เรื่อง การศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนฯ

การศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอน ตามแนวคิดวอลดอร์ฟ ในสหพันธรัฐเยอรมัน 

รศ.ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์  (พ.ศ. 2556)

              สถานที่ไปศึกษาดูงานตามแนวคิดของวอลดอร์ฟ คือ โรงเรียนวอลดอร์ฟที่เมือง Hildesheim ซึ่งตั้งอยู่ตอนเหนือของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชั้นเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลศึกษาถึงชั้นปี่ที่ 13 โดยแยกสถานที่ตั้งของโรงเรียนเป็น 2 แห่ ง คือ
              1.   Waldorf Kindergarten รับเด็กอายุโดยประมาณ 2 – 6 ขวบ เข้าเรียนและมีเด็กวัยต่ำกว่า 2 ขวบ เข้ามาเป็นบางวันพร้อมผู้ปกครอง
              2.   Freie Waldorfschule Hildesheim รับเด็กต่อมาจากระดับอนุบาลศึกษาและรับนักเรียนเข้าเรียนใหม่ มีการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 – 13
              สาระทั้งหมดได้มาจากการสนทนากับกรรมการของโรงเรียน ครูผู้สอน นักเรียนและสังเกตการจัดการเรียนการสอนทั้งสิ้น ยกเว้น สาระเบื้องต้น เกี่ยวกับความเป็นมา เป้าหมายของการศึกษาและหลักสูตร จะเป็นสาระที่ได้มาจากข้อเขียนของ ผศ.ดร.บุษบง ตันติวงศ์ เอกสารประกอบการบรรยายเกี่ยวกับ “การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดของ Waldorf ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน” เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 ณ อาคาร 2 ห้อง 106 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สาระเบื้องต้น การศึกษาวอลดอร์ฟ (Waldorf Education)
ความเป็นมา
              รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (1861 – 1925) นักปรัชญาผู้ก่อตั้งการศึกษาวอลดอร์ฟ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1861 ในฮังการี การศึกษาในช่วงต้นคือ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผลงานเขียนในระยะแรกเกี่ยวกับปรัชญาของคานท์ (Kant) ต่อมาได้ศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ปรัชญาและวรรณคดี และได้เป็นบรรณาธิการงานเขียนทางวิทยาศาสตร์ของเกอเธและชิลเลอร์ นักปราชญ์ชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียง วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาเป็นเรื่องทฤษฎีว่าด้วยความรู้ ผลงานชิ้นสำคัญในชีวิต ของเขาได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ The Philosophy of Freedom ซึ่งแปลว่า ปรัชญาแห่งความเป็นอิสระและหลุดพ้น

          งานของสไตเนอร์ต่อมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต คือ การศึกษาเรื่องธรรมชาติของมนุษย์และการแสวงหาความจริง มนุษยปรัชญา (Anthroposophy) ซึ่งเขาพัฒนาขึ้น ถือเป็นศาสตร์แห่งจิตวิญญาณ (Spiritual Science) ที่ก้าวพ้นความจำกัดของการแสวงหาความจริง เฉพาะจากการรับรู้ที่เป็นรูปธรรมตามปรัชญาของคานท์ ไปสู่การแสวงหาความจริงจากการรับรู้ของทั้งกายและจิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มิได้แยกจากอารมณ์ ความรู้สึก แต่อยู่คู่กันอย่างกลมกลืน จะนำมนุษย์ไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง

              โรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรก ตั้งขึ้นท่ามกลางบรรยากาศแห่งความทุกข์ยากของชาวเยอรมัน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวเยอรมันพยายามแสวงหาวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ล่มสลายไปอย่างถอนรากถอนโคน เอมิล มอลท์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ วอลดอร์ฟ – แอสโทเรีย ที่สตุทการ์ท เป็นนักอุตสาหกรรมที่ต้องการปรับทิศทางของสังคมเสียใหม่ ในปี ค.ศ. 1919 เขาได้เชิญสไตเนอร์ ไปบรรยายแนวคิดของเขาให้คนงานในโรงงานฟัง และได้รับคำขอร้องจากทางโรงงานให้เปิดโรงเรียนตามปรัชญาของเขาให้แก่บุตรหลานของคนงาน รวมทั้งเปิดหลักสูตรสำหรับการศึกษาผู้ใหญ่ด้วย
              การศึกษาวอลดอร์ฟ เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวตามมนุษยปรัชญา (Anthroposophy) เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมให้สามารถพัฒนามนุษย์ ให้ได้ถึงส่วนลึกที่สุดของจิตใจ การเคลื่อนไหวตามปรัชญานี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาในศาสตร์สาขาต่างๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์เพื่อนำไปใช้ในโรงเรียน ชุมชนและสังคม

              ตลอดเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกขึ้น การศึกษาวอลดอร์ฟได้แพร่หลายไปทั่วโลก ปี ค.ศ. 1997 มีโรงเรียนอนุบาลตามแนวนี้ 1,087 โรงเรียน โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 640 โรงเรียน ศูนย์บำบัดกว่า 300 แห่ง และสถาบันฝึกหัดครูกว่า 50 แห่ง ใน 56 ประเทศทั่วโลก

เป้าหมายของการศึกษาและหลักสูตร
              เป้าหมายของการศึกษาวอลดอร์ฟ คือ ช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมี สามารถกำหนดความมุ่งหมายและแนวทางแก่ชีวิตของตนได้อย่างอิสระตามกำลังความสามารถของตน แต่มนุษย์จะบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนไม่ได้ ถ้าเขายังไม่มีโอกาสได้สัมผัสหรือค้นพบ ส่วนต่างๆ หลายส่วนในตนเอง ด้วยเหตุนี้การศึกษาวอลดอร์ฟจึงเน้น การศึกษาเรื่องมนุษย์และ ความเชื่อมโยงของมนุษย์กับโลกและจักรวาล
              การศึกษาสมัยใหม่ ส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาสติปัญญา ในขณะที่การพัฒนาด้านร่างกายและความสามารถทางศิลปะ เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีการศึกษาที่พยายามครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน แต่ก็มักจัดหลักสูตรให้มีวิชาต่างๆ ให้เลือก การมีวิชาเลือกไม่ได้หมายความว่า จะพัฒนาผู้เรียนได้ครอบคลุมขึ้น แต่อาจจะหมายความว่า วิชาที่เลือกมีความเฉพาะเป็นพิเศษ หรือหมายความว่า ผู้เรียนต้องยอมทิ้งวิชาอื่นเพื่อจะเลือกวิชานี้ แต่สำหรับการศึกษาวอลดอร์ฟ การศึกษาที่ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน หมายถึง การพัฒนาสติปัญญา ควบคู่กับศิลปะ และจริยธรรม
              การคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการคิดอย่างเป็นปรนัยและปราศจากอคติส่วนตัวแพร่หลายเข้ามาในวงการการศึกษา ความรู้ที่สอนในโรงเรียนก็รับแนวคิดนี้ จึงไม่มีการเชื่อมโยงความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์กับความเป็นมนุษย์ ประโยชน์ทางการสอนเรื่องธรรมชาติของพืชคืออะไร ถ้าเราไม่เชื่อมโยงเรื่องพืชกับมนุษย์ การเชื่อมโยงทุกเรื่องกับมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อให้มนุษย์ยึดตนเอง (อัตตา) แต่เป็นการสอนให้มนุษย์รู้จักจุดยืนที่สมดุลของมนุษย์ในโลก
              มนุษยปรัชญา เน้นความสำคัญของการสร้างความสมดุลใน 3 วิถีทางที่บุคคลสัมพันธ์กับโลก คือ ผ่านกิจกรรมทางกาย ผ่านอารมณ์ ความรู้สึก และผ่านการคิด
ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรวอลดอร์ฟจึงกว้าง มีวิชาต่างๆ เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ งานช่าง งานหัตถกรรม และครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับความพยายามของมนุษย์ ตลอดจนวิวัฒนาการในโลก
              การศึกษาวอลดอร์ฟ มุ่งพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่มีบุคลิกภาพที่สมดุลกลมกลืน ซึ่งจะทำได้ ก็ต่อเมื่อหลักสูตรครอบคลุมมากพอ และเด็กได้ใช้พลังงานทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญา ด้านศิลปะและด้านการปฏิบัติอย่างสมดุล
              หลักสูตรไม่จัดวิชาเป็นกลุ่มวิทย์หรือศิลป์ ด้วยแนวคิดพื้นฐานของการศึกษาที่เน้น ความเป็นองค์รวมของหลักสูตร และความสัมพันธ์ของทุกสิ่งต่อมนุษย์ ทุกวิชาจะมีศิลปะ วิทย์ มานุษยวิทยา อยู่ด้วยกัน เช่น ภูมิศาสตร์ จะไม่สอนเฉพาะเกี่ยวกับพื้นโลกและปัจจัยทางเศรษฐกิจ แต่จะสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและพัฒนาการทางจิตใจของคนที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของโลกด้วย
ตลอดเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกขึ้น การศึกษาวอลดอร์ฟ
ได้แพร่หลายไปทั่วโลก ปี ค.ศ. 1997 มีโรงเรียนอนุบาลตามแนวนี้ 1,087 โรงเรียน โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 640 โรงเรียน ศูนย์บำบัดกว่า 300 แห่ง และสถาบันฝึกหัดครูกว่า 50 แห่ง ใน 56 ประเทศทั่วโลก

เป้าหมายของการศึกษาและหลักสูตร
              เป้าหมายของการศึกษาวอลดอร์ฟ คือ ช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพสูงสุดที่ตนมี สามารถกำหนดความมุ่งหมายและแนวทางแก่ชีวิตของตนได้อย่างอิสระตามกำลังความสามารถของตน แต่มนุษย์จะบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนไม่ได้ ถ้าเขายังไม่มีโอกาสได้สัมผัสหรือค้นพบส่วนต่างๆ หลายส่วนในตนเอง ด้วยเหตุนี้การศึกษาวอลดอร์ฟจึงเน้น การศึกษาเรื่องมนุษย์และ ความเชื่อมโยงของมนุษย์กับโลกและจักรวาล
              การศึกษาสมัยใหม่ ส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาสติปัญญา ในขณะที่การพัฒนาด้านร่างกายและความสามารถทางศิลปะ เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีการศึกษาที่พยายามครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน แต่ก็มักจัดหลักสูตรให้มีวิชาต่างๆ ให้เลือก การมีวิชาเลือกไม่ได้หมายความว่า จะพัฒนาผู้เรียนได้ครอบคลุมขึ้น แต่อาจจะหมายความว่า วิชาที่เลือกมีความเฉพาะเป็นพิเศษ หรือหมายความว่า ผู้เรียนต้องยอมทิ้งวิชาอื่นเพื่อจะเลือกวิชานี้ แต่สำหรับการศึกษาวอลดอร์ฟ การศึกษาที่ครอบคลุมพัฒนาการทุกด้าน หมายถึง การพัฒนาสติปัญญา ควบคู่กับศิลปะและจริยธรรม
              การคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการคิดอย่างเป็นปรนัยและปราศจากอคติส่วนตัวแพร่หลายเข้ามาในวงการการศึกษา ความรู้ที่สอนในโรงเรียนก็รับแนวคิดนี้ จึงไม่มีการเชื่อมโยงความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์กับความเป็นมนุษย์ ประโยชน์ทางการสอนเรื่องธรรมชาติของพืชคืออะไร  ถ้าเราไม่เชื่อมโยงเรื่องพืชกับมนุษย์ การเชื่อมโยงทุกเรื่องกับมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อให้มนุษย์ยึดตนเอง (อัตตา) แต่เป็นการสอนให้มนุษย์รู้จักจุดยืนที่สมดุลของมนุษย์ในโลก
              มนุษยปรัชญา เน้นความสำคัญของการสร้างความสมดุลใน 3 วิถีทางที่บุคคลสัมพันธ์กับโลก คือ ผ่านกิจกรรมทางกาย ผ่านอารมณ์ ความรู้สึก และผ่านการคิด
              ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรวอลดอร์ฟจึงกว้าง มีวิชาต่างๆ เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ งานช่าง งานหัตถกรรม และครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับความพยายามของมนุษย์ ตลอดจนวิวัฒนาการในโลก
              การศึกษาวอลดอร์ฟ มุ่งพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่มีบุคลิกภาพที่สมดุลกลมกลืน ซึ่งจะทำได้ ก็ต่อเมื่อหลักสูตรครอบคลุมมากพอ และเด็กได้ใช้พลังงานทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญาด้านศิลปะและด้านการปฏิบัติอย่างสมดุล
              หลักสูตรไม่จัดวิชาเป็นกลุ่มวิทย์หรือศิลป์ ด้วยแนวคิดพื้นฐานของการศึกษาที่เน้นความเป็นองค์รวมของหลักสูตร และความสัมพันธ์ของทุกสิ่งต่อมนุษย์ ทุกวิชาจะมีศิลปะ วิทย์ มานุษยวิทยา อยู่ด้วยกัน เช่น ภูมิศาสตร์ จะไม่สอนเฉพาะเกี่ยวกับพื้นโลกและปัจจัยทางเศรษฐกิจ  แต่จะสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมและพัฒนาการทางจิตใจของคนที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของโลกด้วย

สาระเบื้องต้นเกี่ยวกับวิชาหลักสำหรับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของโรงเรียนตามแนวคิดของวอลดอร์ฟ

วิชาหลัก
ภาษและวรรณคดี
              สอน 3 – 4 สัปดาห์ทุกภาคการศึกษา และฝึกปฏิบัติเพิ่มเติมตามความจำเป็น
              การสอนภาษาในชั้นประถมศึกษา จะเริ่มที่การเขียนก่อนการอ่าน เด็กจะเริ่มฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วนเป็นเส้นต่างๆ เช่น วิ่งเป็นเส้นตรง เส้นโค้ง วงกลม แล้วจากการระบายสีและวาดภาพ เด็กจึงจะเริ่มทำความรู้จักกับรูปร่างของตัวอักษร เช่น จากการระบายสีและวาดภาพคลื่นในทะเล เด็กจึงเริ่มรู้จักตัวอักษร W นอกจากนี้เด็กยังได้เรียนรู้ธรรมชาติของเสียงตัวอักษรที่ควบคู่กับตัวอักษร เช่น ธรรมชาติของเสียง ตัวอักษร B คือเสียงที่เปล่งออกมาหลังการเม้มปาก (enclosing) ไม่มีการสอนการสะกดอย่างเป็นทางการ เว้นเสียแต่เด็กแสดงความสนใจจึงจะสนับสนุน
              การอ่านจะสอนหลังการเขียน เนื่องจากการเขียนเป็นกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ขณะที่การอ่านเป็นกิจกรรมที่ใช้สายตาและสมองเป็นหลัก การอ่านจึงควรรอให้เด็กที่มีพัฒนาการ เป็นนามธรรมเพิ่มขึ้นก่อน เด็กจึงจะเริ่มจากการเขียนไปสู่การอ่านสิ่งที่ตนเขียน
              การพูดก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการสอนภาษา ครูทุกคนจะต้องพูดได้ชัดเจนและมีวาทศิลป์ เด็กจะได้ฝึกการเล่าเรื่องซ้ำ (retelling) และท่องคำประพันธ์ โดยครูจะดูการออกเสียง การแสดงออก และไวยากรณ์ที่เด็กใช้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกเรียงความภาษาพูด (oral composition) ในวิชาอื่นๆ ด้วยการเล่นละครซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพูดพร้อมกัน (choral speaking) และการเล่นละครใบ้ (mime) ด้วย
              ในชั้นปีที่ 2 เด็กจะเรียนคล้ายๆกับในชั้นปีที่ 1 แต่เน้นการเขียนให้ถูกต้องมากขึ้น
              ในชั้นปีที่ 3 ซึ่งเด็กเริ่มสนใจโลกภายนอก ครูจะเริ่มแนะนำเรื่องไวยากรณ์ แต่เป็นการแนะนำจากภาษาที่ครูและเด็กใช้ ไม่ใช่จากตำราไวยากรณ์ และเป็นการชี้ให้เด็กรู้ตัวว่า ภาษาที่เขาใช้อย่างไม่รู้ตัวนั้น ความจริงมีกฎเกณฑ์อยู่ ภาษาพูดและภาษาเขียนที่ดำเนินต่อไปในช่วงนี้สามารถเป็นหัวข้อใดของวิชาอื่นในกลุ่มวิชาหลักก็ได้
              ในชั้นปีที่ 4 เมื่อเด็กอายุประมาณ 10 ปี เด็กเริ่มเข้าใจเรื่องของเวลามากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสเหมาะที่จะสอนไวยากรณ์ที่เกี่ยวกับเวลา นอกจากนั้นการสอนเรื่องโครงสร้างที่ซับซ้อนต่างๆของประโยค ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำได้อีกด้วย หนังสือที่ใช้ในการเรียนการสอนควรเป็นหนังสือที่ครูทำขึ้นเอง เพราะจะน่าสนใจและมีชีวิตชีวาสำหรับเด็กมากกว่าหนังสือที่ขายตามท้องตลาด
              ในชั้นปีที่ 5 เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 11 ปี เด็กจะมีความสามารถในการคิดจำแนกแยกแยะได้มากขึ้น การเรียนไวยากรณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นสามารถทำได้ สำหรับในเรื่องของการเขียน ก่อนหน้านี้เด็กจะเขียนเรียงความจากเรื่องที่ครูได้อธิบายหรืออ่านให้ฟัง แต่ในชั้นนี้เด็กจะได้หัดเรียบเรียง ความคิดของตนเพื่อเขียนเรียงความอย่างอิสระ
              ในชั้นปีที่ 6 เมื่อเด็กอายุประมาณ 12 ปี และสั่งสมความรู้ซาบซึ้งภาษามาพอที่จะตระหนัก ในความงดงามของรูปแบบและจังหวะของภาษาแล้ว ครูจะสอนคำประพันธ์ต่างๆแก่เด็ก ให้เด็กเห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึกที่แสดงออกทางภาษาและรูปแบบการเขียน
              เทพนิยายเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ใช้สำหรับเด็กทุกชั้น แต่เรื่องที่จะใช้ต่างกันไปตามพัฒนาการของเด็ก เหตุผลในการใช้เทพนิยายคือ เทพนิยายแฝงภูมิปัญญาและความจริงในทางจิตใจที่เด็กเห็นภาพได้ เช่น เมื่อพระราชินีรู้ชื่อคนแคระที่ชั่วร้าย คนแคระก็หนีไป ความจริงที่แฝงอยู่คือ เมื่อเราตระหนักถึงสิ่งชั่วร้าย สิ่งชั่วร้ายนั้นก็ไม่มีอำนาจเหนือเราอีก หลังจากชั้นประถมปีที่ 6 ขึ้นไป วรรณกรรมที่เด็กเรียนเริ่มบูรณาการกับวิชาอื่นๆ ในชั้นมัธยมปลาย การสอนวรรณคดีก็เพื่อให้เด็กเข้าใจวิวัฒนาการของมนุษย์ แง่คิดของคนยุคต่างๆ ตลอดจนซาบซึ้งในความงดงามของงานประพันธ์ของกวีต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่ด้วย ละครเป็นสิ่งที่โรงเรียนสนับสนุนให้จัดในทุกชั้น ชั้นละอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี

คณิตศาสตร์
              สอน 1 ช่วง ฯ ละ 3-4 สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา และให้ฝึกหัดอย่างต่อเนื่องตามความจำเป็นโรงเรียนวอลดอร์ฟนำคณิตศาสตร์แทบทุกแขนงมาจัดในหลักสูตร การจัดเนื้อหาและวิธีสอนมีลักษณะจากส่วนรวมไปสู่ส่วนย่อยที่แตกแขนงออกไป ให้ความสำคัญต่อเนื้อหาคณิตศาสตร์ทั้งในเชิงความคิดและความรู้สึก และมีการบูรณาการกับวิชาอื่นๆ อย่างกว้างขวางเป็นระบบไปตลอดหลักสูตร
              ในชั้นปีที่ 1 เมื่อเด็กอายุประมาณ 6 ปี ครูจะแนะนำบทเรียนคณิตศาสตร์ด้วยนิทานการสอนเรื่องตัวเลขและจำนวนจะเสริมด้วยการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เช่น เราเป็นเจ้าของอะไรที่มีหนึ่งเดียว เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเป็นหนึ่ง ในการสอนเขียนตัวเลข ครูจะพยายามให้เด็กเชื่อมโยงเลขกับสิ่งที่มีอยู่จริง เช่นเดียวกับการสอนเขียนตัวอักษร นอกจากนี้เด็กยังได้มีโอกาสเตรียมตัวสำหรับเรียนเรื่องรูปทรงเรขาคณิตจากวิชายูริธมี่ ซึ่งเป็นศิลปะการเคลื่อนไหว เด็กจะได้ฝึกเคลื่อนไหวเป็นรูปเรขาคณิต เช่น รูปสี่เหลี่ยม บันไดเวียน และฝึกวาดรูปทรงเรขาคณิตเหล่านี้ด้วยมือเปล่า
              เมื่อเด็กเรียนรู้สูตรคูณเป็นปีที่ 2 เด็กจะหัดใช้สูตรคูณในแบบต่างๆ เช่น 12 = 3×4, 3×4 = 12, 4×3 = 12, 12 ÷ 4 = 3, 12÷3 = 4 เป็นต้น
              ในชั้นปีที่ 3 เมื่อเด็กอายุประมาณ 9 ปี การเรียนเรื่องการวัดจะทำให้หัวข้อการทำไร่และปลูกบ้านและในวัยที่เด็กเข้าใจเรื่องเวลานี้เอง ที่จะสอนเรื่องปฏิทินตลอดทั้งปี
              ในชั้นปีที่ 4 เมื่อเด็กอายุประมาณ 10 ปี และเริ่มจำแนกแยกแยะความเป็นองค์รวมของสิ่งต่างๆในโลกแล้ว เด็กจะได้เรียนเรื่องเศษส่วน นอกจากนี้ยังเรียนเรขาคณิตโดยใช้อุปกรณ์เรขาคณิตต่างๆ
              ในชั้นปีที่ 5 และ 6 ซึ่งเป็นวัยที่เด็กเริ่มคิดเป็นนามธรรมได้ เด็กจะฝึกคิดเลขในใจ เด็กจะนำความเข้าใจทางเรขาคณิตไปทำงานปฏิบัติในวิชางานช่าง เช่น การออกแบบและประดิษฐ์กังหันลมของเล่น
              ในชั้นปีที่ 7 เมื่อเด็กอายุประมาณ 13 ปี และมีความสามารถในการคิดเป็นนามธรรมได้ดีขึ้น เด็กจะเรียนเรขาคณิตและพีชคณิต และประยุกต์เรื่องที่เรียนกับโครงสร้างต่างๆ ทางวิศวกรรม และการนำร่องทิศทาง
              ในชั้นมัธยมศึกษา เมื่อเด็กอายุ 14 ปีขึ้นไป วิชาคณิตศาสตร์ครอบคลุมออกไปกว้างขวางหลายแขนงแต่ความมุ่งหมายในเชิงปฏิบัติ คือให้เด็กสามารถจัดระเบียบความคิดในโลกของตัวเลขและรูปร่างได้ และมีทัศนะว่าในโลกนี้มีหลายสิ่งให้เลือกทำได้ และถ้าจะเลือกทำสิ่งใด ยิ่งมีวิธีทำให้เลือกมากมาย แต่ที่สำคัญต้องตระหนักว่า ปัญหาต่างๆ จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อความคิดกระจ่าง การเรียนคณิตศาสตร์เป็นวิธีการทำให้ความคิดกระจ่างแม้ว่าปัญหาต่างๆ จะเปลี่ยนตามเรื่องราวและเหตุการณ์ แต่แก่นสำคัญ คือวิธีคิดจะยังคงอยู่ ดังเช่นเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะได้ใช้หลักวิชาคณิตศาสตร์แขนงต่างๆ ในการนำร่องทิศทาง การสำรวจ ดาราศาสตร์ และการรังวัด
              แนวคิดสำคัญที่ครูต้องนำเสนอให้ได้ คือ การให้เด็กเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของคณิตศาสตร์กับทุกสิ่ง เด็กควรตระหนักว่าตัวเลขอยู่ทุกหนทุกแห่ง ในจักรวาล ในมนุษย์ในธรรมชาติ หรือแม้แต่ในดนตรี

ประวัติศาสตร์
              สอน 1 ช่วงๆ ละ 3 หรือ 4 สัปดาห์ทุกปี ในชั้นปีที่ 6 ถึง 12 เนื้อหา คือ เทพนิยายอินเดีย เปอร์เซีย อียิปต์ กรีก ในชั้นปีที่ 5 หลังจากนั้นเป็นเรื่องประวัติศาสตร์
              แนวคิดที่ต้องการสอน คือ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของมนุษยชาติ เด็กๆ ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ไม่สามารถแยกจากกัน ปัจจุบัน เป็นผลของอดีตและอนาคตเป็นผลของปัจจุบัน การเข้าใจเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก เด็กต้องเข้าใจว่าเขามีส่วนอยู่ในเหตุการณ์ช่วงหนึ่ง พ่อของเขามีประสบการณ์กับคนอื่น และปู่ของเขาก็มีประสบการณ์ที่ต่างออกไปอีก ในเวลาหนึ่งศตวรรษ มีคน 3 รุ่นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ดังนั้นภายใน   60 ช่วงอายุคน เราจะย้อนหลังไปถึงยุคของพระเยซูเจ้า ถ้าเด็กเชื่อมโยงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับบุคคลและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ประวัติศาสตร์จะน่าสนใจและมีคุณค่าทางการศึกษา
              ในชั้นปีที่ 4 เด็กจะเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน ซึ่งจะรวมถึงประวัติศาสตร์ของชุมชน
              ในชั้นปีที่ 5 เด็กจะเรียนเรื่องวัฒนธรรมโบราณ และความคิดของคนโบราณจากนิทานปรัมปรา
              ในชั้นปีที่ 6 จะเริ่มเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อเข้าใจสาเหตุของประวัติศาสตร์ของประเทศ จะสอนภาคใต้กรอบของประวัติศาสตร์โลก
              ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจะเรียนเรื่องการเกิดประเทศต่างๆ พัฒนาการของศาสนา เพื่อดูกระบวนการของวิวัฒนาการและคาดคะเนทิศทางในอนาคต ในชั้นเหล่านี้วรรณคดีและประวัติศาสตร์จะสอนเชื่อมโยงกันมาก

ภูมิศาสตร์
              สอน 1 ช่วงๆ ละ 3 หรือ 4 สัปดาห์
              สอนทุกปีตั้งแต่ชั้นปีที่ 5 ขึ้นไป
              ในชั้นปีที่ 5 เด็กจะศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน ในขณะที่ประวัติศาสตร์สอนให้เด็กเข้าใจธรรมชาติในตัวมนุษย์ ภูมิศาสตร์สอนให้เด็กเข้าใจมนุษย์กับพื้นที่รอบตัวและตระหนักว่าโลกคือสถานที่ที่เขาอยู่เพื่อที่จะทำงาน ภูมิศาสตร์ที่เด็กเรียนจะสัมพันธ์กับธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการมนุษย์
              เมื่อเด็กอายุได้ 11 ปี การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมรอบบ้านจะก้าวไปสู่เรื่องของแผนที่ ภาพที่เด็กวาดเอง เด็กจะได้ศึกษาเรื่องแม่น้ำ ภูเขา และป่าไม้เพิ่มเติม

ธรรมชาติศึกษาและวิทยาศาสตร์
              สอนโดยใช้นิทานหรือเรื่องเล่าในช่วงเวลาที่เหมาะสมในชั้นปีที่ 1 ถึง 3
              สอน 1 หรือ 2 ช่วง เป็นเวลาติดต่อกัน 3 หรือ 4 สัปดาห์ ในชั้นที่สูงขึ้น
              การสอนธรรมชาติศึกษาและวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กเล็ก ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นปีที่ 3   อยู่ในรูปของประสบการณ์ที่รื่นรมย์น่าประทับใจที่แทรกอยู่ในบทเรียนต่างๆ จึงถือได้ว่าการเรียนธรรมชาติศึกษาและวิทยาศาสตร์ในช่วงนี้เป็นเรื่องของความซาบซึ้งในสุนทรียภาพของธรรมชาติมากกว่าเป็นเรื่องความคิดเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ช่วงนี้เด็กจะได้ฟังเรื่องราวของสิ่งใกล้ตัว ที่ช่วยให้เกิดจินตนาการและความรู้สึกที่งดงาม ดังนี้เราอาจเห็นครูพูดกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งที่เขาคุ้นเคยราวกับสิ่งนั้นเป็นสิ่งมีชีวิต สำหรับเด็กทุกสิ่งมีชีวิต สายลมอาจคุยกับต้นไม้ และดวงอาทิตย์อาจคุยกับดอกไม้ ในการสนทนาถึงสิ่งที่เป็นธรรมชาติเหล่านี้ ครูจะมีโอกาสบรรยายลักษณะของสิ่งเหล่านี้ครูจะมีโอกาสบรรยายลักษณะของสิ่งเหล่านั้นให้เด็กได้รับรู้
              เมื่อเด็กอายุประมาณ 9 ปี เด็กจะออกจากโลกแห่งจินตนาการสู่โลกแห่งความจริงมากขึ้น  ในวัยนี้เขาจะรู้เรื่องธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมทางกาย แทนที่จะผ่านอารมณ์ ความรู้สึกและจินตนาการเช่นในชั้นที่ผ่านมา ดังนั้นการทำสวน และเกษตรกรรมจึงเป็นกิจกรรมสำคัญในช่วงนี้ ครูจะพูดถึงดินและการรักษาดินพืชต่างๆ วัฏจักรของพืช ความสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์ ฝน และดินตลอดจนลักษณะที่เป็นเอกภาพ และสมดุลในธรรมชาติ
              เมื่อเด็กอายุประมาณ 10 ปี เขาจะเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวดังนั้นเขาจะได้เริ่มศึกษาจุดเริ่มต้นและพัฒนาการของถิ่นที่ตั้งของโรงเรียน และปัจจัยในการตั้งรกรากของผู้คนในถิ่นนี้การเรียนในเรื่องนี้วางพื้นฐานสำหรับวิชาต่างๆ ที่จะตามมา ได้แก่ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์  และธรณีวิทยา
              ในชั้นนี้เป็นต้นไปเด็กจะเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์และพืช ในฐานะที่อยู่ภายใต้กฏธรรมชาติเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็จะได้เรียนรู้ว่ามนุษย์ได้รวบรวมคุณสมบัติต่างๆ ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียของสัตว์ไว้ในตัวได้อย่างสมดุล แม้ว่าอวัยวะของมนุษย์จะทำสิ่งต่างๆ ไม่ได้เหมือนสัตว์ แต่มนุษย์สามารถคิดวิธีสอนร่างกายของตนให้ทำสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าสัตว์ ดังนั้นแม้ว่ามนุษย์จะไม่มีคุณสมบัติเฉพาะด้านที่สมบูรณ์แบบเช่นสัตว์ แต่มนุษย์รวมเอาคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ของสัตว์ทั้งหลายไว้ในตัวอย่างกลมกลืน การเรียนในเรื่องสัตว์อย่างละเอียดทำให้เด็กเห็นใจสัตว์และเกิดสำนึกในการปกป้องคุ้มครองสัตว์ในฐานะเพื่อนร่วมโลก
              เมื่อเด็กได้เรียนเรื่องมนุษย์และโลกของสัตว์แล้ว ก็จะเรียนเรื่องพืช ซึ่งยังจะไม่เป็นวิชาพฤกษศาสตร์แต่เป็นเรื่องของความซาบซึ้งในความเชื่อมโยงระหว่างพืชกับโลกและจักรวาลก่อน ในช่วงนี้คำประพันธ์ที่บรรยายเนื้อหาดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความซาบซึ้ง
              ในการเรียนเรื่องโลกแห่งพืช เด็กจะได้เห็นพืชหลายชนิดหลายแบบ แต่พืชเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอยู่ภายใต้กฎเดียวกันในโลก เราสามารถนำความรู้ทางเรขาคณิต ซึ่งเป็นการค้นหาความจริงด้วยหลักเหตุผลมาชี้ให้เห็นธรรมชาติการเจริญเติบโตของพืชได้
              หลังจากการเรียนเรื่องพืชแล้วในชั้นปีที่ 7 และ 8 เมื่อเด็กอายุประมาณ 13 และ 14 ปี ครูจะสอนวิชาธรณีวิทยา และให้เด็กสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะดินกับพืช
              วิชาฟิสิกส์และเคมีจะเริ่มสอนเมื่อเด็กอายุ 12 ปี และอยู่ชั้นปีที่ 6 โดยในเรื่องเสียง ครูจะสอนโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ ส่วนในเรื่องของแสงครูจะสอนโดยให้เด็กวาดภาพเพื่อจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความสว่าง ความมืด และสี เมื่อถึงชั้นปีที่ 7 และ 8 เด็กจะเรียนฟิสิกส์และเคมีอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยใช้การสังเกต ทดลอง และถามคำถาม ครูสามารถสอนวิชานี้ให้เชื่อมโยงกับวิชาอื่น เช่น ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ได้
              ในชั้นปีที่ 9 เด็กจะเรียนเรื่องกายภาพของมนุษย์ ได้แก่ ระบบต่างๆของร่างกาย แนวคิดสำคัญที่เด็กควรได้รับในวิชานี้ คือ มนุษย์ประกอบด้วยร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก และจิตวิญญาณ
              ในชั้นปีที่ 10 เมื่อเด็กอายุประมาณ 16 ปี เขาจะได้เรียนรู้วิชาอุตุนิยมวิทยา ดาราศาสตร์ รวมทั้งศึกษาวิชาเคมี และสัตวศาสตร์ด้วย
              ในชั้นปีที่ 12 เด็กจะศึกษาเรื่องที่เรียนในวิชาต่างๆ ในแง่มุมใหม่ เช่น ศึกษาเรื่องสีจากทฤษฎีของนิวตันและทฤษฎีของเกอเธ ศึกษาทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ เพื่อให้เข้าใจ  ความแตกต่างระหว่างกระบวนการทางเคมีของมนุษย์และสิ่งอื่นในธรรมชาติ โดยทั่วไปในปีสุดท้ายการเรียนจะมุ่งให้เด็กสำรวจอาณาจักรต่างๆของความรู้

วิชาพิเศษ
ภาษาต่างประเทศ
              
สอน 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป
              การสอนภาษาต่างประเทศเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับการใช้ภาษาอื่นอย่างมีความมุ่งหมายจะไม่เน้นการแปลคำต่อคำ เพราะคำในภาษาหนึ่งอาจไม่มีคำในอีกภาษาทดแทนได้ เช่น คำว่า river ในภาษาอังกฤษมาจากลักษณะของฝั่งแม่น้ำ แต่คำว่า Fluss ในภาษาเยอรมันหมายถึงการไหลการเรียนภาษาต่างประเทศเป็นการทำให้มุมมองของเด็กกว้างขึ้น เด็กจะเรียนนิทานพื้นบ้าน ธรรมชาติ และวิถีชีวิตของคนที่ใช้ภาษานั้นด้วย การพูดและเรียงความภาษาพูดเป็นเรื่องจำเป็น เพราะจะช่วยคงคุณสมบัติที่มีชีวิตชีวาในภาษานั้นไว้ บางโรงเรียนจะสอนภาษาโบราณ เช่น ภาษากรีก หรือละติน ซึ่งช่วยให้เด็กเข้าใจภาษาของตนเองในปัจจุบันได้ดีขึ้น Etymology หรือการศึกษาที่มาประวัติความเปลี่ยนแปลงของความหมายของคำ มีประโยชน์ต่อเด็กโต ในการเข้าใจอารยธรรมโบราณ และอารยธรรมปัจจุบัน

งานปฏิบัติ หัตถกรรม งานฝีมือ และงานทำสวน
              ชั้นปีที่ 1 ถึง 5 สอนหัตถกรรม 2 ครั้งต่อสัปดาห์
              ชั้นปีที่ 6 ถึง 8 สอนงานไม้และงานทำสวน 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สลับสับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล
              ชั้นปีที่ 9 ถึง 10 สอนงานไม้ และทำงานสวน แต่ละวิชาสอนครั้งละ 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 สัปดาห์
              ชั้นปีที่ 11 ถึง 12 สอนการเย็บหนังสือ และงานไม้ แต่ละวิชาสอนครั้งละ 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 สัปดาห์
              งานปฏิบัติทำให้หลักสูตรวอลดอร์ฟมีความสมดุลระหว่างวิชาที่ต้องใช้พลังสมอง และวิชาที่ต้องใช้มือ เด็กจะได้เห็นความสำคัญของการใช้มือ และแขนขาในการดำรงชีวิต การที่คนบางคน ต้องเดินไปเดินมาเพื่อที่จะคิดอะไรบางอย่าง แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวร่างกายช่วยการทำงานของสมอง เมื่อเด็กต้องใช้มือสร้างสิ่งของขึ้นมา เขาจะได้ฝึกสมาธิ ความวิริยอุตสาหะ และอารมณ์ความรู้สึกชื่นชมในศิลปะที่ตนสร้างขึ้น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ก็จะพัฒนาด้วย
              งานฝีมือมีคุณค่าในทางบำบัดจิตใจ ในโรงเรียนวอลดอร์ฟเด็กชายและเด็กหญิงจะได้มีโอกาสฝึกงานช่างทุกประเภท เด็กชายมักแปลกใจที่ตนมีความสามารถทำงานปักและเย็บด้วย เด็กชาย และเด็กหญิงควรได้มีโอกาสชื่นชมความสามารถของกันและกัน ดังนั้นทั้งสองเพศจะได้ทำกิจกรรม งานฝีมือที่ในโรงเรียนส่วนใหญ่ให้ทำเพียงเพศเดียว เช่น เด็กชายทำงานไม้  หรือเด็กหญิงเย็บปักถักร้อย
              การทำงานช่าง เช่น การเย็บเสื้อ เป็นการสอนให้เด็กได้เห็นคุณค่าของผู้อื่นเห็นความยากลำบากในการคิด และความพยายามของช่างตัดเสื้อว่าต้องทำงานหลายขั้นตอนกว่าจะทำเสื้อสำเร็จ 1 ตัว
              การแกะสลักไม้ เป็นงานที่เด็กจะต้องฝึกสมาธิ ความวิริยอุตสาหะในการแกะของแข็งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงรูปทรงได้ง่าย
              การทำสวนช่วยให้เด็กได้สัมพันธ์กับพื้นโลกและเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าและความยิ่งใหญ่ของ “แม่พระธรณี” ดังที่เกอเธ นักปรัชญาและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้กล่าวไว้ใน Essay on Nature
              ตัวอย่าง     การจัดลำดับกิจกรรมของวิชานี้ตามหลักสูตร  มีดังนี้
                               ชั้นปีที่ 1   ถักนิตด้วยเข็มถัก 2 เล่ม
                               ชั้นปีที่ 2   ถักนิต และโครเชท์
                               ชั้นปีที่ 3   ประดิษฐ์ของใช้ที่มีประโยชน์จากผ้า เช่น ทำหมวก ผ้าพันคอ
                               ชั้นปีที่ 4   เย็บและปัก
                               ชั้นปีที่ 5   ถักถุงเท้า ถุงมือ ตุ๊กตา หุ่น ส่วนประกอบของเสื้อผ้า
              การวาดจะเริ่มด้วยฟอร์มง่ายๆ แต่จะฝึกการวาดจากฟอร์มที่สมมาตร แล้วค่อยๆ ไปสู่การวาดรูปเรขาคณิต เมื่อเด็กอายุประมาณ 9 ปี เขาจะฝึกเทคนิคการแรเงาโดยใช้ดินสอสี เขาจะได้ชื่นชมกับความงามของภาพที่ไม่มีกรอบเป็นรูปร่างใด  แต่จะปรากฏฟอร์มให้เห็นจากการแรเงาสี
              เมื่ออายุประมาณ 12 ปี เขาจะได้วาดภาพ 3 มิติที่มีแสงเงา เด็กจะได้มีโอกาสคิดแปลสิ่งที่เห็นเป็นวัตถุให้เป็นภาพ 2 มิติ เมื่อเด็กอายุ 14 ปี เขาจะซาบซึ้งในความงามที่เกิดจากการวาดภาพแบบนี้
              ครูประจำชั้นใช้การระบายสี วาดเส้นและปั้น สนับสนุนการสอนวิชาต่างๆ ในทุกชั้นในชั้นปีที่1 การระบายสีและวาดภาพสนับสนุนการเขียน และการเรียนเรื่องพืชและสัตว์ในวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ การวาดภาพและปั้นสิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน ทำให้เด็กได้คิดทบทวนแยกแยะสิ่งที่เรียนไปนั่นเป็นการฝึกความวิริยอุตสาหะ การวาดภาพ ระบายสีและปั้นไม่ควรเป็นการลอกเลียนแบบวัตถุใด แต่ควรให้เป็นจินตนาการของเด็กเอง
              ในชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเด็กอยู่ในช่วงวัยรุ่น การทำงานศิลปะเพื่อความสุนทรีย์และความซาบซึ้งจะลดความสำคัญลง เด็กจะใช้สีขาว ดำ ซึ่งช่วยบำบัดความไม่สมดุลในธรรมชาติของวัยรุ่น
              ในปีต่อๆ มา เด็กจะกลับมาระบายสีอีก แต่ในวัยนี้จะทำด้วยความตั้งใจ ว่าจะต้องการภาพอย่างไรการปั้นจะดำเนินต่อไป การวาดจะเชื่อมโยงกับวิชาคณิตศาสตร์ การสำรวจ และการทำแผนที่
              ตั้งแต่อายุ 14 ปีขึ้นไป เมื่อสติปัญญาความคิดของเด็กพัฒนาแล้ว เด็กจะทำศิลปะทั้งในแง่เพื่อความสุนทรีย์ และเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อมโยงกับอารยธรรมมนุษย์ในยุคต่างๆ ในชั้นปีที่ 10 ศิลปะจะเชื่อมโยงกับคำประพันธ์ ชั้นปีที่ 11 ศิลปะจะเชื่อมโยงกับดนตรีและในชั้นปีที่ 12 ศิลปะจะเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรม

ดนตรี
              ร้องเพลงและเป่าขลุ่ยสัปดาห์ละหลายครั้ง
              เล่นดนตรีที่ถนัด 1 ชิ้น ขับร้องประสานเสียง หรือเข้าวงออร์เคสตร้า
              ดนตรีถือเป็นสื่อสำคัญในการยกระดับจิตใจของเด็ก โรงเรียนวอลดอร์ฟเริ่มต้นตอนเช้าด้วยการท่องคำประพันธ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ ธรรมชาติ เด็กทุกคนจะเป่าขลุ่ยและร้องเพลงประกอบคำประพันธ์สำหรับเด็กที่สนใจดนตรี สามารถเลือกเล่นเครื่องดนตรีเพิ่มได้อีก เพื่อเล่นในวงออร์เคสตร้าหรือเลือกที่จะเข้าวงประสานเสียงก็ได้

การเคลื่อนไหว : ยูริธมี
              1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
              ยูริธมี่ เป็นศิลปะการเคลื่อนไหวซึ่งรูดอร์ฟ สไตเนอร์ ได้พัฒนาขึ้นเป็นศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายที่แสดงให้เห็นกฎเกณฑ์และโครงสร้างภายในของภาษาพูดและดนตรี ยูริธมี่จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า เสียงพูดและดนตรีที่มองเห็นได้ การฝึกยูริธมี่ช่วยจัดระเบียบและความกลมกลืนทั้งทางกายและใจ  แก่เด็ก
              ในชั้นต้นๆ เด็กจะเรียนวิ่งเป็นรูปเรขาคณิต เคลื่อนไหวตามจังหวะต่าง ๆ ของคำประพันธ์  ท่าพื้นฐานสำหรับเสียงและระดับเสียงดนตรี ซึ่งเป็นการฝึกการฟังได้ดี การเคลื่อนไหวบางท่า มุ่งพัฒนาด้านสังคม บางท่ามุ่งพัฒนาสมาธิและสติปัญญา บางท่ามุ่งให้เด็กพิจารณาตนเองเพื่อชื่นชมในโลกรอบตัว
              เมื่อเด็กโตขึ้นและควบคุมแขนขาได้ เด็กจะเรียนคำประพันธ์หลายชนิด ซึ่งจะต้องใช้ท่าแตกต่างมากขึ้นจากเดิม

กีฬา
              ในหลักสูตรดั้งเดิมที่สไตเนอร์พัฒนา ไม่มีกีฬาที่เล่นเป็นทีมอย่างเป็นทางการ แนวทาง ในการนำกีฬามาใช้ในโรงเรียนวอลดอร์ฟ คือ ต้องไม่เป็นกีฬาที่จำกัดส่วนต่างๆ ของร่างกายในการเล่นฟุตบอล เป็นกีฬาที่ไม่เหมาะเพราะใช้เฉพาะขาเป็นส่วนใหญ่ อาจรุนแรงเกินไป และไม่เหมาะกับผู้หญิง กีฬาที่พอจะเข้าเกณฑ์ ได้แก่ เทนนิส ฮอกกี้ เล่นเรือใบ

คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับสิ่งแวดล้อมและบทเรียน
              ลักษณะที่มีสุนทรีย์ของสภาพแวดล้อมและบทเรียนมีความสำคัญต่อเด็กไม่แพ้เนื้อหาสาระของบทเรียน เพลโตกล่าวว่าแนวโน้มทางจริยธรรมถูกกำหนดโดยความรู้สึกเชิงสุนทรีย์ คนที่ถูกสอนให้มองเห็นความงดงามของงานศิลปะหรือธรรมชาติ ย่อมยินดีที่จะสร้างสิ่งที่งดงาม และรังเกียจ ความน่าเกลียดต่างๆ ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนได้ บรรยากาศที่มี ความสุนทรีย์มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อมนุษย์ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก จึงจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ในห้องเรียน และสถาปัตยกรรมของโรงเรียน ภาพบนผนัง และสีสันของผ้า การจัดโต๊ะเรียน ภาพวาด ข้อความ กิริยา การเคลื่อนไหว การพูด อารมณ์ขัน และความจริงจังตลอดจนการแต่งกายของครู  ล้วนแสดงสุนทรียภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ทั้งหมดที่เด็กซึมซาบตลอดเวลาควบคู่ไปกับเนื้อหาที่สอนในหลักสูตรเพื่อพัฒนาเด็กให้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษาที่ตั้งไว้

บรรณานุกรม
ภาษาไทย
              Erziehungskunst, F. and Steiners, R. การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์. แปลโดยจันทร์เพ็ญ พันธุ์โอสถ. เอกสารประกอบนิทรรศการเนื่องในวาระแห่งการประชุมนานาขาติ ว่าด้วยการศึกษาสมัยที่ 44 ของยูเนสโก ณ เจนีวา. กรุงเทพฯ : ปัญโญทัย, 2538.

ภาษาอังกฤษ
              Carlgren, F. Education Towards Freedom. England : Lathorn Press, n.d.
              Wilkinson, R. Commonsense Schooling. 4th ed. England : The Robinswood Press, 1990.
              Staley, B. Waldorf Schools : Kindergarten and Early Grades. Volume 1. New York : Murcury Press, 1993.
              Staley, B. The Cultivation of Thinking. London : PRT offset Limited, 1981.
              Staley, B. The Curriculum of Rudolf Steiner School. 8 th ed. CA. : Rudolf Steiner College Press, 1994.
              Staley, B. The Inner Life. London : PRT offset Limited, 1981.

(บทความที่ 1 ชุดที่ 3)