แนวทางการจัดการชั้นเรียนเพื่อเด็กปฐมวัย : มุมมองสำหรับนำไปปฏิบัติ
รศ.ดร.จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ (พ.ศ. 2548)
การทำงานกับเด็กปฐมวัยได้ประสบความสำเร็จ ครูจะต้องมีความสามารถในการจัดห้องเรียนและการจัดการชั้นเรียนสำหรับเด็กเพราะการจัดการชั้นเรียนมีผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมของเด็กที่จะแสดงออกมาเมื่ออยู่หรือทำงานร่วมกับเพื่อน
สิ่งที่ครูพบว่า เป็นปัญหาที่หนักใจและสร้างความคับข้องใจให้มากเรื่องหนึ่ง คือ ทำอย่างไรจะสามารถจัดการชั้นเรียนของตนเองได้ ทำอย่างไรจะทำให้เด็กรู้จักควบคุมตนเอง รู้ว่าเมื่อไรจะต้องทำอะไร รู้จักกาลเทศะ เคารพกติกาข้อตกลง ร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่เด็กคิด เด็กและครูร่วมกันคิด หรือบุคคลอื่นๆ คิดเสนอขึ้นมา นั่นคือทำอย่างไรเด็กจึงจะมีวินัย โดยเฉพาะวินัยในตนเอง ควบคุมตนเองได้ ถ้าเด็กในห้องเรียนที่ครูรับผิดชอบอยู่ ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีวินัย ครูทุกคนก็คงจะมีความสุข การจัดการกิจกรรมการเรียนการสอนก็คงจะดำเนินไปได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องพะวงกับการต้องคอยตักเตือนสลับกับกิจกรรมตลอดเวลาซึ่งจะเป็นการขัดจังหวะการทำกิจกรรม ขาดความต่อเนื่องในกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่และดูจะสร้างความรำคาญให้เด็กในชั้นเรียนรวมทั้งครูเองด้วย
Kauchak และ Eggen (1998) ได้พูดถึงความคับข้องใจในการจัดการชั้นเรียนจะเกิดขึ้นกับนิสิตนักศึกษาฝึกสอน ครูที่ทำงานเป็นปีแรกและบางครั้งบางคราวก็เกิดได้กับครูที่มีประสบการณ์สอนมานานได้เช่นเดียวกันสิ่งที่สร้างความกังวลให้แก่คนกลุ่มนี้มากที่สุด คือ ไม่แน่ใจในความสามารถของตนเองในการจัดการกับนักเรียน การระวังไม่ให้เกิดการรบกวนกันและการดูแลให้สภาพแวดล้อมของการเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่น การจัดการชั้นเรียนถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ได้รับความเอาใจใส่จากทั้งบุคลากรระดับนโยบายของโรงเรียนและทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยถือว่าเป็นปัญหาอันดับแรกของโรงเรียน (Elam and Rose,1995 อ้างถึงใน Kauchak and Eggen, 1998) การไม่มีระเบียบและพฤติกรรมรบกวนของนักเรียนเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความเครียดให้แก่ครูและเป็นต้นเหตุทำให้ครูลาออก โดย 40 % ของครูที่ลาออกจากวิชาชีพครูไปในระหว่าง 3 ปีแรกของการทำงานเนื่องด้วย ไม่สามารถจัดการกับนักเรียนได้ (Curwin, 1992 อ้างถึงใน Kauchak and Eggen, 1998)
การจัดการชั้นเรียนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสภาพที่จะพบได้ก็คือ เด็กจะให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ พฤติกรรมที่รบกวนและไม่เหมาะสมจะพบน้อยมากหรือไม่พบเลย ทำให้ใช้เวลาในการเรียนการสอนได้คุ้มค่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียนของนักเรียน เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีการจัดการไว้อย่างดีมีระบบและระเบียบ สะอาด มีความปลอดภัยทั้งทางกายและทางจิต โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญสามประการที่ควรนำมาพิจารณาในการจัดกิจกรรมในการจัดสภาพแวดล้อมทั้งหมดของห้องเรียน สิ่งเหล่านี้ คือ ลักษณะของเด็กในห้องเรียน สภาพแวดล้อมทางกายภาพของห้องเรียนและระเบียบและกระบวนการดำเนินการต่างๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะจัดการชั้นเรียนให้ได้ดี เพื่อจะได้ส่งเสริมให้การเรียนการสอนมีประสิทธิผลและประสบความสำเร็จ
การจัดการชั้นเรียน
Kauchak และ Eggen (1998) ได้ให้ความหมายของการจัดการชั้นเรียน (Classroom management) คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ครูคิด วางแผนปฏิบัติซึ่งทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีระบบและส่งเสริมการเรียนรู้ การวางแผนและการจัดการ กิจวัตรประจำวันและกระบวนการทำงาน ระบบสำหรับการดูแลปัญหาพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นและรบกวนชั้นเรียน ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการ เนื่องจากจะนำไปสู่การส่งเสริมเป้าหมายของการจัดการชั้นเรียน
เป้าหมายที่สำคัญสองประการเมื่อมีการวางแผนและดำเนินการตามระบบการจัดการมีดังนี้
ประการแรก เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักเรียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะมีผลสะท้อนให้เห็นจากการทำงานของครูที่จะต้องคอยถามตนเองตลอดเวลาว่าจะมีระบบการจัดการอย่างไรที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้แก่นักเรียน
ประการที่สอง เป็นส่วนที่จะช่วยพัฒนาความสามารถของนักเรียนในการจัดการและชี้นำการเรียนรู้ของตนเอง จากจุดนี้ การจัดการชั้นเรียนควรจะเป็นสื่อที่จะช่วยเสริมความเข้าใจตนเอง การประเมินตนเอง และเกิดการควบคุมภายในตนเองของนักเรียน
Crosser (1992) Kauchak and Eggen (1998) และ Jalango (1992) ได้นำเสนอวิธีการจัดการชั้นเรียน ประมวลเป็นแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติได้ดังนี้
หลักการพื้นฐานในการจัดการชั้นเรียน
การจัดการชั้นเรียนต้องมีการวางแผนสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้อย่างรอบคอบ
1.1 ก่อนเริ่มเรียน (Before school begin)
1.2 เวลามาและกลับจากโรงเรียน (Arrival and departure times)
1.3 การจัดการเพื่อความต่อเนื่อง (Schedule transitions)
1.4 การปฏิสัมพันธ์กับเครื่องใช้และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ (Interactions with equipment and materials)
1.5 การจัดการกับความขัดแย้ง (Conflict management)
1. ก่อนเริ่มเรียน
ครูจะต้องดูแลการจัดห้องเรียน สภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนที่เหมาะสมกับการทำกิจกรรมประจำวัน สิ่งที่ต้องคำนึงคือ จัดห้องแล้วจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคล่องตัวช่วยสกัดการเอะอะโวยวาย ช่วยเสริมความปลอดภัย และชวนเชิญให้เกิดการสำรวจอย่างมีความหมาย
ในการเรียนการสอนถึงแม้ว่าการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์การเล่นที่เด็กเลือกเองจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยที่จะช่วยเสริมพัฒนาการที่ดีให้เกิดแก่เด็ก แต่เด็กก็จะต้องมีโอกาสในการรวมกลุ่มกัน พบกันเป็นกลุ่มใหญ่ โดยมีการใช้เวลาไม่นาน สิ่งที่จะต้องพิจารณา คือ
1.1 มีสถานที่กว้างเพียงพอสำหรับการทำกิจกรรมกลุ่มใหญ่ได้หรือไม่ เด็กสามารถนั่งได้ด้วยความสบายโดยไม่เบียดกันหรือไม่ มีที่เพียงพอสำหรับการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เป็นกลุ่มใหญ่หรือไม่ มีอะไรดึงดูดความสนใจของเด็กออกไปจากการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม มีปลั๊กไฟอยู่ใกล้พอสำหรับการใช้เครื่องเสียงต่างๆ เช่น เทป มีอะไรที่เป็นสิ่งที่ให้เด็กสังเกตได้สำหรับการนั่งรวมกันเป็นวงกลม หรือเป็นสี่เหลี่ยมหรือไม่ เช่น มีเทป มีพรมให้เด็กนั่งรอบๆ ถ้าเด็กต้องนำเก้าอี้มานั่งรวมกันได้มีการสอนวิธีการยกเก้าอี้ด้วยความปลอดภัยหรือไม่
1.2 การจัดสภาพทางกายภาพสำหรับการทำงานในศูนย์การเรียนให้ศูนย์ที่ต้องการความสงบทำกิจกรรมอยู่ในส่วนที่สงบ พ้นจากการรบกวนของศูนย์ที่ต้องทำกิจกรรมโดยมีเสียงในขณะทำกิจกรรม เช่น การทำงานกับตัวต่อ หุ่น หนังสือ ควรอยู่ห่างจากการทำงานกับบล็อก งานช่าง งานไม้ การแสดงละคร/บทบาทสมมุติ สำหรับกิจกรรมที่เสริมความคิดสร้างสรรค์อาจจะอยู่ใกล้ๆ กัน ศูนย์ศิลปะ การประกอบอาหาร งานที่ต้องใช้น้ำ ซึ่งต้องเป็นการทำความสะอาดบ่อยๆ ควรจัดเอาไว้บริเวณใกล้อ่างน้ำ มีผ้าเช็ดมือ ถ้าไม่มีอ่างน้ำก็อาจจะใช้ถังน้ำแทนได้
1.3 การจัดศูนย์ในห้องเรียนโดยการใช้ชั้นของโต๊ะ เสื่อ ฯลฯ จัดให้อยู่ในระดับที่ครูจะมองดูเด็กทำงานได้อย่างทั่วถึงตลอดเวลา และไม่จัดไว้ในบริเวณทางเดิน เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กวิ่ง การจัดห้องเรียนควรจะสื่อให้เด็กได้เดินมากกว่าการวิ่ง
1.4 จัดวัสดุปกรณ์ให้อยู่ในระดับที่เด็กหยิบได้ถึง โดยไม่ต้องมาขอความช่วยเหลือจากครู เด็กมีเสื้อกันเปื้อน ดินสอ กระดาษ ด้าย และกระดาษเช็ดมือ
1.5 ได้มีสถานที่สำหรับของทุกอย่างหรือไม่ สิ่งที่เหมือนกันจัดวางไว้ด้วยกันวางไว้ต่ำพอที่เด็กจะหยิบง่ายต่อการทำความสะอาดและปลอดภัย มีที่เก็บของสำหรับเด็กเมื่อมีสิ่งที่จะให้เด็กนำกลับบ้านจะได้นำไปเก็บไว้ในช่องของเด็กได้ ตะกร้าทิ้งขยะวางไว้บริเวณที่จะมีการทิ้งขยะเป็นประจำ ของเล่นที่จะต้องมีการประกอบหรือสร้างควรเก็บใส่กล่องหรือถัง เพื่อจะได้สะดวกในการเก็บ อุปกรณ์ชิ้นใหญ่ ชิ้นเล็ก รวมกลุ่มกันได้ มีที่แขวนเสื้อผ้าสำหรับชุดต่างๆ ที่เด็กจะใช้ในการแต่งกายเพื่อการแสดงหรือบทบาทสมมุติ อาจจะใช้พับเก็บใส่ตู้แทนการแขวนก็ได้ จัดกลุ่ม พวกตัวต่อวางเรียงไว้ด้วยกัน มีที่วางรองเท้า การจัดกลุ่มของให้เด็กได้หยิบใช้ได้เอง จะช่วยให้เด็กได้รู้ทักษะการจัดกลุ่มและเกิดความรู้สึกพึงพอใจในการที่จะมีอิสระในการพึ่งพาตนเอง สิ่งแวดล้อม ที่จัดอย่างเป็นระบบจะช่วยลดพฤติกรรมที่จะเป็นปัญหาไปได้
1.6 การที่เด็กได้ทำงานอยู่ตลอดเวลาจะช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ดังนั้น ต้องพิจารณาว่ามีวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพียงพอสำหรับเด็กหรือไม่ ไม่ต้องจัดเอาไว้มากมาย เกินต้องการ แต่จะใช้วิธีการค่อยๆ เพิ่มเข้าไปเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เด็ก
1.7 ได้มีการกำหนดกิจกรรมประจำวันหรือไม่ เด็กรู้วิธีการในการดำเนินการประจำวันหรือไม่ เด็กควรจะทำอะไรเมื่อเปลี่ยนเสื้อ วางของใช้ จะสำรวจการมาเรียนของเด็กอย่างไร เด็กทำเองได้หรือไม่ มีเวลาที่จะนำข่าวสารจากบ้านให้/แจ้งครูหรือไม่ การไปใช้ห้องน้ำของเด็กมีการกำหนดหรือไม่ มีวิธีการอย่างไร เด็กไปมากกว่า 1 คนได้หรือไม่ มีสัญญาอะไรให้ทราบว่ามีคนใช้ห้องน้ำอยู่ เมื่อเด็กกระหายน้ำจะทำอย่างไร เวลาของว่างจะอยู่ช่วงใด ทำอย่างไร การกำหนดตารางเวลาสำหรับกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้เด็กได้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในแต่ละวัน ต่อไปจะต้องทำอะไร จะได้ไปสนามเด็กเล่นหรือฟังนิทานหลังอาหารว่าง การกำหนดกิจกรรมประจำวันจะช่วยลดข้อขัดแย้งและความคับข้องใจให้แก่เด็กได้
2. เวลามาและเวลากลับจากโรงเรียน
2.1 เวลาที่เด็กมาโรงเรียน การดูแลเด็กที่มาโรงเรียนได้ดีจะช่วยสร้างบรรยายกาศที่ดีได้ตลอดวัน โดยปกติครูจะคอบพบทักทายเด็ก บุคลิกภาพของครูจะช่วยเด็กได้มากที่จะไม่ให้เด็กร้องไห้หรือหวาดกลัว
เด็กควรได้รับทราบว่ามาถึงจะดูแลเกี่ยวกับเสื้อผ้า รองเท้าอย่างไร การตรวจสอบการมาเรียนต้องทำเองใช่หรือไม่ ข้าวของต่างๆ ที่นำมาจากบ้านจะทำอย่างไร จะเอาอะไรไปวางที่ไหน
ขณะที่เด็กมาถึงโรงเรียน รอคอยเพื่อนเพื่อเริ่มกิจกรรมพร้อมกัน ครูต้องคิดว่าจะให้เด็กทำอะไรระหว่างรอเพื่อน เพื่อจะได้ไม่เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
2.2 เวลาที่เด็กกลับบ้าน ครูต้องกำหนดว่าจะทำอย่างไรก่อนเด็กจะกลับบ้านอาจจะเป็นการรวมกลุ่มพูดคุยหรือประเมินกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ปฏิบัติตลอดทั้งวันที่ผ่านมา วางแผน สิ่งที่จะทำในวันรุ่งขึ้น ที่จะช่วยให้ทำได้ดีกว่าวันนี้ ช่วยให้เด็กมองเห็นวิถีทางในการที่จะเลือกและดูแลตนเองได้ดีขึ้น ครูบางคนอาจจะให้ข้อสังเกตหรือให้งานเพื่อกลับไปเตรียมทำที่บ้าน อาจจะร้องเพลงหรือกล่าวกลอนอำลา ครูต้องวางแผนสิ่งที่จะปฏิบัติต่อเด็กก่อนกลับบ้าน จะช่วยลดความวุ่นวายที่ขึ้นในช่วงสุดท้ายของวัน
3. การจัดการเพื่อความต่อเนื่อง
การจัดการชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิผล ผู้จัดการต้องมีสำนึกเกี่ยวกับเวลา รู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะหยุดกิจกรรม หรือควรจะปล่อยให้กิจกรรมดำเนินต่อไป และรู้ว่าเมื่อไหร่จะดำเนินการให้เกิดความเชื่อมโยงจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง มีความสามารถในการที่จะดึงดูดความสนใจของเด็ก
3.1 วิธีการดึงดูดความสนใจของเด็ก การเล่นด้วยนิ้ว (finger play) คำประพันธ์และการร้องเพลงประกอบท่าทาง จะใช้ได้ดีมากเพื่อเรียกความสนใจในการที่จะรวมกลุ่มเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ
เด็กชอบการเล่นด้วยนิ้ว รู้สึกตื่นเต้นและท้าทายที่จะเคลื่อนไหวนิ้วมือของตนเองไปตามที่ครูปฏิบัติ เมื่อทำเสร็จเด็กจะเงียบพร้อมที่จะฟัง ครูก็เริ่มกิจกรรมได้ ครูจะต้องไวในการที่จะทำกิจกรรมต่อเนื่องไปเลย เพราะถ้าลังเลความสนใจของเด็กก็จะลดลง การร้องเพลงประกอบท่าทางสั้นๆ ก็นำมาใช้ได้เช่นเดียวกัน
ครูควรจะหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่จะนำมาใช้ในการสร้างความต่อเนื่องในการทำกิจกรรมและการใช้เวลา เด็กจะชอบร้องเพลง ท่องคำประพันธ์ซ้ำๆ แต่ในขณะเดียวกันครูก็ต้องเสริมสิ่งใหม่เข้าไปด้วย จะได้ช่วยกระตุ้นความสนใจให้แก่เด็กเพิ่มขึ้น
การเตรียมตัวเด็กไปสู่การทำสิ่งอื่นต่อไปเป็นสิ่งจำเป็น เด็กควรจะได้รับรู้ว่าถึงเวลา ที่จะช่วยกันทำความสะอาดแล้ว ถึงเวลาเก็บของเพราะจะหมดเวลาทำงานแล้ว การที่เด็กได้รับรู้จะทำให้เด็กพร้อมที่จะก้าวไปสู่กิจกรรมต่อไป
3.2 สัญญาณที่เหมาะสม สัญญาณต้องนำมาใช้เพื่อเป็นสัญญาณในเรื่องหมดเวลา ทำกิจกรรม เพื่อเริ่มกิจกรรมใหม่บางครั้งจะใช้เพลง เครื่องดนตรี กระดิ่ง มือ ดับไฟ-เปิดไฟ เด็กจะหยุดทำกิจกรรมเดิม มารวมกลุ่มเพื่อฟังนิทาน การใช้เสียงของครูตะโกน ส่งเสียงดัง จะทำให้เกิดเสียงดังของเด็กไปด้วย การกระซิบและเสียงนุ่มนวลของครูจะช่วยทำให้เด็กปฏิบัติเช่นเดียวกัน
3.3 การเคลื่อนย้ายกลุ่มเด็ก การเดินทางไปเป็นกลุ่มของเด็ก ถ้ากลุ่มเล็กครูจะดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งห้องเรียนครูจะต้องมีวิธีการให้เด็กไปได้ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย อาจจะจับเป็นคู่ จูงมือเดิน ทำเป็นแถวยาวแบบขบวนรถไฟ โดยครูเดินไปพร้อมกับดูแลให้ทั่วถึง ครูจะต้องไม่คิดว่าเด็กจะเดินเป็นแถวตรง เพราะผิดธรรมชาติของเด็กครูอาจจะกำหนดจุดแรกที่คนแรกไปถึงจะต้องหยุดจนทุกคนมาครบ แล้วจึงเดินทางต่อไปจุดที่ให้หยุดจะเป็นจำนวนกี่ครั้งก็ได้ จนกว่าทุกคนจะไปถึงจุดหมายปลายทาง อาจจะให้เดินเป็นแถวๆ โดยใช้เชือกที่ทำเป็นปุ่มไว้ ให้เด็กเข้าแถวจับเชือกตรงปุ่ม แล้วเดินต่อๆ กันไป ปุ่มเชือกควรจะห่างกันอย่างน้อย 15-20 นิ้ว เพื่อเด็กจะได้เดินได้อย่างสะดวก ถ้าต้องการไปในที่ที่อาจมีอันตรายนอกโรงเรียนก็คงต้องระดมผู้มาช่วยดูแลเด็กให้มีความปลอดภัย
3.4 เมื่อเดินทางถึงจุดหมาย ก่อนถึงจุดหมายครูควรจะได้แจ้งให้เด็กทราบว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร ถ้าครูไม่แจ้งล่วงหน้า เด็กไปถึงที่หมายก็อาจจะทำอะไรด้วยตนเอง สำรวจเอง เล่นเอง ครูก็จะต้องเสียเวลาอีกมากในการรวบรวมเด็กเข้าสู่ระบบ
4. การปฏิสัมพันธ์กับเครื่องมือเครื่องใช้และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
เวลาของเด็กในแต่ละวันควรจะเป็นไปอย่างมีจุดมุ่งหมายในการเล่น โดยครูได้จัดเตรียมให้เด็กได้ทำกิจกรรมกับเครื่องมือเครื่องใช้และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เด็กได้เลือกด้วยตนเองเพื่อการสำรวจโลกรอบตัว
การให้เด็กปฏิสัมพันธ์กับเครื่องมือและเครื่องใช้และวัสดุอุปกรณ์ด้วยมุ่งหวังที่จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก ปกป้องเด็ก ปกป้องเครื่องมือเครื่องใช้และดำรงไว้ซึ่งสภาพการเรียนการสอนที่สงบ
ครูควรจะเดินไปรอบๆ ห้องเรียน อาจจะเข้าไปแนะนำให้เด็กได้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ด้วยวิถีทางที่แตกต่างๆ กันออกไป และชื่นชมผลงานที่เด็กได้ทำสำเร็จ การตั้งคำถามและการวิจารณ์งานจะต้องมีเทคนิคที่ดี เพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก เช่น จะทำแบบไหนได้อีก กระบอกไหน จะจุทรายได้มากที่สุด จะพิสูจน์ได้อย่างไร วาดภาพด้วยสีน้ำตาลได้อย่างไรในเมื่อไม่มีสีน้ำตาลทำไมบล็อกถึงได้หล่นลงมา คิดว่าจะสร้างอย่างไรที่จะไม่ทำให้หล่นอีก
ในการให้เด็กทำงานอิสระ เด็กบางคนอาจจะนั่งอย่างไร้จุดหมาย บางคนไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรในช่วงเวลานี้ ครูจะต้องเข้าไปหาวิธีการเล่นกับเด็ก โดยไม่ไปดำเนินการเองทั้งหมด เช่น เล่นสมมุติว่าเป็นรถโดยสาร บอกกลุ่มเด็กที่ไม่ทราบว่าจะเล่นอะไรมาช่วยกันจัดเก้าอี้นั่งในรถช่วยคิดว่าจะขึ้นรถโดยสารควรจะมีตั๋วหรือไม่ ใครจะอาสาเก็บตั๋ว รถโดยสารจะไปไหนดี ใครจะขับรถ ใครจะเป็นผู้โดยสาร ครูร่วมเล่นสักระยะหนึ่งแล้วถอนตัวออกมา ให้เด็กเล่นเอง เด็กก็จะมีกิจกรรมทำจากการเริ่มต้นของครู
การกำหนดขอบเขตการใช้วัสดุอุปกรณ์มีความจำเป็นเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น การทำข้อตกลงในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กรรไกร บล็อก ทราย เครื่องปืนป่าย หรือชิงช้า ฯลฯ เด็กจะต้องทำตามข้อตกลงการเล่น/ใช้อุปกรณ์เหล่านั้น เมื่อเด็กไม่ทำตามข้อตกลงต้องมีการเตือน และให้เด็กเข้าใจว่าถ้าทำผิดซ้ำก็จะไม่ได้เล่น/ใช้อุปกรณ์เหล่านั้น
การเล่นกับบล็อกและบทบาสมมุติจะมีเด็กสนใจมากกว่าอุปกรณ์อื่นๆ ดังนั้น ครูคงต้องมีการกำหนดว่าเด็กจะเข้าไปเล่นได้ครั้งละกี่คน โดยอาจจะมีที่แขวนบัตรประจำตัวของเด็ก ใครจะเข้าไปทำกิจกรรมให้แขวนบัตรที่ที่แขวนซึ่งจะมีเท่ากับจำนวนของเด็กที่อนุญาตให้เข้าไปเล่าได้ เมื่อครบ เด็กคนต่อไปก็จะต้องรอโอกาสของตน
5. การจัดการกับความขัดแย้ง
ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นอย่างธรรมชาติในการทำงาน หรือมีชีวิตอยู่ร่วมกัน การเกิดความขัดแย้งในห้องเรียนเป็นจุดดีในประเด็นที่เด็กจะได้เรียนรู้ ที่จะเผชิญกับความขัดแย้ง ได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการแก้ปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นจริงๆ ทักษะเหล่านี้จะสะสมอยู่ในตัวเด็กโดยอัตโนมัติ ทำให้เด็กสามารถนำไปปฏิบัติได้ต่อไป
เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ครูอาจจะช่วยเด็กในการแก้ปัญหา โดยอาจให้ทางเลือกให้เด็กลองเลือก ถ้าวิธีการที่เด็กเลือกไม่เหมาะสมกับเหตุการณ์ ครูก็ช่วยเหลือให้เลือกสิ่งที่จะนำไปปฏิบัติได้ เด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมครูต้องเข้าไปดูแลชี้ให้เห็นความไม่เหมาะสม พูดคุยถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม ควรปฏิบัติและติดตามการปฏิบัติของเด็ก อาจจะมีการแสดงบทบาทสมมุติเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสม ครูอาจจะเล่นร่วมกับเด็กเพื่อเป็นแบบของการปฏิบัติที่เหมาะสมในระยะแรก
การแสดงละครโดยใช้หุ่น นำเสนอพฤติกรรมต่างๆ แล้วให้เด็กช่วยกันวิเคราะห์ว่าอะไรเหมาะสม ไม่เหมาะสม และให้เด็กแสนอแนะการปฏิบัติที่เหมาะสม แล้วให้หุ่นแสดงตามคำแนะนำของเด็กอีกครั้ง ครูแทรกทักษะในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งให้แก่เด็ก แล้วแนะนำให้เด็กคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของตนเอง เพื่อนำไปสู่การสร้างวินัยในตนเอง
หลักการพื้นฐานดังกล่าวข้างต้น จะช่วยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาการคาดคะเนปัญหา การวางแผนกิจกรรมประจำวันและมีวิธีการขจัดปัญหาให้น้อยลงได้ ครูก็จะสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนให้มีระเบียบได้ ซึ่งจะทำให้เด็กได้เรียนและทำงานได้อย่างกลมกลืน
การดูแลพฤติกรรมเด็กปฐมวัย
การจัดการเรียนการสอน หรือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย ถึงแม้ครูจะได้ปฏิบัติตามหลักวิชา ไม่ว่าจะศึกษาทำความเข้าใจในพัฒนาการเด็ก จัดสภาพแวดล้อมให้สอดคล้อง กับพัฒนาการเด็ก ตลอดจนดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างทั่วถึงในแต่ละวัน บางครั้งความขัดแย้งก็เกิดขึ้นได้ อาจเกิดจากตัวเด็กเอง จากเพื่อนในห้องเรียน หรือจากครู ซึ่งจะนำไปสู่การมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเด็ก เมื่อเกิดขึ้นครูก็ต้องหาวิธีการที่นำไปสู่การที่จะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อไป
พฤติกรรมที่เป็นปัญหา
การพิจารณาว่าพฤติกรรมของเด็กในเรื่องใดเป็นสิ่งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม และการที่จะให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสมจะทำได้อย่างไร เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ทางการศึกษาปฐมวัย และได้รับความสนใจทั้งจากครูและผู้ปกครอง ครูเข้ามาทำงานใหม่ก็จะกังวลว่าถ้ามีเด็กที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นปัญหาจะทำอย่างไร จะสามารถทำให้เด็กอยู่ในความควบคุมได้หรือไม่ ครูที่มีประสบการณ์อาจจะรู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะดูแลพฤติกรรมของเด็กได้ในทางบวก และเกิดประสิทธิผล ผู้ปกครองก็มีความกังวลในการที่จะดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน
พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เกิดจากการกระทำหรือการแสดงออกของบุคคลหนึ่งที่ไปรบกวนกลุ่มบุคคลหรือบุคคลอื่น โดยมีผลกระทบต่อความรู้สึกหรือเกิดอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของบุคคลอื่น ในบางกรณีก็เป็นผลกระทบต่อตนเองรบกวนตนเองโดยตรง
สุรัสวดี ปูรณโชติ (2538) ได้ทำการศึกษาวิธีที่ควรใช้แก้ไขพฤติกรรมทางสังคม ของเด็กวัยอนุบาลในกรุงเทพมหานคร ผลการวิจัยพบว่า ครูส่วนใหญ่ให้ความหมายของปัญหาพฤติกรรมทางสังคม โดยพิจารณาจากการมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น การรบกวนชั้นเรียน การมีพฤติกรรมไม่สมวัย และไม่เป็นไปตามระเบียบ ข้อตกลงของโรงเรียนของห้องเรียน ส่งผลกระทบต่อการศึกษาลักษณะปัญหาพฤติกรรมทางสังคมของเด็กวัยอนุบาลตามการเรียนรู้ของครู ผลจากแบบสอบถามพบว่า ปัญหาพฤติกรรมทางสังคมที่พบทุกครั้งหรือเกือบทุกครั้งและพบค่อนข้างบ่อยอันดับสูงสุด ได้แก่ ชอบพูดโพล่งขึ้นมา ลุกจากที่นั่ง เดินไปมาตลอดเวลาและชอบแหย่รบกวนการเล่นการทำงานของเพื่อน ผลจากการสัมภาษณ์ พบว่า ปัญหาพฤติกรรมทางสังคมที่ครูพบมากที่สุดเป็นอันดับสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น พูดจาไม่สุภาพ และเล่นรุนแรง ผลจากการสังเกต พบว่า สิ่งที่ครูพบมีลักษณะหลากหลายทั้งที่เป็นปัญหาทางวาจา และทางการกระทำ และสอดคล้องกับข้อมูลจากแบบสอบถามและการสัมภาษณ์
Essa (1998) ได้จัดกลุ่มพฤติกรรมที่เป็นปัญหาไว้ 6 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 พฤติกรรมก้าวร้าวและต่อต้านสังคม เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับ ขว้างของ ทำร้ายผู้อื่น สบถสาบานสาปแช่ง พูดล้อเลียน/ตั้งฉายา ไม่แบ่งปัน การให้ของโดยมีข้อแลกเปลี่ยน การนำของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ไม่ร่วมมือ
กลุ่มที่ 2 พฤติกรรมรบกวน เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับ รบกวนเวลาเมื่อมีการรวมกลุ่ม เดินออกไปจากห้องเรียน วิ่งไปอย่างไม่มีจุดหมายรอบๆ ห้องเรียน ตะโกนในห้องเรียนทิ้งขว้างเพื่อทำให้เกิดเสียง
กลุ่มที่ 3 พฤติกรรมทำลาย เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับฉีกหนังสือ ทำของเล่นแตก เอาของทิ้งลงในโถส้วม ใช้กระดาษอย่างสิ้นเปลือง ทำลายงานของคนอื่น
กลุ่มที่ 4 พฤติกรรมทางอารมณ์และพึ่งพาผู้อื่น เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับร้องไห้ นอนฟาดแข้งฟาดขา ทำปากยื่นปากยาว ทำเสียงเด็กทารก ดูดนิ้ว ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ทำเลอะเสื้อผ้า เกาะติดคนอื่น เรียกร้องความสนใจ ส่งเสียงดัง เล่นอวัยวะเพศ
กลุ่มที่ 5 พฤติกรรมเกี่ยวกับความร่วมมือในกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมในโรงเรียน เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับ ไม่ร่วมกิจกรรม ไม่ร่วมในการเล่นทางสังคม อายเมื่อทำกิจกรรมกลุ่ม เล่นกับของเล่นเพียงชิ้นเดียว ร่วมในกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่นานๆ ครั้ง ร่วมในกิจกรรมการแสดงนานๆ ครั้ง พูดนานๆ ครั้ง ความสนใจสั้น
กลุ่มที่ 6 พฤติกรรมเกี่ยวกับการกิน เป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับกินยากกินมาก กินมูมมาม
การจัดการกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
เมื่อมีปัญหาพฤติกรรมเกิดขึ้นในห้องเรียนในโรงเรียน เป็นความรับผิดชอบของครูที่จะดูแลให้เด็กของตนมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อจะได้ทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้ ซึ่งการที่จะจัดการกับพฤติกรรมต่างๆ นั้น มีวิธีการดำเนินการเสนอแนะได้ ดังนี้
1. การเลือกพฤติกรรมเพื่อการแก้ปัญหา
1.1 ในการแก้ปัญหาพฤติกรรม ครูจะต้องทบทวนว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในห้องเรียนมีอะไรที่ต้องเข้าไปดูแล เขียนรายการพฤติกรรมออกมา จัดลำดับของพฤติกรรมที่ควรดูแล เลือกพฤติกรรมที่ต้องดูแลเป็นอันดับแรกมาแก้ปัญหา ตัวอย่างพฤติกรรม เช่น
1.1.1 พฤติกรรมที่นำไปสู่อันตรายโดยตรงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กอื่น ควรจะดูแลเป็นอันดับแรก เช่น การตี การขว้างของไปยังบุคคลอื่น
1.1.2 พฤติกรรมที่จะทำให้เกิดผลร้ายต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของตนเองและเด็กอื่น เช่น ล้อเลียน ตั้งฉายา อายเมื่อรวมกลุ่ม
1.1.3 พฤติกรรมที่รบกวน เช่น การแสดงอารมณ์โมโห/โกรธ อย่างรุนแรง การวิ่งในห้องเรียน
1.1.4 พฤติกรรมต่างๆ ที่มีผลทางอ้อมต่อสุขภาพ และความปลอดภัย เช่น การขว้างของเล่นเสียหาย
1.1.5 พฤติกรรมทั่วไป เช่น พูดแบบเด็ก ใช้ของสิ้นเปลือง
1.2 เมื่อจัดลำดับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาแล้ว ควรดูแลทีละหนึ่งปัญหาถ้าจำเป็นในเวลาเดียวกันต้องดูแล 2 ปัญหาก็ควรจะได้พิจารณาลักษณะปัญหา คือ สองปัญหามีความคล้ายคลึงกัน กระบวนการก็จะรวมกันได้ง่ายและสองพฤติกรรมตรงกันข้าม เมื่อปัญหาหนึ่งเพิ่มขึ้น อีกปัญหาจะลดลงโดยอัตโนมัติ เมื่อพฤติกรรมลำดับแรกและ/หรือลำดับที่สอง เริ่มดำเนินการและควบคุมได้ จึงเริ่มพฤติกรรมต่อไป
การศึกษาของสุรัสวดี ปูรณโชติ (2538) พบว่า ครูส่วนใหญ่ได้จัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหาพฤติกรรมทางสังคมต่างๆ เรียงตามลำดับก่อนหลังได้ดังนี้ ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่นร้องไห้บ่อยๆ ซึมเศร้าทุกวันหลังเลิกเรียน ซนมากผิดปกติ ไม่อยู่นิ่ง และพูดจาไม่สุภาพโดยพิจารณาถึงความรุนแรง ความเป็นอันตราย การรบกวนชั้นเรียน และการมีปัญหากับผู้ปกครอง
2. การแก้ปัญหาพฤติกรรม
2.1 สิ่งที่พึงกระทำ คือ พยายามหาสาเหตุทุกครั้งว่าทำไม เด็กจึงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ต้องพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อเด็กอย่างรอบคอบบางกรณีอาจจะเกิดจากสถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมของเด็ก ครูต้องพยายามควบคุมสถานการณ์เท่าที่จะทำได้ เช่น ความคาดหวังที่ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก การกระตุ้นที่มากเกินไป ปัญหาจากสุขภาพ ความเครียดของครอบครัว เกิดความเปลี่ยนแปลงต้องปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่
2.2 การวิเคราะห์พฤติกรรม โดยการพิจารณาสิ่งต่างๆ ดังนี้
2.2.1 พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นบ่อยเพียงใด (how often) ระหว่างวัน 1-2 สัปดาห์
2.2.2 เกิดขึ้นเมื่อไร (when) เช่น ก่อนอาหาร ก่อนเลิกเรียน
2.2.3 เกิดขึ้นที่ไหน (where) เช่น การทำงานรวมกลุ่มในห้องเรียน การเล่นนอกห้องเรียน เกิดขึ้นที่บ้านหรือที่สถานศึกษา
2.2.4 ใครเข้ามาเกี่ยวข้อง (who) เด็กหนึ่งคนกับผู้ใหญ่หนึ่งคนหรือผู้ใหญ่หลายคน เด็กหลายคนกับผู้ใหญ่หนึ่งคนหรือผู้ใหญ่หลายคน
2.3 วางแผนเพื่อดำเนินการแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ยุทธศาสตร์ทางบวกเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานกับเด็กปฐมวัย ควรใช้เทคนิคที่หลากหลายในการทำงานกับเด็ก จะได้ผลดีกว่าการใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงวิธีการเดียว เพราะเด็กแต่ละวัย และแต่ละคนไม่เหมือนกัน
อุทุมพร พรายอินทร์ (2542) ได้ศึกษาการจัดการชั้นเรียนของครูอนุบาลในกรุงเทพมหานครพบว่า จากการสัมภาษณ์ครูจำนวน 10 คน ครูทุกคนเห็นว่า การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด การเตรียมกิจกรรมที่เหมาะสม น่าสนใจ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่เพียงพอและตรงกับความต้องการ ช่วยป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ ครูบางคนเห็นว่าบางปัญหาไม่สามารถป้องกันได้ ซึ่งอาจเกิดไปตามสถานการณ์ สำหรับแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ครูส่วนใหญ่มีความเห็นว่าจะต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกันไป ควรให้การดูแลอย่างใกล้ชิด การเตือนกันบ่อยๆ การพูดคุยกับเด็กเป็นการส่วนตัวและการพูดคุยกับผู้ปกครอง พบว่า ทำให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาน้อยลง มีบางส่วนเห็นว่า การลงโทษเพื่อให้เด็กได้รับรู้ถึงความผิดที่ได้ทำ ควรทำบ้าง
2.4 แนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรม โดยการทำให้เด็กเกิดการพัฒนาเป็นวินัยภายในตัวเด็ก การให้เด็กรู้วิธีการแก้ปัญหาจะเป็นผลดีกว่า การที่ทำให้เด็กควบคุมได้เฉพาะภายนอก หรือใช้อำนาจที่ทำให้เด็กสงบไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น
Hipple (1986) ได้นำเสนอข้อแนะนำในการปฏิบัติ เพื่อดูแลพฤติกรรที่ไม่เหมาะสมไว้ดังนี้
1) เน้นทางบวก (Accentuate the positive) ถ้าเด็กมีพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ แนะนำวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม วิธีการทางบวกที่ทดแทนกันได้ ดีกว่าการให้ความสนใจเน้นทางลบในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ตัวอย่าง เด็กโยนบล็อก แนะนำว่าบล็อกใช้สำหรับสร้างสิ่งต่างๆ ถ้าเด็กอยากจะโยนล่ะก็ ให้ไปโยนถุงถั่วหรือลูกบอล
มีทางเลือกทางบวก 2 ทางให้เด็กเลือก คือ สร้างบล็อกหรือโยนสิ่งอื่น
2) เป็นต้นแบบ (Be a “model” model)
เป็นครูก็เป็นรูปแบบที่สำคัญสำหรับเด็ก บางครั้งอาจจะเป็นแบบสำหรับพฤติกรรม ที่ต้องการแก้ไขโดยไม่ได้ตั้งใจ ต้องจำว่าจะเป็นแบบพฤติกรรมที่ต้องการให้เด็กเลียนแบบ ดูซิว่าตัวอย่างที่ 2 จะมีประสิทธิผลเพียงใด
ตัวอย่างที่ 1 เด็กคนหนึ่งผลักเพื่อนเพื่อจะตัดแถวที่เข้าคิวกันอยู่ ครูก็ไปเขย่าเด็กอย่างแรง และตะโกนว่า “ฉันจะไม่ให้เธอเที่ยวผลักเด็กคนอื่นอย่างนี้”
ตัวอย่างที่ 2 มือถือที่ใส่สีรั่ว ต้องใช้อ่างน้ำในห้องเรียน อาจถามไปว่า จะขอความกรุณาใช้อ่างโดยไม่เข้าคิวได้หรือไม่ จะดีกว่าลัดคิวเพื่อนๆที่กำลังเข้าแถวรอคิวของตนเองอยู่อย่างอดทน เมื่อเพื่อนตกลงกับการขอร้อง ต้องไม่ลืมที่จะขอบคุณเพื่อน
3) พฤติกรรมที่เป็นจุดเด่น (Spotlight behavioral consequences)
เด็กเล็กจะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ต้องช่วยเด็กจากการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางไปสู่พฤติกรรมทางสังคมโดยให้เด็กได้วิเคราะห์ผลของการกระทำของตนเอง คุยกับเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมของตน กระตุ้นให้คิดเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อผู้อื่น สิ่งของและเหตุการณ์ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาทางด้านความสัมพันธ์ของเหตุและผล
ตัวอย่าง เด็กชอบทำลายของ เอาตัวมาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ “อะไรจะเกิดขึ้นถ้าของ ทุกชิ้นถูกทำลาย?” กระตุ้นให้คิดเกี่ยวกับผลกระทบต่างๆจากพฤติกรรมของเขา และเสนอแนะพฤติกรรมอื่นๆ ที่เป็นทางเลือกด้วยตนเอง
4) ส่งสาร “ฉัน” (Send “I – message”) ถ่ายทอดความรู้สึกไปสู่เด็ก
การใช้วิธีการนี้ พัฒนาการขึ้นมาโดย Thomas Gordon เพื่อจัดการกับพฤติกรรม ที่เป็นปัญหาสำหรับครู I – message เป็นข้อความส่วนตัวโดยครู มี 3 ส่วน คือ การบรรยายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตามจริง ผลกระทบที่ได้รับ และความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้น การส่งสารนี้ เป็นการสื่อสารรูปแบบ ที่เปิดเผยความรู้สึกของท่าน เพื่อจะยกระดับสามัญสำนึกของเด็ก เกี่ยวกับผลกระทบจากพฤติกรรมของเขา
ตัวอย่าง คุยกันถึงปัญหากับนักเรียนเกี่ยวกับ พฤติกรรมการทำความสะอาด (clean – up behaviors) “เมื่อทำงานกับดินเหนียวเสร็จแล้วทิ้งเอาไว้ ดินจะแห้งและครูก็จะต้องผสมดินใหม่ซึ่งใช้เวลานาน ครูไม่ชอบเลยที่จะต้องทำดินเหนียวใหม่ทุกวัน” แล้วก็ให้เด็กช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร
5) ช่วยเด็กให้ผ่านพ้นอุปสรรค (Help children hurdle)
บางครั้งเราสามารถช่วยเด็กให้พ้นจากความคับข้องใจ หรือขาดการควบคุมตนเอง โดยการให้คำแนะนำง่ายๆ ใช้คำถามหรือท่าทางในเวลาที่เหมาะสม ทุกคนต้องการความช่วยเหลือบ้างในบางครั้ง
ตัวอย่าง เด็กกระทืบเท้าโกรธมากที่พยายามหลายครั้งก็ดึงรองเท้าบู๊ตขึ้นมาไม่ได้ จากสถานการณ์นี้ เราก็อาจจะเข้าไปช่วยโดยการเริ่มต้นดึงรองเท้าขึ้นมาให้
6) สอน (Instruct)
เด็กบางคนทำตัวไม่เหมาะสม เพราะไม่ทราบว่าคนอื่นคาดหวังอะไรจากเขา อะไร ที่ดูชัดเจนและง่ายสำหรับเราอาจจะไม่ง่ายสำหรับเด็ก จุดที่น่าคิดคือ อะไรที่สงสัย จงสอน ( When in doubt, teach them how.)
ตัวอย่าง มีอุปกรณ์คณิตศาสตร์ใหม่ แนะนำอุปกรณ์ทำให้ดูในส่วนที่จะทำให้เด็กทำต่อไปได้ แล้วสังเกตการใช้ของเด็ก เพื่อจะได้พิจารณาว่าจำเป็นที่จะสอนต่อไปหรือไม่
7) จำกัดข้อยกเว้น (Limit options)
บางครั้งเด็กได้รับการกระตุ้นโดยมีตัวเลือกมากไป เมื่อเด็กเลือกแล้ว บางครั้งก็สามารถจัดการได้ดี อาจจะมีเวลามาก มีที่มาก มีอุปกรณ์มาก มีกิจกรรมมากอยู่ในมือ รู้สึกว่ามีภาระมาก/หนัก สำหรับเด็กที่เพิ่งจะเข้ามาในโรงเรียนเป็นครั้งแรก แน่นอนเด็กจะต้องเรียนรู้การเลือกเมื่อถึงวุฒิภาวะ แต่ปัญหาปัจจุบันอาจจะต้องการการจำกัดของทางเลือก
ตัวอย่าง เด็กที่ไม่ค่อยจะอยู่ทำงานให้เสร็จ จะย้ายจากศูนย์การเรียนหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง หยิบของออกมาแล้วก็ย้ายต่อไป คงต้องเข้าไปขอให้เลือกกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ช่วยเด็กในจุดเริ่มต้น และถ้าจำเป็น ดูแลเขาจนลงมือทำงานได้เอง
8) พฤติกรรมเบี่ยงเบน (Divert behavior)
พฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับบางอย่าง เปลี่ยนรวดเร็วหรือขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะ ในเรื่องนี้สิ่งที่ทำได้มีประสิทธิผล คือ ยกเลิกสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยให้เด็กไปสู่กิจกรรมอื่น
ตัวอย่าง เด็กสองคน เป็นเพื่อนรักกัน บางครั้งมีการกระทบกระทั่งกัน ในทางที่ผิด ในเหตุการณ์เช่นนี้ก็ต้องเข้าไปขวางก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เกินแก้ไข และแนะนำให้ไปทำกิจกรรมที่แตกต่างกันไป
9) ไม่สนใจบางพฤติกรรม (Ignore behavior)
บางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับครู คือ ทำเป็นไม่สนใจพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ถึงแม้จะยากที่จะทำ แต่ก็จะให้ผลทางบวกออกมาด้วยเหตุผลที่ว่า
(1) พฤติกรรมที่เราไม่สนใจ ก็จะไม่ถูกกระตุ้นให้ทำอีก และพฤติกรรมที่ไม่ได้รับความสนใจก็มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงหรือหยุดไป
(มีข้อแม้อยู่ 1 กรณี คือ พฤติกรรมก้าวร้าว อาจจะไม่ลดลงเมื่อไม่ได้รับความสนใจ ความเป็นจริงอาจจะเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลนี้ ก็จะต้องเข้าไปจัดการด้วยวิธีการอื่น)
(2) คุณค่าที่สอง ในการไม่สนใจบางพฤติกรรม ก็คือ บางครั้งเด็กสามารถที่จะแก้ไข
ปัญหาได้ด้วยตนเองเมื่อให้โอกาส ควรใช้คุณค่าของคน หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเข้ามาในกระบวนการ
ตัวอย่าง เด็ก 2 คนโต้เถียงกันเรื่องการเล่นของเล่น สังเกตเด็กอย่างเงียบๆ แล้วตัดสินใจไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เมื่อเด็กสามารถตกลงกันได้ในการจะสลับกันเข้าไปเล่น และเด็กพอใจ
10) กระตุ้นสนับสนุนพฤติกรรมที่เหมาะสม (Reinforce appropriate behavior)
ครูจะได้กระตุ้นพฤติกรรมทั้งด้วยรู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว (consciously and unconsciously) สำหรับพฤติกรรมที่ทั้งดีและไม่ดี แต่จุดสำคัญสำหรับครู คือ ต้องรู้สึกตัวในการกระตุ้นพฤติกรรมที่ท่านต้องการเห็นทำซ้ำ จะโชคร้ายมาก ถ้าครูเองไม่ได้ระวังว่าตนเองมีผลกระทบในฐานะผู้กระตุ้น อาจจะไปให้รางวัลกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ตัวอย่าง เด็กที่ปกติชอบแสดงออกในระหว่างกิจกรรมกลุ่มและมีการปฏิสัมพันธ์ได้ดีตลอดวัน การให้แรงกระตุ้นทันทีจะทำให้พฤติกรรมของเขาดำเนินต่อไปได้อีกยาวนาน
11) สนับสนุนพฤติกรรมคนข้างเคียง (Reinforce adjacent behavior)
บางครั้งลำบากในการกระตุ้นพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพราะทำได้ยาก วิธีการที่ดีถัดไปคือ กระตุ้นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ของเพื่อนข้างเคียง ด้วยหวังว่าเด็กที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะเลียนแบบเพื่อนด้วยต้องการคำชมเชยจากครูเหมือนเพื่อน แต่วิธีการนี้จะต้องระวังไม่เอาเพื่อนไปเปรียบเทียบกัน เช่น ทำไมไม่นั่งลงเหมือน….
ตัวอย่าง ถึงแม้จะมีเด็กบางคนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในระหว่างกิจกรรมของ ชั้นเรียน แต่เด็กส่วนใหญ่ร่วมกิจกรรมอย่างดี ก็ควรชมเชยกลุ่มว่า เป็นผู้ทำงานได้ดี วิจารณ์การทำงานที่จริงจังของเด็กในวันนั้นที่ส่วนใหญ่ตั้งใจทำกัน (อาจจะแนะนำทางที่เป็นไปได้ว่าใครที่ทำงานเสร็จแล้ว อาจจะใช้เวลาที่เหลือในการทำกิจกรรมเสรี (ให้เลือกเอง))
12) นำทางพฤติกรรม (Cue behavior)
เด็กเล็กๆ ต้องการความมีระบบระเบียบในชีวิต กิจวัตรประจำวันช่วยทำให้มีความมั่นคงเกิดขึ้น ช่วยทำให้เด็กปรับตัวมีความมั่นใจในสภาพการณ์ใหม่ การที่จะมีข้อกำหนดเอาไว้ช่วยให้รู้ว่าอะไรบ้างจะเกิดขึ้น มีสัญญาณให้รู้ว่าจะทำอะไร เช่น ช่วงการเปลี่ยนเวลาระหว่างห้องเรียนหรือกิจกรรม ไฟกระพริบ เสียงเปียโน การยกมือเป็นสัญญาณ
ตัวอย่าง เป็นเวลาที่จะต้องเก็บอุปกรณ์ในชั่วโมงกิจกรรม เด็กจะหยุดการทำงานเมื่อได้ยิน “Clean Up” เสียงจากเปียโน
13) ดูแลพฤติกรรมต่างๆ (Monitor behavior)
ครูจะจัดการดูแลพฤติกรรมต่างๆ ได้หลายวิธีการ อาจจะใช้ภาษาท่าทาง (body language) หรือใช้สัญญาณต่างๆ สื่อสารให้รู้ (nonverbal communication) การเลิกคิ้ว ทำท่าทางแปลกใจด้วยสายตา บางทีสื่อสารกับเด็กได้ดีกว่าถ้อยคำ การวางมือบนไหล่เด็ก การเดินผ่านไปในระหว่างเด็ก การยืนเงียบในท่ามกลางปัญหา และอาจจะพูดว่า “ครูอยู่นี่แล้ว มีอะไรจะให้ครูช่วยหรือไม่”
ตัวอย่าง เด็กสองคนจะชอบพูดคุยสังคมกันตลอดเวลา ครูอาจจะปรายตาไปที่เด็กทั้งสอง เหมือนกับจะพูดว่า กลับไปทำงานได้แล้ว
14) การให้หยุดพัก (Give a breather)
บางครั้งต้องให้เด็กได้ออกไปจากสภาพการณ์ที่ก้าวร้าว น่าตกใจ การออกไปหรือหยุดพักไปชั่วคราวจากเหตุการณ์ และให้เด็กได้คิดว่าเขาจะต้องควบคุมตนเองถ้าต้องการเข้าไปทำงานกับกลุ่ม การให้พักไม่ใช่การลงโทษเด็กโดยการเอาไปไว้ในห้องมืด หรือ ในที่ๆ น่ากลัว แต่จริงๆ คือการให้ไปทำอะไรที่ตนเองเข้าไปทำได้เอง
ตัวอย่าง เด็กมาโรงเรียนด้วยมีความคับข้องใจ เด็กจะเริ่มต้นด้วยความก้าวร้าวกับเพื่อน ก็แนะนำให้เด็กไปทำงานที่มุมของห้องเรียนที่เงียบๆ เลือกทำกิจกรรมเองจนกว่าจะสงบ และคิดว่าจะทำงานได้ดีกับกลุ่ม
15) ยับยั้งพฤติกรรม (Restrain behavior)
หยุดพฤติกรรมเด็กจำเป็นในบางครั้ง เมื่อเด็กโกรธและมีอาการที่จะเป็นอันตราย ต่อตนเองหรือคนอื่น ก็ต้องหยุดพฤติกรรมนั้น คงต้องใช้ทั้งคำพูดและจับตัวเด็กเอาไว้ “ฉันจะปล่อย ให้เธอทำร้ายตัวเองและเพื่อนๆไม่ได้” การเข้าไปหาเด็กไม่ใช่การไปทำร้ายร่างกายด้วยการตี เขย่า หรือผลักเด็ก แต่เป็นการจับให้เด็กสงบ
ตัวอย่าง ในสนามเด็กเล่น เด็ก 2 คนกำลังต่อสู้กันอยู่ แยกเด็ก จับคนหนึ่งเอาไว้จนกว่าเด็กจะสงบ
ข้อเสนอแนะข้างต้น น่าจะทำให้เด็กมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม และคงจะช่วยในการพัฒนาให้เกิดวินัยขึ้นภายในตัวเด็ก
นอกจากนี้ Krumboltz, J. and Krumboltz, H.(1993) ได้นำเสนอวิธีการดูแลพฤติกรรมเด็กไว้ 15 ข้อ โดยแบ่งตามประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
การพัฒนาพฤติกรรมใหม่ (To develop a new behavior)
1. หลักการปฏิบัติตามลำดับ (Successive Approximation Principle)
สอนเด็กให้กระทำในสิ่งที่ไม่ค่อยจะทำ หรือไม่เคยประพฤติมาก่อน เสริมพลัง (reward) ให้ทำขั้นต่อไปจนถึงพฤติกรรมสุดท้าย
2. หลักการให้แรงเสริมต่อเนื่อง (Continuous Reinforcement Principle)
พัฒนาพฤติกรรมใหม่ที่เด็กยังไม่เคยมี เตรียมที่จะเสริมพลัง เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องในแต่ละครั้ง
3. หลักการแรงเสริมทางลบ (Negative Reinforcement)
เพื่อเพิ่มพฤติกรรมของเด็กในหนทางเฉพาะ อาจจะเตรียมเด็กให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดผลเสีย โดยปรับปรุงพฤติกรรมของตน หรือ การมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
4. หลักการทำตามแบบ (Modeling Principle)
สอนวิถีทางใหม่ของพฤติกรรม ให้เด็กสังเกตคนที่มีพฤติกรรมที่ถูกต้องพึงประสงค์
5. หลักการให้คำแนะนำ/แนวทาง (Cueing Principle)
สอนเด็กให้จดจำถึงการปฏิบัติในเวลาที่เหมาะสม ตระเตรียมให้ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติที่ถูกต้องก่อนลงมือปฏิบัติ ดีกว่าที่จะไปแนะนำเมื่อทำผิดแล้ว
6. หลักการความแตกต่าง (Discrimination Principle)
สอนให้เด็กแสดงออกในวิถีทางเฉพาะภายใต้กลุ่มของสถานการณ์กลุ่มหนึ่ง ช่วยให้แนวทางที่จะเห็นความแตกต่างของสถานการณ์และให้รางวัล เมื่อแสดงออกได้เหมาะสมตามแนวทาง
การทำให้พฤติกรรมใหม่ดำรงอยู่ (To strengthen a new behavior)
7. หลักการในการลดแรงเสริม (Decreasing Reinforcement Principle)
กระตุ้นให้เด็กคงพฤติกรรมโดยให้รางวัลเพียงนิดหน่อย หรือไม่ให้เลย อาจจะใช้ระยะเวลาหรือ ให้ตอบสนองในทางที่ถูกต้อง ก่อนที่จะให้รางวัลพฤติกรรมที่ถูกต้อง
8. หลักการเปลี่ยนแปลงแรงเสริม (Variable Reinforcement Principle)
เพื่อปรับปรุงหรือเพิ่มการกระทำของเด็กในบางกิจกรรม จัดให้เด็กได้รับรางวัลเป็นระยะๆ
การรักษาพฤติกรรมที่ได้ทำให้เกิดขึ้น (To maintain an established behavior)
9. หลักการสับเปลี่ยน (Substitution Principle)
เปลี่ยนเป็นแรงกระตุ้นเมื่อรางวัลที่ใช้อยู่เดิมไม่มีประสิทธิผลที่จะควบคุมพฤติกรรมได้ต่อไป
การหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (To stop inappropriate behavior)
10. หลักการทำให้เบื่อ (Satiation Principle)
เพื่อหยุดพฤติกรรมของเด็กในบางกรณี อาจจะต้องจัดสภาพการณ์เพื่อให้เด็กได้คงทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่ายไปเอง
11. หลักการหยุดพฤติกรรม (Extinction Principle)
เพื่อหยุดพฤติกรรมของเด็กในบางกรณี อาจจะต้องจัดสภาพการณ์ที่เด็กจะไม่ได้รับรางวัลจากการมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น
12. หลักการทางเลือกที่ขัดแย้งกัน (Incompatible Alternative Principle)
เพื่อหยุดพฤติกรรมของเด็กในบางกรณี อาจจะให้รางวัลการกระทำอีกทางหนึ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ในเวลาเดียวกันกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
13. หลักการลงโทษ (Punishment Principle)
เพื่อหยุดพฤติกรรมของเด็กในบางวิถีทาง ให้การกระตุ้นในทางตรงกันข้ามทันทีภายหลังเกิดพฤติกรรมนั้น เมื่อการลงโทษจะเป็นการทำให้เกิดความรู้สึกมุ่งร้ายและก้าวร้าว จึงไม่ควรใช้บ่อยๆ และควรจะใช้ร่วมกับแรงเสริมอื่น
การปรับพฤติกรรมทางอารมณ์ (To modify emotional behavior)
14. หลักการหลีกเลี่ยง (Avoidance Principle)
สอนเด็กให้หลีกเลี่ยงบางสถานการณ์ ให้เด็กได้เข้าใจสถานการณ์ที่ควรหลีกเลี่ยง
15. ลดความกลัว (Fear Reduction Principle)
ช่วยให้เด็กเอาชนะความกลัว ด้วยการที่ค่อยๆ เข้าไปสู่เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดความกลัวขณะที่เด็กที่มีความสบายใจ ผ่อนคลาย รู้สึกมั่นคง
ข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น คงเป็นแนวทางที่ดีสำหรับการปฏิบัติของครูในการดูแลพฤติกรรมของเด็ก เห็นแนวทางในการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ที่จะนำไปสู่การทำให้เด็กมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาให้เกิดวินัยขึ้นในตนเอง
การสร้างวินัยให้กับเด็กปฐมวัย
การสอนเด็กไม่ว่าระดับชั้นใด ปัญหาเรื่องวินัยจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ การสอนเด็กให้ทำงานกับคนอื่นและจัดการปัญหาต่างๆ ได้ในทางบวกนั้น ถือว่าเป็นงานสำคัญของครู การทีครูคาดหวังว่าเด็กมาถึงโรงเรียน จะมีสังคมดี เข้ากับทุกคนได้ดี ไม่มีปัญหา ครูก็คงจะต้องผิดหวังอย่างแน่นอนสิ่งที่ครูต้องทำคือ การศึกษาถึงวิธีการและเทคนิคที่ดีในการสร้างวินัยให้กับเด็ก การจะทำให้เด็กควบคุมตนเองให้มีวินัยได้
Modica (1992) กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของวินัย ไม่ใช่ทำให้ชีวิตของการเป็นครูดูง่ายขึ้นแต่จริงๆ แล้วมุ่งหวังที่จะให้เด็กได้แนวทางในการประพฤติปฏิบัติตน โดยการปฏิบัตินั้นซึมซาบเข้าไปอยู่ในตัวของเด็ก และเด็กควบคุมตนเองในการทำสิ่งต่างได้ตามความคาดหวัง และเป็นคนที่มีความสุข
Fuhr (1993) ได้พูดถึงเด็กว่า เด็กส่วนใหญ่ต้องการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีหลักการข้อตกลง กฎระเบียบ ต้องการทราบว่าคนคาดหวังอะไรจากเขา เด็กต้องการคนที่เขาเคารพ มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา บอกให้เขาทราบว่าขอบเขตที่กำหนดมีแค่ไหน จะได้ดูแลพฤติกรรมของตนเองภายในขอบเขตที่กำหนด เด็กต้องการมีวินัย ดังนั้นครูควรจะสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ รู้ว่าจะจัดการกับวินัยอย่างไร ถ้าไม่มีการควบคุมวินัย เด็กก็จะแสดงออกด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น เรียกร้องความสนใจ ปฏิเสธที่จะทำตามข้อตกลง มาสาย การจัดการกับวินัยจะต้องมีความสม่ำเสมอและยุติธรรม คุณลักษณะของผู้ที่จะจัดการกับวินัยได้อย่างมีประสิทธิผล คือ เตรียมพร้อมเสมอ เอาใจใส่สนใจนักเรียน เป็นรูปแบบที่กระตุ้นได้ เป็นผู้ที่มีความรอบรู้และกระตือรือร้น และชื่อว่านักเรียนทุกคนสามารถสอนได้ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างไร และทำไม
ในเรื่องของวินัยจะมีข้อถกเถียงและโยนความรับผิดชอบซึ่งกันและกันเสมอ ระหว่างบ้าน และโรงเรียน คือ ระหว่างครูกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองคาดหวังว่าครูจะเป็นผู้จัดการกับวินัยที่โรงเรียนและหวังว่าความมีวินัยของเด็กจะติดตามมาที่บ้าน โดยผู้ปกครองไม่ลำบากใจ ครูก็มองว่าผู้ปกครองควรจะได้ควบคุมดูแลเด็กที่บ้านให้รู้จักควบคุมตนเองและมีวินัยในบ้าน มาถึงโรงเรียนเด็กก็มีวินัยพื้นฐานมาพอที่จะปรับตนเองให้มีวินัยในโรงเรียนได้ ตามความเป็นจริงแล้ว เรื่องของวินัยคงไม่ใช่ สูตรสำเร็จว่า บ้านหรือโรงเรียนจะทำสำเร็จเพียงฝ่ายเดียว ความร่วมมือกันและประสานแนวคิดระหว่างบ้านและโรงเรียน น่าจะเป็นตัวที่ช่วยให้เด็กได้รู้จักควบคุมตนเอง และมีวินัยได้ดีกว่าพึ่งที่ใด ที่หนึ่งแต่เพียงที่เดียว
การดำเนินการเพื่อสร้างวินัยให้แก่เด็กทำได้ดังนี้
1. การสร้างวินัยด้วยวิธีการทางบวก
การสูญเสียเวลาไปเพื่อการสร้างวินัยให้กับเด็ก ในระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะจะช่วยประหยัดเวลาได้ในระยะยาว เนื่องจากเมื่อเด็กมีความเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นว่า เด็กได้รับความคาดหวังว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร ผลจากการที่ไม่ทำตามข้อตกลงที่กำหนด อะไร จะเกิดขึ้นบ้างและข้อสำคัญเด็กมีโอกาสในการเลือกแนวทางปฏิบัติสัมพันธ์กับความแตกต่างระหว่างบุคคลที่แต่ละคนแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบในการเรียนรู้ พื้นฐานทางด้านจิตใจ อารมณ์ ครอบครัว เมื่อเด็กมีความเข้าใจแล้ว ก็จะง่ายในการควบคุมตนเองที่จะทำตามนั้น และในที่สุดก็จะเป็นผู้ที่มีวินัยโดยไม่ต้องมีการควบคุมเข้มจากครู เหมือนนักโทษถูกคุมจากผู้คุม
หลายคนมักจะอ้างว่า เสียเวลามากเกินไปในการที่จะใช้เหตุใช้ผล ในการที่จะ สร้างวินัยให้แก่เด็ก สู้ตีหนเดียวหยุดพฤติกรรมไปได้เลยจะดีกว่า จริงๆ แล้วในเรื่องนี้มีข้อโต้แย้ง ในวงการศึกษาที่กว้างขวางทีเดียว ในเรื่องวิธีการ แก้ปัญหาพฤติกรรมของเด็ก เพื่อนำไปสู่การสร้างวินัยให้เด็ก บางกลุ่มเห็นด้วยกับวิธีการจัดการในทางลบ คือ เกิดปัญหาใช้วิธีการรุนแรงครั้งเดียวเงียบและยุติไปเลย ซึ่งก็อาจจะยุติได้จริงในตอนนั้นชั่วคราว และเป็นครั้งคราวไป บางกลุ่มเห็นด้วยกับวิธีการในการจัดการทางบวก คือ มีเทคนิคในการจัดการเรื่องของวินัย บอกความคาดหวังให้เด็กทราบ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น จะใช้การชี้แจง หาสาเหตุ ร่วมกันคิดหาทางเลือกที่จะปฏิบัติได้ ซึ่งกลุ่มนี้ยืนยันว่าจะสร้างความคงทน นำไปสู่การควบคุมตนเอง และเด็กจะมีวินัยได้เอง
ถึงแม้ว่า จะมีแนวคิดที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ยอมรับวิธีการทางบวกในทางสร้างสรรค์ Hipple (1986) ได้ทำการสนับสนุนการทำงานกับเด็กด้วยวิธีการทางบวก โดยยกตัวอย่างให้เห็นถึงความแตกต่างของการใช้วิธีการทางบวก และวิธีการทางลบนั้นว่า ครูที่ไม่เคยจะพูดจาเยาะเย้ยถากถางเด็กเลย ก็สามารถจัดการกับห้องเรียนได้ดี ส่วนครูที่คอยดุด่าว่าเด็กหรือส่งเสียงดังกับเด็ก แต่เด็กในห้องก็ยังคงไม่ปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะว่า วิธีการสร้างวินัยให้แก่เด็กนั้นควรจะขึ้นอยู่กับข้อตกลงเบื้องต้นที่ว่า เมื่อมีพฤติกรรมที่มีปัญหาเกิดขึ้นควรจะมีการศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมนั้นทุกขั้น ตามด้วยการใช้วิธีการทางบวก หรือใช้เทคนิคที่เป็นกลาง จะได้ผลดีกว่าการแนะนำเด็กด้วยวิธีการทางลบ คือ การใช้วิธีการรุนแรงกับเด็ก เทคนิค ที่ใช้ก็ควรมีวิธีการหลากหลายดีกว่าการใช้เทคนิควิธีการเดียว เพราะเด็กในแต่ละวัยไม่เหมือนกัน และการที่จะสร้างวินัยเกิดขึ้นในแต่ละคนนั้น จุดสำคัญคือ ต้องทำให้พัฒนาเป็นพฤติกรรมภายในตัวเด็ก การให้รู้จักแก้ปัญหาจะนำมาซึ่งผลดีมากกว่าการใช้อำนาจ ที่จะทำให้เด็กสงบได้เพียงชั่วคราว
2. แนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างวินัยสำหรับเด็กปฐมวัย
2.1 จัดทำข้อตกลงในการปฏิบัติตนภายในห้องเรียน เพื่อนักเรียนจะได้ทราบความคาดหวังของพฤติกรรมนักเรียน โดยข้อตกลงต้องเป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนเมื่อมีการทำผิดข้อตกลง ก็มีการทบทวนด้วยวิธีการใหม่ เพื่อจะได้ไม่มีการบ่น พูดซ้ำซากพร่ำเพรื่อชวนให้เกิดความเบื่อหน่าย และมีอารมณ์อยากต่อต้าน
2.2 เมื่อมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นศึกษาปัญหาให้ชัดเจน แล้วช่วยกันคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีวิถีทางในการแก้ปัญหาหลากหลาย โดยมุ่งไปที่จุดหมายเดียวกัน คือ แก้ปัญหานั้นได้ เพื่อเป็นแนวทางในการให้เด็กคิดแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองต่อไป พฤติกรรมที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้ากิจกรรมในชั้นเรียนนั้นทำสิ่งที่ซ้ำๆ ไม่น่าสนใจต่ำกว่าความสามารถของเด็กหรือสูงกว่าความสามารถของเด็กที่จะทำได้สำเร็จ เด็กก็จะหาทางออกไปทำอย่างอื่น ที่จะก่อให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมตามมา ดังนั้น ต้องศึกษาหาสาเหตุของพฤติกรรมให้พบก่อนจึงจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด
2.3 ครูเป็นแบบอย่างให้กับเด็กได้ มีข้อตกลงในการปฏิบัติอย่างไร ครูควรจะเป็นตัวอย่างในเรื่องเหล่านั้นสำหรับเด็กได้ ไม่ใช่ครูแนะนำให้เด็กปฏิบัติอย่างหนึ่ง แต่ครูเองปฏิบัติอีกอย่างตรงกันข้ามกัน ครูสอนให้เด็กรู้จักพูดจาดีๆ กับเพื่อน รู้จักควบคุมอารมณ์ไม่โกรธเพื่อนและส่งเสียงดัง ทุบตี ทะเลาะกัน แต่เมื่อเด็กทำผิด ครูเองจับเด็กเขย่า ตะคอก ขู่เด็กเสียงดัง หรือครูมีปัญหากันเอง ทะเลาะกันเสียงดัง ก็คงจะขัดกับที่ครูแนะนำเด็กเอาไว้ เด็กก็คงจะงงเกิดความสับสนในใจ ว่าจะทำอย่างไร ทำตามที่ครูแนะนำไว้ หรือทำตามตัวอย่างจริงที่ครูปฏิบัติอยู่คือ ครูทำในสิ่งที่ไม่อยากให้นักเรียนทำ
2.4 มีความสม่ำเสมอในการปฏิบัติต่อเด็กทุกคนโดยเท่าเทียมกัน มีความยุติธรรม ในการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ด้วยเหตุผลหลักการ ตามข้อตกลงเป็นจุดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ของใคร เอาจริง ทำจริง ก็จะได้ผลจริง ถ้าครูทำได้ เด็กจะศรัทธาในตัวครู วินัยก็จะเกิดตามมา บางครั้งมีกรณีทำผิดเกิดขึ้น นักเรียนกลุ่มหนึ่งถูกลงโทษ อีกกลุ่มหนึ่งมีความผิดกรณีเดียวกัน ครูเพิกเฉยเพราะในกลุ่มล้วนแล้วแต่เป็นลูกของผู้มีอิทธิพล ผู้มีพระคุณของตนเองหรือโรงเรียน ถ้าทำเช่นนี้เมื่อไหร่ เด็กทั้ง 2 กลุ่ม ก็คงจะไม่เคารพศรัทธาในตัวครู กลุ่มแรกก็จะเกิดความคิดมุ่งร้าย มองเห็นความไม่ยุติธรรมความไม่สม่ำเสมอของครู เพราะครูเลือกปฏิบัติ อีกกลุ่มจะได้ใจทำอีก และไม่เกิดการเรียนรู้ที่จะทำตนให้มีวินัย เพราะว่าไม่เข้าใจแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เนื่องจากไม่มีใครกล้าแตะต้อง กล้าทำอะไร คงจะต้องอยู่ในโลกมืดต่อไป และปัญหาพฤติกรรมจะยิ่งมีมากขึ้นในวัยรุ่น เนื่องจากไม่ได้มีการปูพื้นฐานการปฏิบัติในแนวทางที่เหมาะสมในวัยเด็ก
เมื่อมีกรณีต้องตักเตือนเด็กไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม ข้อเตือนใจสำหรับครู คือ ไม่ควรนำเด็กมาเปรียบเทียบกันว่า ทำไมคนนี้จึงไม่ทำตัวเหมือนคนนั้น เพราะเป็นการสร้างความรู้สึกมุ่งร้ายให้กับเด็ก ทั้งต่อตัวเพื่อนที่ได้รับการเปรียบเทียบ หรือเพื่อนที่ได้รับการชมเชยเสมอๆ รวมทั้งตัวครู เองด้วย การเปรียบเทียบควรจะเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ร่วมกัน บ่อยครั้งที่ครูจะเผลอพูดว่า “…เมื่อไหร่เธอจะทำตัวให้เรียบร้อยน่ารักเสียที ดูซิ…เขาทำตัวได้ดีมากสม่ำเสมอครูชื่นชมทุกคน ถ้าเธอทำตัวได้ครึ่งหนึ่งของเขา ห้องก็คงจะสงบกว่านี้ เธอนี่ไม่รู้อะไร น่าเบื่อ…” ถ้ามีการพูดแบบนี้ซ้ำๆ ไม่นาน กรณีปัญหาระหว่างเด็กที่ถูกเปรียบเทียบกัน คงจะเกิดขึ้น
2.5 ปรับเปลี่ยนเทคนิค ในการจัดการเรื่องวินัยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ของแต่ละวัย เพราะเด็กแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน เทคนิคเดิมที่เคยใช้มาแล้ว อาจจะใช้ไม่ได้ ในอีกวัยหนึ่ง
2.6 ให้เด็กรู้แผนงานในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ เพื่อเด็กจะได้รู้สึกมั่นคง เพราะได้รู้ว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างในวันนั้น สัปดาห์นั้น ช่วยให้ได้เตรียมตัวเตรียมใจ รู้อะไรคือ ความคาดหวังที่มีต่อตนในการเรียน ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ จะได้ควบคุมตนเองในการเข้าไปร่วมมือทำกิจกรรมต่างๆ ตามแผนงานที่กำหนด หรือตามข้อตกลงที่กำหนด การมีป้ายประกาศ แจ้งให้ทราบ ประกอบกับการมีสัญญาณ สัญลักษณ์ต่างๆที่ช่วยฝึกการดำเนินการตามแผนงาน จะช่วยได้ดีทีเดียว
2.7 เมื่อมีพฤติกรรมต่างๆ เกิดขึ้นที่เรียกร้องความสนใจจากครูตลอดเวลา ครูอาจจะต้องใช้วิธีการเมินเฉยไม่สนใจ ถ้าครูทราบว่าพฤติกรรมนั้นไม่มีอันตรายใดๆ เด็กทำเพื่ออยากให้ครู ให้เพื่อนสนใจ การไม่ให้ความสนใจ บางครั้งก็ช่วยหยุดพฤติกรรมนั้นๆ ได้ดีทีเดียว ในทำนองเดียวกัน ถ้ามีพฤติกรรมอะไรที่ครูคิดว่าเป็นอันตรายต่อเด็ก ต่อบุคคลอื่น ก็ต้องเข้าไปจัดการทันที หยุดพฤติกรรมนั้น เมื่อเด็กสงบแล้วจึงพูดด้วย สอบถามสาเหตุ และช่วยกันคิดหาแนวทาง ในการแก้ปัญหานั้นๆ
บางครั้งการกระทำต่างๆ ของเด็ก สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกคน ครูต้องสื่อสารกับเด็กให้ตรงประเด็น เปิดเผยความรู้สึกของครู ของเพื่อนเพื่อยกระดับจิตสำนึกของเด็ก
2.8 สิ่งแวดล้อมที่ดีจะช่วยการจัดการกับวินัยได้ สภาพแวดล้อมภายในห้องที่อบอุ่น เต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะช่วยทำให้เด็กมีจิตที่สงบ ทำงานต่างๆ ผ่านไปด้วยดี เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ต้องการแก้ไข การใช้กลุ่มเพื่อนในห้องเป็นสื่อช่วยในการรักษาวินัยในห้องเรียนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เด็กจะดูแลกันเอง ให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในกรอบที่ตกลงกันไว้ได้ บางเรื่องเด็กช่วยกันเอง ดูแลกันเอง ผลที่ได้ออกมาจะดีกว่าผู้ใหญ่ไปคอยกำกับ
2.9 มีมุมสงบให้เด็กได้มีเวลาไปนั่งสงบจิตสงบใจ เมื่อเกิดอารมณ์เสีย ไม่พอใจ หรือเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในห้อง โดยมุมนี้ ไม่ใช่มุมทำโทษแต่เป็นมุมที่จะให้เด็กเข้าไปนั่งทำใจให้สงบ โดยไม่มีใครเข้าไปรบกวนสมาธิ อาจจะทำเป็นบ้านหลังเล็กๆ ในห้องเรียน เด็กโมโหไม่พอใจจะเข้าไปนั่ง เป็นที่รู้กันในห้องว่าเพื่อนคนอื่นจะไม่เข้าไปรบกวน พอเด็กรู้สึกว่า สบายใจ เด็กก็จะเดินออกมาเอง และเข้าร่วมกิจกรรมของห้องเรียนต่อไป
นอกจากนี้ ในกรณีที่เด็กควบคุมตนเองไม่ได้ และไม่อยู่ในสภาพที่จะอธิบาย สาเหตุได้ การให้เวลานอกก็จะช่วยเด็กได้ Miller (1986) ได้กล่าวถึงเวลานอกว่า การใช้เวลานอกนั้น จะต้องให้ประสบการณ์ทางบวกกับเด็กคือ เวลานอกไม่ใช่การลงโทษ เด็กไม่ควรจะได้รับการขู่ให้เกิดความกลัวในเรื่องนี้ เวลานอกไม่ได้ทำให้ขายหน้า และการให้เวลานอกก็ให้ได้นานเท่าที่จะทำให้เด็กสงบและช่วงเวลานี้ ผู้ใหญ่และเด็กควรจะได้คุยกัน เกี่ยวกับความรู้สึกเมื่อเด็กสงบ
ไม่ต้องทำงาน แต่จะนั่งหันหน้ามาดูเพื่อนๆที่กำลังนั่งทำงานในห้อง นั่งนานเท่าที่ต้องการ เมื่อเห็นว่าตนเอง จะเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างสงบแล้วก็กลับเข้ามาร่วมกิจกรรมต่อได้ การมอง การทำงานของเพื่อนจะช่วยให้เข้ามาร่วมกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องไปเลย การใช้เวลานอกกับเด็ก แบบนี้ ไม่ได้ถือว่าเป็นการลงโทษ แต่เป็นการพักสักระยะหนึ่ง เพื่อให้มีเวลาเป็นตัวของตัวเอง เตรียมตัวเตรียมใจให้เพื่อน ให้สงบพอที่จะทำงานต่อไปได้
ครูทุกคนต้องการให้เด็กมีวินัย ให้เด็กรู้จักควบคุมตนเองได้เอง โดยไม่ต้องให้ผู้ใหญ่คอยควบคุมดูแลอยู่ตลอดเวลา เทคนิคในการสร้างวินัยที่มีประสิทธิผลมากที่สุด คือ ใช้แล้วสามารถ ไปเสริมความยอมรับนับถือในตนเองของเด็กได้ด้วย (Miller, 1986) การสร้างวินัยส่วนหนึ่งคือ การดำเนินการทันทีที่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ให้เด็กได้รู้ถึงผลที่เกิดจากพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมของเขา การฝึกวินัยให้ได้ผลจะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง มีความสม่ำเสมอ ในวิธีการปฏิบัติ และปฏิบัติได้ยุติธรรมกับทุกคน ความก้าวหน้าในการฝึกวินัยให้กับเด็ก อย่างมีประสิทธิผลจะเป็นไปอย่างช้าๆ ต้องการเวลาที่เด็กจะใช้ในการควบคุมตนเอง สูตรสำเร็จสำหรับการสร้างวินัยตายตัวไม่มี มีแต่การรู้จักเลือกเทคนิคต่างๆ มาใช้ให้เหมาะกับพฤติกรรม ของเด็กแต่ละคน เวลา สถานที่ และบุคลิกภาพของครูเองด้วย พฤติกรรมเดียวกัน เทคนิควิธีการ ที่ใช้ครูคนหนึ่งอาจจะใช้ได้สำเร็จ ครูอีกคนหนึ่งนำวิธีการเดียวกันไปใช้กับเด็กของตนอาจจะไม่สำเร็จ ก็ได้ เพราะความถนัดเฉพาะตน ความสามารถในการแก้ปัญหา การตัดสินใจของแต่ละคน มีความแตกต่างกัน เด็กมีความแตกต่างกัน ครูมีความแตกต่างกัน ผู้ปกครองก็มีความแตกต่างกัน สังคมแต่ละชนชาติมีความแตกต่างกัน สูตรสำเร็จในการสร้างวินัยได้อย่างมีประสิทธิผลเป็นสากลจึงไม่มี
สรุป
การจัดการชั้นเรียนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ครูมีความสุขและประสบความสำเร็จ ในการทำงานกับเด็ก และเด็กเองก็ประสบความสำเร็จ มีความสุขในการมีชีวิตอยู่ในสถานศึกษานั้น ครูต้องมีความสามรถในการจัดสภาพแวดล้อมให้ส่งเสริมการเรียนรู้ ให้เด็กทราบบทบาทและขอบเขตในการปฏิบัติตน มีการดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือมีปัญหาและสุดท้ายคือดูแลในการสร้างวินัยให้กับเด็ก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่จะเป็นรากฐานสำหรับการดำรงชีวิตที่จะเป็นคนมีวินัยในสังคมต่อไป ครูที่พร้อมจะอุทิศตน เพื่อคุณภาพของเด็กโดยแท้เท่านั้นที่จะตั้งใจ จริงใจในการศึกษา เทคนิควิธีการที่ดีไปใช้ให้เหมาะกับบุคลิกของตนและเหมาะกับเด็กและใช้ได้ดี โดยเด็กมีสุข ครูมีสุข และสังคมมีสุข
บทความที่ 1 ชุดที่ 1
รายการอ้างอิง
ภาษาอังกฤษ
Crosser, S., “Managing the Early Childhood Classroom,” Young Children, January, 1992, pp. 23 – 28.
Essa, E., A Practical Guide to Solving Preschool Behavior Problems, 4 th edition, New York : Delmar Publishers, 1999.
Fuhr, D., “Effective Classroom Discipline : Advice for Educators,” NASSP – Bulletin, 76 (January, 1993), pp. 82 – 86.
Hipple, M.L., “Classroom Discipline Problems? Fifteen Humane Solutions,” Early Childhood Education 86/87 (Annual Editions.) Judy Spitler Mckee (ed.), Guilford, Connecticut : The Dushkin Publishing Group Inc., 1986, pp. 164 – 167.
Jalongo, M.R., Early Childhood Language Arts. Boston : Allyn and Bacon, 1992.
Kauchak, D.P. and Eggen, P.D. Learning and Teaching : Research – Based Methods, Boston : Allyn and Bacon, 1998, pp. 330 – 365.
Krumboltz, J. & Krumboltz, H., Changing Children’s Behavior, New York : Prentice – Hall,. 1972.
Miller, C.S., “Building Self – Control : Discipline for Young Children,” Early Childhood Education 86 / 87 (Annual Edition), Mckee (editor), Connecticut : The Duskin Publishing Group Inc., 1986, pp. 168 – 171.
Ministry of Education, Providing Positive Guidance, New Zealand : Wellington, 1998.
Modica, M., “A Positive Approach to Discipline in an Early Childhood Setting,” Day Care and Early Education, Summer, 1992, pp. 32 – 34.
ภาษาไทย
สุรัสวดี ปูรณโชติ. การศึกษาวิธีที่ควรใช้แก้ปัญหาพฤติกรรมทางสังคมของเด็กวัยอนุบาล. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประถมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538.
อุทุมพร พลายอินทร์. การศึกษาการจัดการชั้นเรียนของครูอนุบาลในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประถมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542.