนุบาล และครูประถมศึกษาเกี่ยวกับวิธีการแยกจากกับเด็ก เช่น
การตบมือ ‘high five’ การกอด ควรบอกลา และสร้างความมั่นใจให้เด็กว่าจะกลับมารับ เช่น เมื่อกลับบ้านแล้วไปหาเด็กๆ หรือเตรียมการดูแลหลังเลิกเรียน จะช่วยสร้างความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยให้เด็ก
ควรหลีกเลี่ยงการลาที่ยืดยาว เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกทุกข์กับการแยกจาก ควรพูดในด้านบวก และแสดงความตื่นเต้นเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กจะได้ทำเมื่อเด็กไปโรงเรียน เช่น การได้ฟังนิทาน การมีเพื่อนใหม่ เด็กจะเป็นไปในทางที่ผู้ปกครองชี้แนะ ดังนั้นผู้ปกครองต้องระวังอารมณ์ความรู้สึก และสิ่งที่จะสื่อสารกับเด็ก ผู้ปกครองต้องดูแลอารมณ์ของตนในการจัดการการแยกจาก

3.4 การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเรียนวันแรก

3.5 การสร้างประสบการณ์ที่ดีในวันแรกของการเข้าโรงเรียน

  1. การให้ความช่วยเหลือเด็กเมื่อเข้าโรงเรียน

4.1 การให้เด็กได้สำรวจโรงเรียน และสังเกตหาสาเหตุของความกังวลของเด็ก

4.2 การพูดคุยกับครูอนุบาล ครูประถมศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก

4.3 การแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ที่ตอบสนองความต้องการของเด็กกับครู

4.4 การหาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการให้บริการความช่วยเหลือในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียง

นอกจากนี้ Commonwealth of Australia (2013) ได้สรุปไว้ว่า ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญ
ในการสนับสนุนเด็กจัดการช่วงรอยเชื่อมต่อสู่โรงเรียนประถมศึกษา โดยให้ความร่วมมือกับครูปฐมวัย
และครูในโรงเรียนประถมศึกษา ในการช่วยเด็กรับมือกับความท้าทายใหม่นี้โดยพัฒนาทักษะด้านสังคม อารมณ์ และการเรียนรู้ และให้การสนับสนุนด้านต่างๆ

การสังเคราะห์แนวการปฏิบัติสำหรับผู้ปกครองในการสร้างรอยเชื่อมต่อจากโรงเรียนอนุบาลสู่โรงเรียนประถม ของ พัชรัตน์ ลออปักษา (2561 :62) สรุปได้แนวการปฏิบัติ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาทักษะของเด็กในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ทักษะอารมณ์และสังคม ทักษะการพึ่งพาตนเอง และทักษะการเรียนรู้ (2) การปรับตัวของครอบครัวสำหรับการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การมีมุมมองหรือความคาดหวังเชิงบวกในการปรับตัวของเด็ก  การหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนประถมศึกษา การมีส่วนร่วมของโรงเรียน และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ปกครองและครู (3) การเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าโรงเรียน ได้แก่ การปรับกิจวัตรประจำวัน การวางแผนช่วยเหลือเด็กรับมือกับการไปโรงเรียนวันแรก
(4) การให้ความช่วยเหลือเด็กเมื่อเข้าโรงเรียน ได้แก่ การค้นหาสาเหตุของความกังวลเกี่ยวกับการไปโรงเรียนของเด็ก การพูดคุยแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ที่ตอบสนองความต้องการของเด็กกับครูอนุบาล ครูประถมศึกษา
และผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก

 

พัชรัตน์ ลออปักษา (2561) ได้ศึกษาบทบาทของผู้ปกครองในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลสู่โรงเรียนประถมศึกษา โดยศึกษาใน 3 ด้าน คือ ด้านการส่งเสริมความพร้อมของเด็ก ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงเรียน และด้านการเตรียมความพร้อมของครอบครัว โดยได้กำหนดนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้

บทบาทของผู้ปกครองในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลสู่โรงเรียนประถมศึกษา หมายถึง การปฏิบัติของผู้ปกครองในการส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย สังคมและอารมณ์ การเรียนรู้ และสติปัญญา รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับโรงเรียน และกลุ่มผู้ปกครอง ในการเตรียมพร้อมของครอบครัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ช่วยให้เด็กอนุบาลมีความพร้อมทางการเรียน และสามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้อย่างราบรื่น โดยเริ่มตั้งแต่ภาคเรียนสุดท้ายในโรงเรียนอนุบาลจนถึงปลายภาคต้นในโรงเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

ด้านการส่งเสริมความพร้อมของเด็ก หมายถึง การปฏิบัติของผู้ปกครองในการจัดโอกาสหรือกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ และการปรับตัวของเด็กในโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ที่จำเป็นและสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข ประกอบด้วย
การรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และการเรียนรู้

ด้านการสร้างความร่วมมือกับโรงเรียน หมายถึง การปฏิบัติของผู้ปกครองในการประสานความร่วมมือกับโรงเรียนและผู้ปกครองอื่นๆ ในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กปรับตัวกับรอยเชื่อมต่อทางศึกษา และประสบความสำเร็จในการเรียนและดำรงชีวิตอยู่ในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมกับโรงเรียน และการสนับสนุนการเรียนรู้

ด้านการเตรียมความพร้อมของครอบครัว หมายถึง การปฏิบัติของผู้ปกครองในการวางแผนและการดำเนินการในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อให้เด็กและครอบครัวมีความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่จะเกิดขึ้น สามารถก้าวผ่านรอยเชื่อมต่อได้อย่างราบรื่น ประกอบด้วย การเตรียมพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน และการให้ความช่วยเหลือเมื่อเด็กเข้าโรงเรียน

ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้ปกครองของเด็กที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียน 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนระดับอนุบาลและประถมศึกษา และประเภทที่ 2  โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไป ใน 4 สังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา จำนวน 416 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า ผู้ปกครองมีบทบาทในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาจากโรงเรียนอนุบาลสู่โรงเรียนประถมศึกษา โดยภาพรวมอยู่ในระดับปฏิบัติระดับมาก (=3.93) ด้านที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนการปฏิบัติสูงที่สุด คือ ด้านการเตรียมความพร้อมของครอบครัว (= 4.06) รองลงมา คือ ด้านการส่งเสริมความพร้อมของเด็ก (=4.04) และด้านการสร้างความร่วมมือกับโรงเรียน (=3.69) ตามลำดับ

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองจำนวน 16 คน สรุปได้ ดังนี้

1) ด้านการส่งเสริมความพร้อมของเด็ก พบว่า องค์ประกอบการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ผู้ปกครองส่งเสริม เด็กด้านทักษะการพึ่งพาตนเองด้วยการฝึกเด็กให้ช่วยเหลือตนเอง โดยอธิบายถึงความสำคัญให้เด็กเห็นความสำคัญก่อน (14 คน) และ องค์ประกอบการเรียนรู้ ผู้ปกครองส่งเสริมให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับสังคมและสิ่งรอบตัวผ่านการพาเด็กไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมในช่วงวันหยุด (15 คน)

2) ด้านการสร้างความร่วมมือกับโรงเรียน พบว่า องค์ประกอบการมีส่วนร่วมกับโรงเรียน ผู้ปกครองสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยการขอช่องทางการติดต่อกับเพื่อนผู้ปกครอง และพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยใช้เวลาในช่วง เช้าที่ไปส่งเด็ก หรือรับเด็กตอนเย็นหลังเลิกเรียน (11คน) ผู้ปกครองคุยกับครูเกี่ยวกับพัฒนาการและวิธีการสอนเด็กในช่วงเช้า ที่ไปส่งเด็ก หรือรับเด็กตอนเย็นหลังเลิกเรียน และแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อกับครูประจำชั้น ติดตามข้อมูลของโรงเรียน ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ สมุดจดการบ้าน และจดหมายของโรงเรียน (11 คน) และองค์ประกอบการสนับสนุนการเรียนรู้ผู้ปกครองสนับสนุนการเรียนรู้ที่บ้านผ่านการจัดพื้นที่ให้เด็กทำงานตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว (16 คน)

3) ด้านการเตรียมความพร้อมของครอบครัว พบว่า องค์ประกอบการเตรียมพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน ผู้ปกครองหาข้อมูลของโรงเรียนประถมศึกษาตั้งแต่เด็กอยู่ชั้นอนุบาล 2 ผ่านอินเตอร์เน็ต สอบถามจากคนใกล้ตัว และไปสำรวจโรงเรียนด้วยตนเองพร้อมกับเด็ก (13 คน) และองค์ประกอบการให้ความช่วยเหลือเมื่อเด็กเข้าโรงเรียน ผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ซักถามเด็กช่วงเย็น และให้คำแนะนำแก่เด็ก ในการแก้ปัญหา (15 คน)

นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะให้แก่ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำผลที่ได้จากการวิจัยไปสู่การปฏิบัติ โดยเน้นให้เห็นว่ารอยเชื่อมต่อระหว่างชั้นเรียนอนุบาล และประถมศึกษาเป็นช่วงเวลาที่เด็ก
และครอบครัวต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงเวลาที่เด็กต้องปรับตัวจากการเรียนในระดับอนุบาลที่มีการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการผ่านการเล่นเข้าสู่การเรียนการสอนเป็นรายวิชา ที่เน้นการเรียนรู้เนื้อหาสาระเป็นหลักในชั้นประถมศึกษา อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงในด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญยิ่งที่เด็กต้องเผชิญ จึงจำเป็นที่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องช่วยกันสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ดังนี้

  1. ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1.1 การกำหนดนโยบายการดำเนินงานในโรงเรียนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง
ในโรงเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

1.2 การจัดทำคู่มือเพื่อให้ความรู้ผู้ปกครองในการส่งเสริมความพร้อมทางการเรียนให้กับเด็ก และการเตรียมความพร้อมของครอบครัวเพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่น

1.3 การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูล และให้ความช่วยเหลือผู้ปกครองในการเตรียมความพร้อมเด็ก และครอบครัว

1.4 การกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้ปกครองได้มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน เช่น การลาเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน

  1. โรงเรียนชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกษา

2.1 การกำหนดนโยบายของโรงเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมกับ โรงเรียนในช่วงรอยเชื่อมต่อมากยิ่งขึ้น การจัดและร่วมกิจกรรมของโรงเรียน ในช่วงก่อนเปิดเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ปกครอง เพื่อนผู้ปกครอง และครูใน โรงเรียน

2.2 การจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจกับผู้ปกครองเกี่ยวกับรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา การเตรียมตัวในช่วงรอยเชื่อมต่อ รวมทั้งหลักสูตรของสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถให้การสนับสนุนเด็กที่บ้านได้อย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกับโรงเรียน

2.3 การสร้างเครือข่ายการศึกษาระหว่าง โรงเรียนชั้นอนุบาลและโรงเรียนประถมศึกษา
ด้วยการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน การออกแบบกิจกรรมเพื่อสร้างรอยเชื่อมต่อร่วมกัน การส่งต่อข้อมูลพัฒนาการเด็กจากชั้นอนุบาลสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

  1. ผู้ปกครองและครอบครัว

3.1 การให้ความร่วมมือกับครูในการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเด็ก เช่น พัฒนาการ ความถนัด พฤติกรรม และความคาดหวังของผู้ปกครอง

3.2 การส่งเสริมความพร้อมทางการเรียนให้กับเด็ก และการเตรียมความพร้อมของครอบครัวเพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่น

3.3 การเข้าร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนในช่วงรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา เพื่อให้เด็กได้สร้าง ความคุ้นเคย ปรับตัว และสร้างทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียนให้กับเด็ก

พ่อแม่เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เนื่องจากพ่อ แม่ คือ ครูคนแรกของลูก จึงมีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม สามารถปรับตัว ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ประสบความสำเร็จ และมีคุณค่าต่อสังคม (นิติธร ปิลวาสน์, 2556 อ้างถึงใน พัชรัตน์ ลออปักษา 2561 : 1) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้ระบุถึงบทบาทหน้าที่ของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองไว้ในมาตราที่ 11 ว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดให้ บุตรได้รับการศึกษาภาคบังคับ ตลอดจนให้ได้รับการศึกษานอกเหนือจากการศึกษาภาคบังคับ ตามความพร้อมของครอบครัว ดังนั้น การที่พ่อ แม่ และผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมทางการเรียนให้กับลูก เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างรอยเชื่อมต่อที่ประสบความสำเร็จ ส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียนของเด็ก
ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ และประสบความสำเร็จในการเรียนระดับต่อไป ครอบครัวจำเป็นต้องให้การสนับสนุนเด็กในกระบวนการเชื่อมต่ออย่างกระตือรือร้น เพื่อให้เด็กประสบความสำเร็จ
และมีความสุขในโรงเรียน รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคลากรของโรงเรียน และการมีส่วนร่วมกับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง (Chowa, Masa, & Tucker, 2013; Department of Education and Early Childhood Development, 2009 อ้างถึงใน พัชรัตน์ ลออปักษา, 2561 : 2)