เรื่อง สุขภาพ ความปลอดภัย และทักษะกลไก

สุขภาพ ความปลอดภัย และทักษะกลไก สำหรับเด็กอนุบาล 

รองศาสตราจารย์ ดร.จีระพันธุ์  พูลพัฒน์

              การที่เด็กจะเจริญเติบโตไปอย่างมีสุขภาพที่แข็งแรงและสมบูรณ์ รู้คุณค่าของความสะอาด อาหาร การพักผ่อนและการดูแลตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้ในชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย
              สุขภาพและความปลอดภัย เป็นศาสตร์ที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ และสร้างลักษณะนิสัยที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพแห่งตน เริ่มตั้งแต่เด็กเข้ามาในโรงเรียน เด็กควรจะได้รับการพัฒนาแนวคิดพื้นฐาน ทัศนคติและทักษะเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัย โดยบูรณาการไปในกิจวัตรประจำวัน ที่เด็กต้องปฏิบัติในโรงเรียน ทั้งในเรื่องการเรียนการสอนและการดูแลที่ได้รับ
              เป้าหมายสำคัญส่วนหนึ่งของการศึกษาปฐมวัย คือ การให้เด็กได้มี “กายดี จิตดี อยู่ดี มีสุข” ดังนั้นการให้เด็กได้มีรากฐานการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งสาระความรู้และมีทักษะในการปฏิบัติ โดยมีทัศนคติที่ดี และแนวคิดที่ถูกต้องต่อการปฏิบัติให้เป็นนิสัย รู้จักคิด รู้จักเลือก รู้จักตัดสินใจ แก้ปัญหาได้เหมาะสมตามวัย เพื่อชีวิตของเด็กต่อไปในอนาคต
              รายละเอียดต่างๆ เป็นเพียงแนวคิดและตัวอย่างกิจกรรมบางส่วนที่เสนอแนะแก่ผู้ที่นำไปสอนแก่เด็กอนุบาล เป็นหน้าที่ของผู้สอน ผู้ดูแลเด็ก และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะขยายหรือปรับ/ลดแนวคิด และกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กในความรับผิดชอบ ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันแม้จะอยู่ในวัยเดียวกัน
              สาระต่อไปนี้จะช่วยให้เห็นภาพการดูแลเด็ก โดยนำเสนอตัวอย่างตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย มาตรฐานการเรียนรู้ ไปจนถึงการประเมินผล
              ความตั้งใจจริงของทุกๆ คนที่จะศึกษาทำความเข้าใจ แล้วนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยคนรอบตัวเด็กเป็นตัวอย่างได้ในเรื่องของความสะอาด การดูแลสุขภาพและความปลอดภัย ย่อมนำมาซึ่งความสุข สำเร็จตามเป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด

เป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ 

              เป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรจุฬาลักษณ์สำหรับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยให้แก่เด็ก มีดังนี้
เป้าหมายที่ 5      เห็นความสำคัญและคุณค่าของความสะอาด อาหาร สุขภาพและการพักผ่อน
                            มาตรฐานที่ 11   ดูแลความสะอาดของตนเอง ของใช้ และสภาพแวดล้อม
                            มาตรฐานที่ 12   เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปฏิบัติตนเหมาะสมในการรับประทานอาหาร
                            มาตรฐานที่ 13   ดูแลและปฏิบัติตนเกี่ยวกับสุขภาพและการพักผ่อน

เป้าหมายที่ 6     มีแนวปฏิบัติในการดูแลตนเองและผู้อื่นให้ปลอดภัยในสภาพแวดล้อม
                            มาตรฐานที่ 14   ดูแลตนเองให้อยู่อย่างปลอดภัยในชีวิตประจำวัน
                            มาตรฐานที่ 15   ดูแลตนเองและผู้อื่นเมื่อเกิดบาดแผลหรือเจ็บป่วย

เนื้อหาสาระ 

              สุขภาพ ความปลอดภัย
              การให้เด็กได้มี “กายดี จิตดี อยู่ดี มีสุข” เป็นรากฐานการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาลโดยให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งสาระความรู้และมีทักษะในการปฏิบัติโดยมีเจตคติที่ดีและแนวคิดที่ถูกต้องในการปฏิบัติจนเป็นนิสัย รู้จักคิด รู้จักเลือก รู้จักตัดสินใจแก้ปัญหาได้เหมาะสมตามวัยเพื่อชีวิตที่ดีของเด็กต่อไปในอนาคต

เป้าหมายที่ 5                 เห็นความสำคัญและคุณค่าของความสะอาด อาหาร สุขภาพและการพักผ่อน
              มาตรฐานที่ 11   ดูและความสะอาดของตนเอง ของใช้ และสภาพแวดล้อม
                                       1)   ทำความสะอาดตนเอง
                                       2)   ทำความสะอาดของใช้
                                       3)   ดูแลความสะอาดของสภาพแวดล้อม
              มาตรฐานที่ 12   เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปฏิบัติตนเหมาะสมในการรับประทานอาหาร
                                       1)   ดื่มนมและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
                                       2)   กะประมาณอาหารได้พอดีกับความต้องการ
                                       3)   ทำหน้าที่ให้บริการอาหารแก่เพื่อน
                                       4)   มีมารยาทในการรับประทานอาหาร
              มาตรฐานที่ 13   ดูแลและปฏิบัติตนเกี่ยวกับสุขภาพและการพักผ่อน
                                       1)   เปรียบเทียบน้ำหนัก ส่วนสูงของตนกับเกณฑ์มาตรฐาน
                                       2)   ดูแลสุขภาพและปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและเหตุการณ์
                                       3)   ดูแลสุขภาพฟันและร่างกาย
                                       4)   ดูแลและปฏิบัติตนในการพักผ่อน
เป้าหมายที่ 6                 มีแนวปฏิบัติในการดูแลตนเองและผู้อื่นให้ปลอดภัยในสภาพแวดล้อม
              มาตรฐานที่ 14   แลตนเองให้อยู่อย่างปลอดภัยในชีวิตประจำวัน
                                       1)   ปฏิบัติตนตามข้อตกลง
                                       2)   เล่นเครื่องเล่นอย่างถูกวิธีและคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น
              มาตรฐานที่ 15   ดูแลตนเองและผู้อื่นเมื่อเกิดบาดแผลหรือเจ็บป่วย
                                       1)   รู้จักวิธีช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นเมื่อเกิดบาดแผลหรือเจ็บป่วย
              เนื้อหาสาระในกลุ่มสุขภาพ และความปลอดภัย แบ่งการนำเสนอเป็น 2 ส่วน คือ 1) สุขภาพ และ 2) ความปลอดภัย โดยมีสาระในแต่ละส่วนดังนี้
              1.   สุขภาพ
                    เด็กที่มีสุขภาพดีจะมีพลังในการเรียนรู้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับครูในการพัฒนาทัศนคติทางบวกให้แก่เด็ก เกี่ยวกับเรื่องของความสะอาดทั้งส่วนตนและส่วนรวม เรียนรู้อาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่า รู้จักเลือกรับประทาน และมีความรู้สึกที่ดีในการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่า รู้จักเลือกการพักผ่อนที่เหมาะสมกับวัย ตรวจสุขภาพและดูแลสุขภาพ  อย่างถูกวิธี น่าจะเป็นตัวร่วมที่ช่วยให้สุขภาพของเด็กแต่ละคนเจริญเติบโตไปได้ด้วยดี
                    จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น สิ่งที่เด็กควรจะได้เรียนรู้มีดังนี้
                    1.1   ความสะอาดของตนเอง ของใช้ และสภาพแวดล้อม
                            
1)   ความสะอาดของตนเองและของใช้
                                   
–   การล้างมือ
                                   –   การแปรงฟัน
                                   –   การใช้ห้องน้ำ-ห้องส้วม
                                   –   การทำความสะอาดร่างกายเมื่ออาบน้ำ
                                   –   การแต่งกายและดูแลความสะอาดชุดนักเรียน ถุงเท้า รองเท้า ชุดนอน ฯลฯ
                                   –   การดูแลความสะอาดของส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผม เล็บ หู ฯลฯ
                                   –   การดูแลอุปกรณ์การเรียน ช่องเก็บของใช้ ที่วางรองเท้า
                                   –   การดูแลความสะอาดของแก้วน้ำ ภาชนะใส่อาหาร ช้อนคาว ช้อนหวาน
                            2)   ความสะอาดของสภาพแวดล้อม ห้องเรียน โรงเรียน และท้องถิ่น
                                   
–   การทิ้งขยะให้เป็นที่ การแยกขยะ และการดูแลความสะอาดของถังขยะ
                                   –   การมีส่วนร่วมในการดูแลความสะอาดของห้องเรียน โรงเรียน และท้องถิ่นตามวัยและโอกาส
                                   –  คุณค่าของความสะอาดที่มีต่อตนเองและส่วนรวม
                    1.2   อาหารและสุขภาพ
                            
1)   อาหาร
                                   
–   ชื่ออาหารกลางวันและอาหารว่างที่ทางโรงเรียนจัดให้
                                   –   คุณค่าทางโภชนาการของอาหาร
                                   –   การกะประมาณอาหารในการรับประทานอาหาร
                                   –   การให้บริการอาหารกลางวันและอาหารว่างแก่เพื่อนๆ
                                   –   มารยาทในการรับประทานอาหาร โดยการรับประทานอาหารเฉพาะที่เป็นของตน รับประทานได้หมด เมื่อไม่พอกับความต้องการลุกไปขอรับอาหารใหม่ ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารได้ถูกต้อง จัดการกับอาหารที่ไม่ต้องการได้อย่างเหมาะสม และรู้จักรอคอยเพื่อนอย่างสงบ เพื่อรับประทานอาหารพร้อมกัน
                                   –   การปฏิบัติตนก่อนและหลังรับประทานอาหาร
                            2)   สุขภาพ
                                   
–   การตรวจสุขภาพและการเจริญเติบโตของร่างกาย ด้วยการตรวจสุขภาพและร่างกายประจำปี การรับภูมิคุ้มกันโรคตามกำหนด การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน
                                   –   การรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ด้วยการดูแลร่างกายให้อบอุ่น เมื่ออากาศหนาว มีอุปกรณ์ใช้เพื่อดูแลสุขภาพเมื่อฝนตก แดดจัด หยุดพักรักษาตัวเมื่อไม่สบาย รู้จักปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
                                   –   การปฏิบัติตนให้ถูกวิธีและถูกสุขลักษณะ รู้วิธีการปฏิบัติอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันโรคภัยต่างๆ รอบตัว การฝึกปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพ ด้วยการเดิน ยืน นั่ง นอน อย่างถูกวิธีและถูกสุขลักษณะ
                                   –   ข้อควรปฏิบัติเพื่อสุขภาพ เช่น ปิดปากเมื่อไอ หรือจาม ดื่มน้ำให้เพียงพอ ต่อความต้องการของร่างกาย
                    1.3   การพักผ่อน
                            
1)   การเลือกวิธีการพักผ่อนให้เหมาะสมกับวัย การใช้เวลาว่างระหว่างเวลาเรียนให้เกิดประโยชน์ เพื่อการพักผ่อนในระหว่างเรียนและเวลาพัก รู้จักวิธีการพักผ่อนด้วยการนอน อย่างถูกวิธีเหมาะสมกับวัย และเลือกวิธีการออกกำลังกายเพื่อการพักผ่อนให้เหมาะสมกับเวลาและวัย
                            2)   การปฏิบัติตนในการพักผ่อน มารยาทในการนอนร่วมกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน มารยาทในการนอนที่ไม่รบกวนผู้อื่น การปฏิบัติตนก่อน-หลังการนอน และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการพักผ่อนด้วยกิจกรรมอื่นที่ทำได้ตามวัย
              2.   ความปลอดภัย
                    สภาพรอบตัวเด็กจะมีสิ่งที่เป็นอันตราย ถ้าไม่รู้จักระมัดระวังจะได้รับอันตราย จึงมี  ความจำเป็นที่จะให้เด็กได้แนวคิดเกี่ยวกับการที่จะรักษาตนเองให้มีชีวิตรอดปลอดภัยได้ในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ และรู้วิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมในกรณีที่มีเหตุร้ายกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ความปลอดภัยครอบคลุมถึงการอยู่อย่างปลอดภัย การดูแลและระวังรักษาร่างกายเมื่อเกิดบาดแผลหรือเจ็บป่วย
                    จากประเด็นข้างต้น สิ่งที่ต้องการให้เด็กได้รับ มีดังนี้
                    2.1   การอยู่อย่างปลอดภัยในห้องเรียน ในโรงเรียน ในท้องถิ่นและระหว่าง การเดินทาง
                            
1)   สังเกตสิ่งรอบตัวที่มีอันตรายถ้าไม่ระมัดระวังป
                            2)   การดูแลตนเองให้ปลอดภัยในห้องเรียน
                                  –   การนั่ง เดิน ยืน หยิบของ ฯลฯ
                                  –   การใช้วัสดุอุปกรณ์ เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ในห้องเรียน
                                  –   ข้อตกลงเพื่อความปลอดภัยในห้องเรียน
                            3)   การดูแลตนเองให้ปลอดภัยในโรงเรียน
                                  –   การขึ้นลงบันได
                                  –   การเดินไปตามสถานที่ต่างๆ ในโรงเรียน
                                  –   การเล่นในสนาม สนามเด็กเล่น
                                  –   การเล่นเครื่องเล่นให้ถูกวิธี
                                  –   การรายงานของเล่นและอุปกรณ์ที่แตกชำรุด
                            4)   การดูแลและการระวังตนเองให้ปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมที่มีพิษและเสี่ยงอันตราย เช่น น้ำ ไฟ แมลง สัตว์ ขยะ สระน้ำ ฯลฯ
                            5)   การเดินทางไป-กลับโรงเรียนให้ปลอดภัย
                                  –   การเดินบนทางเท้า การเดินบนถนน
                                  –   การข้ามถนน
                                  –   การปฏิบัติตนในการโดยสารพาหนะต่างๆ และขณะเดินทาง
                            6)   การปฏิบัติตนเมื่อหลงทาง
                    2.2  การดูแลและระวังรักษาร่างกายเมื่อเกิดบาดแผลหรือเจ็บป่วย
                            
1)   การปฏิบัติตนเมื่อเกิดบาดแผล ในห้องเรียน ในโรงเรียน และนอกโรงเรียน
                            2)   การปฏิบัติตนเมื่อไม่สบาย เกิดบาดแผล หรือเกิดอุบัติเหตุ
                            3)   การปฏิบัติตนเมื่อมีแมลง สัตว์ กัด ต่อย และทำร้าย

แนวการจัดการเรียนการสอน

              1.   การจัดสภาพแวดล้อม
                    1.1   ภายในห้องเรียน
              
              1)   มีหน้าต่างประตูที่เปิดได้ทั้งหมด ควรมีประตูเข้า-ออกให้ลมผ่านเข้าออกได้สะดวกและมีแสงสว่างเพียงพอ การจัดห้องเรียนมีระเบียบ สะอาด จัดวางสิ่งของต่างๆ ไว้อย่างเป็นระบบ เพดาน ผนัง พื้น และอุปกรณ์ต่างๆ สะอาด
                            2)   มีถังขยะสำหรับการทิ้งเศษกระดาษและสิ่งไม่ต้องการอื่นๆ และมีการจัดการดูแลทิ้งเศษขยะ ทำความสะอาดถังขยะ
                            3)   มีตู้น้ำหรือน้ำดื่มที่สะอาด พร้อมแก้วน้ำสำหรับดื่มน้ำของเด็กแต่ละคน ไม่ใช้  แก้วน้ำร่วมกัน มีที่วางแก้วน้ำของแต่ละคนชัดเจน รวมทั้งมีการทำความสะอาดแก้วน้ำทุกวันถ้าในห้องไม่สะดวกในการตั้งตู้น้ำก็อาจจะใช้วางหน้าห้องเรียน
                            4)   มีตู้เก็บของใช้ของเด็ก และเด็กได้ดูแลทำความความสะอาดและจัดของใช้ด้วยตนเอง ถ้าเด็กรับประทานอาหารในห้องเรียน ควรมีกล่องเก็บช้อนส้อมของเด็กวางอยู่ด้วย
                            5)   มีตารางความรับผิดชอบในการทำความสะอาดห้องเรียน
                            6)   มีที่วัดส่วนสูงไว้ในห้อง ถ้าเป็นไปได้ควรมีเครื่องชั่งด้วย เพื่อให้เด็กได้สำรวจส่วนสูงและน้ำหนักของตนเองได้ตามต้องการ
                            7)   มีรายชื่อเด็กพร้อมกรอกน้ำหนัก ส่วนสูง ปิดไว้มุมใดมุมหนึ่งของห้องพร้อมเกณฑ์มาตรฐานน้ำหนัก ส่วนสูง เพื่อให้เด็กได้ศึกษาน้ำหนัก ส่วนสูงของตนเอง
                            8)   มีกระจกบานโตขนาดที่เด็กจะมองเห็นร่างกายได้ทั้งตัวไว้ในห้อง เพื่อให้เด็กได้สำรวจความเจริญเติบโตของตนเองตามความสนใจ
                            9)   ถ้าเป็นไปได้ควรมีตู้ยาสามัญประจำบ้านในแต่ละห้องหรือ 1 ชุด สำหรับระดับอนุบาลทั้งหมด เพื่อความสะดวกในการใช้
                    1.2   ภายนอกห้องเรียน
                            1)   มีบอร์ดผู้ปกครองที่ปิดประกาศแจ้งเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพฟัน ร่างกาย ภูมิคุ้มกันโรค ติดเอกสารเกี่ยวกับโรคเด็ก ให้ความรู้ผู้ปกครองหรือการขอความร่วมมือในการดูแลความสะอาดของเด็ก เครื่องใช้ อุปกรณ์การเรียน การดูแลเด็กให้มีความปลอดภัยในการเดินทางไป-กลับจากโรงเรียน
                            2)   มีป้ายบอกรายการอาหารวันนี้ ติดรายการอาหารประจำสัปดาห์หรือประจำแต่ละเดือน เพื่อผู้ปกครองจะได้ทราบรายการอาหารสำหรับเด็ก
                    1.3   ภายในโรงเรียน
                            1)   การรับ-ส่งนักเรียนของโรงเรียนทั้งหมดมีการจัดระบบจราจรภายในโรงเรียนที่สร้างความปลอดภัยให้แก่เด็ก บริเวณที่คิดว่าจะเสี่ยงต่ออันตรายสำหรับเด็กอนุบาล มีการดูแลป้องกันแก้ไข เช่น สระน้ำ
                            2)   บริเวณโรงเรียน มีความสะอาดทั่วถึง มีถังขยะวางกระจายเพียงพอกับความต้องการ อาคารเรียนสะอาด ห้องน้ำห้องส้วมสะอาด มีอุปกรณ์ทำความสะอาดให้แก่เด็กในการดูแลความสะอาดของตนเอง ห้องน้ำสำหรับเด็กควรจัดไว้ใกล้ห้องเรียน ถ้าไม่สามารถจัดไว้ในห้องเรียนได้ ส้วมควรเป็นขนาดที่เด็กใช้ได้สะดวก มีอ่างน้ำขนาดเล็กอยู่ในระดับเด็กใช้งานได้เอง เพื่อใช้ในการแปรงฟัน ล้างหน้า ล้างมือ ล้างภาชนะใส่น้ำและอาหาร
                            3)   สนามเด็กเล่น ที่จัดไว้ให้เด็กเล่นควรอยู่ใกล้ชั้นเรียนมีความร่มรื่น เครื่องเล่นควรใช้วัสดุธรรมชาติ อุปกรณ์การเล่นอยู่ในสภาพใช้งานได้ มีการตรวจสอบดูแลซ่อมแซม และเป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนาทักษะกลไก มีบริเวณให้เด็กได้เล่นอิสระตามความสนใจ หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อออกกำลังกาย
                            4)   โรงครัว โรงอาหาร และสถานที่ขายอาหารควรจะสะอาด และมีระบบการจราจรที่คล่องตัว มีครูติดตามดูแลคุณภาพตามหลักโภชนาการของอาหารทั้งที่โรงเรียนจัดทำและอาหารขายสำหรับเด็ก มีคำแนะนำในการจัดเทอาหารและทิ้งขยะให้เป็นที่ ถ้าโรงเรียนต้องใช้โรงอาหารในการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรมีระบบการจัดการในเรื่องระดับเสียงของเด็กที่มารวมกลุ่มกัน ตลอดจนการดูแลมารยาทในการรับประทานอาหารของเด็ก การปฏิบัติตนก่อน-หลังรับประทานอาหาร อาจมีเพลงเบาๆ เปิดขณะที่เด็กรับประทานอาหาร
              2.   การดูแลความสะอาด อาหารและสุขภาพ การพักผ่อน และความปลอดภัย ในกิจกรรมประจำวัน
                    1)   เมื่อเด็กมาถึงโรงเรียน ทำความสะอาดช่องใส่ของใช้ของตนเอง และเก็บของส่วนตัวในที่ที่กำหนด นำแก้วไปทำความสะอาด จัดวางรองเท้าเปลี่ยนรองเท้าตามข้อตกลงของโรงเรียน
                    2)   สำรวจความรับผิดชอบในการช่วยดูแลห้อง ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อตกลง เช็ดตู้ จัดหนังสือ จัดอุปกรณ์
                    3)   หลังเข้าร่วมกิจกรรมเข้าแถวเคารพธงชาติ ตรวจความสะอาดของร่างกาย เล็บ ผม ฟัน หู ความสะอาดของร่างกายโดยทั่วไป เสื้อผ้าในแต่ละวันอาจจะตรวจเพียง 1 ส่วน วันศุกร์ควรจะดูทั้งหมดเพื่อแนะนำถึงวิธีการดูแลความสะอาดในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และตรวจสอบติดตามอีกครั้ง ในวันจันทร์ ครูบันทึกข้อสังเกตจากการตรวจความสะอาดของร่างกายไว้ด้วยทุกครั้ง
                    4)   เข้าห้องเรียน รวมกลุ่มใหญ่ สนทนาเกี่ยวกับความสะอาด สุขภาพ และความปลอดภัยประจำวัน ตามสาเหตุของปัญหาที่พบ
                    5)   จัดโอกาสในการฝึกวิธีการเดินหน้าห้องเรียน เดินขึ้น-ลงบันไดให้ถูกทิศทาง การเดินเข้า-ออกห้องเรียน การเข้าแถวรอโอกาสในการใช้อ่างน้ำ ห้องน้ำ รับถาดอาหาร
                    6)   จัดให้เด็กได้เดินดูบริเวณโรงเรียนทั้งหมด สังเกตสถานที่ที่ควรระมัดระวัง ถ้าจะต้องไปในบริเวณนั้น
                    7)   ช่วงพักเพื่อดื่มนม รับประทานอาหารว่างและอาหารกลางวัน ควรให้เด็กรู้จักชื่อ และคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร สังเกตการดื่มนม รับประทานอาหารของเด็กและบันทึกข้อสังเกตที่พบ
                    8)   ดูแลให้เด็กได้เข้าห้องน้ำ ล้างมือก่อนอาหาร ล้างมือและแปรงฟันหลังอาหาร
                    9)   จัดโอกาสให้เด็กได้ตักอาหารด้วยตนเองหรือให้บริการอาหารและทำความสะอาดภาชนะในการรับประทานอาหารเอง ถ้าจัดให้เด็กรับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่มๆ ควรสอนให้เด็กได้ใช้ช้อนกลาง
                    10)  จัดให้มีผ้าเช็ดมือสำหรับเด็กได้ใช้หลังการล้างมือและให้ผู้ปกครองสลับนำไปซัก
                    11)  ให้เด็กได้จัดสถานที่นอนด้วยตนเอง โดยครูคอยดูแลแนะนำและช่วยเหลือ เมื่อจำเป็น เครื่องนอนควรให้นำกลับไปทำความสะอาดทุกวันสุดสัปดาห์
                    12)  ระหว่างเด็กนอนพักผ่อน ให้เปิดเพลงเบาๆ เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้แก่เด็ก ถ้ามีเด็กที่ไม่นอนควรดูแลให้นอน สำหรับเด็กที่ไม่ต้องการนอน ควรแนะนำสถานที่ให้ทำกิจกรรมเงียบๆ โดยไม่รบกวนผู้อื่น ขณะเด็กนอนควรจะได้สังเกตพฤติกรรมการนอนและบันทึกการสังเกตด้วย
                    13)  เด็กตื่นนอน เก็บเครื่องนอนให้เรียบร้อย ควรให้ได้ล้างหน้า เช็ดหน้าด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัวของเด็กเองแต่ละคน ไม่ใช้ของร่วมกัน ครูเตรียมกระดาษเช็ดหน้าไว้ในกรณีเด็กไม่มีผ้าของตัวเอง ให้ได้ใช้กระดาษเช็ดหน้าแทน และติดตามให้เด็กได้มีผ้าของตนเองใช้
                    14)  ครูควรมีการจัดเตรียมชุดนักเรียนสำรอง หรือชุดสำรองไว้ในกรณีที่เด็กมีเหตุฉุกเฉินที่ทำให้เสื้อผ้าเปรอะเปื้อน เด็กจะได้มีชุดเปลี่ยน ครูควรฝึกเด็กให้ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่เปรอะเปื้อนด้วยตนเอง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเด็กในการดูแลตนเองต่อไป
                    15)  จัดโอกาสให้เด็กได้ฝึกวิธีการเดินทางบนถนนที่มีทางเท้า ไม่มีทางเท้า การข้าม ทางม้าลาย รู้จักสัญญาณจราจร ความปลอดภัยในการนั่งยานพาหนะต่างๆ
                    16)  จัดการตรวจสุขภาพฟันและร่างกายเป็นประจำทุกปี ให้คำแนะนำแก่เด็กและผู้ปกครองในการหยุดเรียนเมื่อมีเด็กเจ็บป่วย รวมถึงวิธีป้องกันโรคภัยที่มีระบาดในแต่ละช่วงเวลา จัดตารางเวลาสำหรับการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงของเด็ก แล้วกรอกรายการให้เด็กได้รับทราบ โดยมีเกณฑ์มาตรฐานให้ได้สังเกตและเปรียบเทียบ
                    17)  แนะนำเด็กให้รู้จักห้องพยาบาลของโรงเรียน และเรียนรู้ถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเกิดบาดเจ็บ อุบัติเหตุ เจ็บป่วยในโรงเรียน
                    18)  ในช่วงเวลาและเวลาพัก ให้เด็กมีโอกาสเล่นโดยอิสระในสนามเด็กเล่นในห้องเรียนและบริเวณหน้าห้องเรียนแล้วแต่กรณี แต่การเล่นของเด็กทุกช่วงเวลา ควรจะมีการดูแลเด็กเพื่อดูแลความปลอดภัยและสังเกตการเล่นของเด็ก และมีการพูดคุยกันถึงวิธีการพักผ่อนที่เหมาะสมนอกเหนือจากการนอน
                    19)  จัดสถานการณ์จำลองหรือใช้นิทานเป็นสื่อ เกี่ยวกับการหลงทางแล้วให้เด็กได้คิดว่าถ้าเราหลงทางบ้างจะทำอย่างไร หาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมร่วมกัน
                    20)  จัดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการดูแล การทิ้งขยะ ทำความสะอาดถังขยะประจำวัน รวมทั้งได้ฝึกการทิ้งขยะแบบแยกขยะ และทางโรงเรียนควรจัดหาถังขยะเพื่อให้เด็กได้ฝึกแยกขยะด้วย
              3.   การกำหนดเวลาเรียน
                    การจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็ก ในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยจะเป็นการพูดคุย นำเสนอตามเหตุการณ์ของกิจกรรมประจำวันที่จะเกิดขึ้นและบูรณาการกับวิชาอื่นๆ หลายเรื่องอาจจะมีการพูดคุยกันเป็นกลุ่มใหญ่ และฝึกปฏิบัติเป็นกลุ่มเล็กหรือรายบุคคล เช่น การแปรงฟันที่ถูกวิธี ครูอาจจะจัดให้มีวิทยากรมาสาธิตการแปรงฟันให้เด็กในกลุ่มใหญ่ ต่อจากนั้นเด็กได้ฝึกการปฏิบัติเป็นรายบุคคล โดยครู วิทยากร คอยดูแลแนะนำ ช่วงเวลาที่จะต้องใช้ในเรื่องนี้ก็อาจจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง ก่อนการรับประทานอาหารกลางวัน เพื่อให้เด็กได้ปฏิบัติจริง หลังจากรับประทานอาหารแล้ว หรือการล้างมืออย่างถูกวิธีก็อาจจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงก่อนรับประทานอาหารว่างหรืออาหารกลางวัน สอนแล้วปฏิบัติต่อเนื่องไปกับสิ่งที่ต้องทำจริงๆ ในช่วงเวลานั้น
                    ดังนั้นการจัดตารางการเรียนการสอนสำหรับชั้นอนุบาล ควรเป็นตารางสอนแบบยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ตามเหตุการณ์ ความจำเป็น ถ้าคิดเฉลี่ยเวลาโดยรวมทั้งปี คงจะจัดได้เป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทุกเช้าเมื่อตรวจสุขภาพ ความสะอาดของเด็ก เข้ามาในห้องเรียนหรือก่อนเข้าห้องเรียนก็อาจจะใช้เวลา 5-10 นาที พูดคุยเกี่ยวกับการตรวจ และแนะนำการดูแลตนเองต่อไป หรือก่อนกลับบ้านอาจจะเตือนในเรื่องของการเดินทางกลับบ้านให้ปลอดภัย และการทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ตรวจพบข้อบกพร่องในตอนเช้า

ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อสุขภาพและความปลอดภัย

              1.   สุขภาพ
                    ตัวอย่างกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ ที่สามารถบูรณาการกับรายวิชาอื่นได้ เช่น
                    1.1   การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง
                            
1)   ทำรายชื่อนักเรียนและทำตารางรายการ วัน เดือน ปี น้ำหนัก ส่วนสูง
                            2)   เด็กชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ครูบอกน้ำหนักให้เด็กได้ยิน แล้วเขียนน้ำหนักลงไป ในช่องรายการแล้วอ่านน้ำหนักพร้อมชี้อีกครั้ง ให้เด็กอ่านตาม ส่วนสูงก็เช่นเดียวกัน
                            3)   ให้ดูเกณฑ์มาตรฐานที่ติดไว้คู่กัน ครูชี้อธิบาย แล้วให้เด็กได้สังเกตน้ำหนัก ส่วนสูงของตนเองเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับเกณฑ์ ต่ำกว่า สูงกว่า เท่ากัน
                            4)   เมื่อมีรายการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง หลายครั้ง ให้เด็กสังเกตการเจริญเติบโต ของตนเองแล้วให้คาดคะเนว่าอะไรที่ช่วยให้น้ำหนักมากขึ้นน้อยลง
                    1.2   การประกอบอาหาร อาจจะทำจากพืชที่ปลูกไว้ ซื้อมา ทำได้ทั้งของคาว ของหวาน ทำอาหารประจำเทศกาลต่างๆ ครูสอนหรือเชิญผู้ปกครองมาเป็นวิทยากร เช่น
                            1)   ทำแปลงผัก
                            2)   นำผักที่ได้มาประกอบอาหารตามที่เด็กเสนอ ครูช่วยจัดการแต่เด็กลงมือทำ
                            3)   ตั้งชื่ออาหาร บอกส่วนประกอบของอาหารที่ทำ รสชาติของอาหาร
                            4)   ทำความสะอาด ล้าง เก็บภาชนะที่ใช้
              2.   ความปลอดภัย
                     
ตัวอย่างกิจกรรมเกี่ยวกับการเดินทางเพื่อความปลอดภัย เช่น
                     1.   จำลองห้องเรียนเป็นสภาพของถนน โดยนำเก้าอี้เรียงเป็น 2 แถว มีช่องว่างระหว่างกลางประมาณ 3 เมตร สมมุติเป็นถนน
                     2.   นำบล็อกมาวางไว้ตรงกลาง คือ ระหว่าง 1.5 เมตร เรียงเหมือนเป็นรอยประกลางถนน
                     3.   ทำทางม้าลายไว้ 1 แห่ง และนำเก้าอี้บริเวณที่เป็นทางม้าลายออกไป ทำให้มีช่องว่างที่จะเดินเข้าไปทางเท้า
                     4.   สมมุติให้เด็กมาทำหน้าที่เป็นรถยนต์ แล่นสวนไปมาซ้าย-ขวา จำนวนแล้วแต่ขนาดของห้อง อาจจะข้างละ 1-4 คน รวมในถนนจะมี 2-8 คน
                     5.   ให้เด็กเดินข้ามถนนโดยระวังรถยนต์ที่แล่นผ่านไปมาเอง ข้ามถนนให้ปลอดภัยแล้วให้ฝึกเดินบนทางเท้า

การประเมินผล

              เมื่อมีการให้ประสบการณ์แก่เด็กในเรื่องสุขภาพ และความปลอดภัยแล้ว ครูจะต้องคอยบันทึกการสังเกตพฤติกรรมของเด็กให้ครอบคลุมตามเป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ เพื่อจะนำไปสรุปประเมินผลพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก โดยผู้ประเมินจะต้องศึกษาทำความเข้าใจ วิธีการ ในการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ ก่อนที่จะมีการบันทึกข้อมูลที่จะนำไปสู่การประเมินที่เป็นไปตามสภาพจริง
              เกณฑ์การประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ ในส่วนของสุขภาพและความปลอดภัยมี 14 รายการ รายการที่ประเมิน มีดังนี้
              1.   ทำความสะอาดตนเอง
              2.   ทำความสะอาดของใช้
              3.   ช่วยดูแลความสะอาดของสภาพแวดล้อม
              4.   ดื่มนมและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
              5.   กะประมาณอาหารได้พอดีกับความต้องการ
              6.   ทำหน้าที่ให้บริการอาหารแก่เพื่อน
              7.   มีมารยาทในการรับประทานอาหาร
              8.   เปรียบเทียบน้ำหนัก ส่วนสูงของตนเองกับเกณฑ์มาตรฐาน
              9.   ดูแลสุขภาพและปฏิบัติตนได้เหมาะสมกับสภาพอากาศและเหตุการณ์
              10. บอกผลของการตรวจสุขภาพฟันและร่างกาย
              11. ปฏิบัติตนในการพักผ่อนได้ถูกต้องและเหมาะสม
              12. ปฏิบัติตนได้ตามข้อตกลง
              13. เล่นเครื่องเล่นได้ถูกวิธีและปลอดภัย
              14. รู้จักวิธีช่วยเหลือตนเองได้เมื่อเจ็บป่วย เกิดบาดแผล หรือพบอุบัติเหตุ
              เมื่อประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ในส่วนสุขภาพและความปลอดภัยแล้ว ควรจะได้นำรายการที่ประเมินเสนอในสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน เพราะการรายงานผลการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้แก่ผู้ปกครอง จะช่วยทำให้ผู้ปกครองมองเห็นภาพที่แท้จริงของเด็กในแต่ละสาระความรู้ เพื่อที่บ้านและโรงเรียนจะได้ช่วยกันดูแลเด็กให้ได้เติบโตไปเต็มตามศักยภาพของเด็กเอง

ทักษะกลไก

              พัฒนาการทางด้านร่างกายนับได้ว่าเป็นศูนย์กลางของพัฒนาการทั้งหมดของเด็กปฐมวัย เพราะพัฒนาการทุกด้านจะเป็นไปด้วยดี บนพื้นฐานที่ดีของร่างกาย ดังนั้นในการจัดการศึกษา สำหรับเด็กอนุบาลทุกแนวคิด จะให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางด้านร่างกาย โดยเน้นในส่วนของการพัฒนาทักษะกลไกกล้ามเนื้อย่อย กล้ามเนื้อเล็ก กล้ามเนื้อใหญ่ สมดุลของร่างกายให้มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งการเดิน การวิ่ง การกระโดดและอื่นๆ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะทำให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ โดยที่กล้ามเนื้อแต่ละส่วนได้รับการพัฒนาเต็มที่ตามวัย
              การพัฒนาทักษะกลไกสำหรับเด็กปฐมวัย จำเป็นที่จะต้องจัดกิจกรรมให้เด็กได้ปฏิบัติเพื่อการออกกำลังกาย มีโอกาสได้เล่นโดยใช้อุปกรณ์การกีฬาและมีข้อตกลงในการเล่นรวมทั้งตระหนักในการออกกำลังกายและการเล่นได้อย่างปลอดภัย ปลูกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของการละเล่นของท้องถิ่นและของไทย ชื่นชมและนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน
              สาระต่อไปนี้เป็นเพียงแนวทางสำหรับการทำงานเพื่อพัฒนาทักษะกลไกให้แก่เด็กอนุบาล โดยให้เห็นภาพการทำงานเพื่อเด็กตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายมาตรฐานการเรียนรู้ไปจนถึงการประเมินผล การนำเสนอจะไม่ระบุว่าสำหรับเด็กอายุเท่าใด การนำไปใช้จะต้องพิจารณาจัดกิจกรรมให้มีความยาก-ง่าย สัมพันธ์กับเด็กที่รับผิดชอบที่บางครั้งเด็กอายุเท่ากันอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือจัดกิจกรรมให้แตกต่างกันไปตามวุฒิภาวะ ประสบการณ์พื้นฐานความพร้อมของร่างกายและสภาพแวดล้อมของแต่ละโรงเรียน ในการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กเพื่อพัฒนาทักษะกลไก ควรให้มีสมดุลในการจัดทั้งภายในห้องเรียนและภายนอกห้องเรียน ทุกอย่างที่จัดให้แก่เด็กนำไปสู่เป้าหมายและเป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด

เป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้

              เป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรจุฬาลักษณ์สำหรับการพัฒนาทักษะกลไกให้แก่เด็กปฐมวัย มีดังนี้
              เป้าหมายที่ 7 :  มีประสบการณ์และเห็นคุณค่าของการพัฒนาทักษะกลไก
                            มาตรฐานที่ 16 : สนใจและปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาทักษะกลไก
                            มาตรฐานที่ 17 : เห็นประโยชน์ของการละเล่นของท้องถิ่นและของไทย

เนื้อหาสาระ

              1.   ทักษะกลไก
                    การที่เด็กจะมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ และมีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์โดยที่กล้ามเนื้อแต่ละส่วนได้รับการพัฒนาเต็มที่ตามวัย จำเป็นจะต้องจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะกลไกให้แก่เด็ก และปลูกจิตสำนึกให้เด็กเห็นคุณค่าของการออกกำลังกายและพัฒนาพื้นฐานการกีฬา
                    เป้าหมายที่ 7 :  มีประสบการณ์และเห็นคุณค่าของการพัฒนาทักษะกลไก
                            มาตรฐานที่ 16 : สนใจและปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาทักษะกลไก
                                          16.1   ปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างความสมดุลของร่างกาย
                                          16.2   สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกาย
                                          16.3   ออกกำลังกายด้วยวิธีการที่หลากหลาย
                            มาตรฐานที่ 17 : เห็นประโยชน์ของการละเล่นของท้องถิ่นและของไทย
                                          17.1   สนใจการละเล่นของท้องถิ่นและของไทย
                                          17.2   เล่นการละเล่นของท้องถิ่นและของไทย
                    สิ่งที่เด็กควรได้รับมีดังนี้
                    1.1   การสร้างความสมดุลของร่างกาย เป็นความจำเป็นที่จะต้องปูพื้นฐานให้แก่เด็กได้ฝึกกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้เด็กเกิดการทรงตัวที่ดีในการนั่ง ยืน เดิน วิ่ง รู้จักที่จะกะประมาณคิดไตร่ตรองควบคุมร่างกายให้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างถูกวิธีที่จะนำไปสู่ความสมดุลของร่างกาย
                    1.2   การออกกำลังกายด้วยการเคลื่อนไหว การสอนให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นวิถีทางที่จะช่วยให้เด็กได้สร้างสรรค์และค้นพบวิธีการควบคุมร่างกาย จุดเน้นควรจะอยู่ที่สำรวจวิธีการเคลื่อนไหวร่างกาย ดูว่าเด็กจะเคลื่อนไหวได้อย่างไรมากกว่าไปมุ่งเน้นว่าทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน ให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย ควบคุมการเคลื่อนไหว ทิศทางของ การเคลื่อนไหว ใช้อุปกรณ์ทางการกีฬา ให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายด้วยตนเอง กับเพื่อนเป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ เรียนรู้ข้อตกลงในการเล่นร่วมกันโดยเน้นเพื่อเป็นการออกกำลังมากกว่าการแข่งขัน
                           เมื่อมีการใช้อุปกรณ์ทางการกีฬามาประกอบการออกกำลังกาย เด็กควรจะได้รู้จักชื่อ การใช้ การดูแลรักษาอุปกรณ์ การยืม การส่งคืนจัดเก็บ เรียนรู้ความปลอดภัยในการเล่นร่วมกัน
                           การบริหารส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยการทำตามแบบ ด้วยการฟังเพลงประกอบที่เหมาะกับวัย ให้เด็กได้สลับกันเป็นผู้นำ
              2.   การละเล่นของท้องถิ่นและของไทย
                    ทุกท้องถิ่นจะมีการละเล่นที่เด็กในแต่ละท้องถิ่นได้เล่นสืบทอดกันมา กิจกรรมการละเล่นเหล่านั้นเด็กในแต่ละท้องถิ่นควรจะได้มีโอกาสเล่นในโรงเรียน รวมถึงการละเล่นของไทยในฐานะที่เด็กเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ควรจะได้รู้จักวิธีเล่น เห็นคุณค่านำมาเล่นในช่วงเวลาว่าง เพื่อการออกกำลังกายกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนและเพื่อนบ้าน นอกจากนี้เด็กควรจะได้รู้จักชื่อของการละเล่นแต่ละชนิด รวมถึงชื่ออุปกรณ์ประกอบการละเล่น

แนวการจัดการเรียนการสอน

              1.   การจัดสภาพแวดล้อม
                    ในการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กได้พัฒนาทักษะกลไกอย่างเต็มที่นั้นการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าสภาวะอากาศจะเป็นอย่างไรทักษะกลไกของเด็กควรจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกวัน ดังนั้นภายในห้องเรียน ภายนอกห้องเรียน และภายในโรงเรียน ต้องจัดสรรสิ่งต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาทักษะกลไกให้แก่เด็ก โดยสัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน
                    1.1 ภายในห้องเรียน ควรจัดห้องเรียนให้มีที่ว่างเพียงพอในการทำงานเดี่ยว กลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ และสามารถจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะกลไกได้ นอกจากที่ว่างแล้วสมควรจะมีหนังสือภาพ หรือหุ่นจำลองเกี่ยวกับการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา ติดหรือจัดไว้ในห้องเรียนเพื่อช่วยกระตุ้นความสนใจให้แก่เด็กในการที่จะใช้เวลาว่างในการออกกำลังกาย ตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถปฏิบัติได้ในห้องเรียน เช่น รีรีข้าวสาร มอญซ่อนผ้า การส่งผ่านลูกบอลลอดขา การเดิน ต่อเท้าในวงกลม การทำท่าทางประกอบเพลง เคลื่อนไหวร่างกายประกอบดนตรี
                    1.2 ภายนอกห้องเรียน บริเวณหน้าห้องเรียนหรือใกล้เคียงที่มีที่ว่างพอจะจัดกิจกรรมได้ในกรณีที่ห้องคับแคบเกินกว่าจะจัดกิจกรรมบางอย่างได้พร้อมกัน ตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ คือ กิจกรรมเช่นเดียวกับในห้องเรียน การฝึกสมดุลของร่างกายโดยเดินบนไม้ นำเบาะ มาวางให้เด็กได้ม้วนตัว โยน-รับลูกบอล กระโดดแตะป้ายต่างๆ แล้วอ่าน กิจกรรมที่มีการเดินวิ่ง
                    1.3 ภายในโรงเรียน ควรมีบริเวณที่จัดไว้สำหรับเป็นสนามเด็กเล่นเฉพาะเด็กวัยอนุบาล โดยจัดสนามเด็กเล่นให้มีความร่มรื่น และมีความเป็นธรรมชาติที่สุด โดยยึดเป้าหมายของการพัฒนาทักษะกลไก สิ่งที่น่าจะจัดไว้ในสนามเด็กเล่น คือ อุปกรณ์ที่ช่วยให้เด็กได้ฝึกสมดุลของร่างกายได้ออกกำลังกายด้วยการเคลื่อนไหว โดยให้เด็กได้สัมผัสสิ่งที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ตัวอย่างอุปกรณ์  ที่น่าจะนำมาไว้ในสนามเด็กเล่น เช่น ขอนไม้ขนาดใหญ่ที่มีกิ่งก้านหรือโพรงให้เด็กได้ปีน ไต่ มุด คลาน ลอด กระโดด โหน เดิน มีแผ่นไม้หรือท่อนไม้หลากหลายขนาดให้เด็กได้ฝึกสมดุล ทดลองเดินโดยอิสระปราศจากการกำกับของครูแต่ครูดูแลอยู่ห่างๆ เพื่อให้เห็นว่าการเล่นปลอดภัย และบันทึกข้อสังเกตที่พบในแง่พัฒนาการของเด็กในการทำกิจกรรม มีต้นไม้ขนาดใหญ่ ขนาดต่างๆ ที่เด็กจะปีนขึ้นไปนั่งได้ มีเชือกห้อยมาจากต้นไม้ให้เด็กได้โหน ไต่ หรือทำเป็นบันไดเชือก มีกระบะทรายที่ทำขอบด้วยท่อนไม้ มีท่อนไม้ที่มีความสูงระดับต่างๆ วางเรียงกันให้เด็กได้เดินขึ้นลงเหมือนบันได มีท่อนไม้ขนาดต่างๆ ให้เด็กได้เข็นและยกนำมาสร้างสิ่งต่างๆ ตามจินตนาการ มีบ้านกระท่อมไม้ไผ่มุงใบไม้ ฟาง เครื่องเล่นสำเร็จรูปที่จะนำเข้ามาควรจะทำด้วยไม้ เครื่องเล่นเดิมที่มีใช้อยู่ปัจจุบันควรดูแลทำนุบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย
                           นอกจากนี้ควรจะมีบริเวณที่ว่าง เพื่อเด็กจะได้เล่นออกกำลังกายด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่อาจจะได้เรียนมาหรือเล่นเองโดยอิสระ โดยเฉพาะการละเล่นของท้องถิ่นและของไทย และการเล่นโดยใช้อุปกรณ์การกีฬา
              2.   การกำหนดเวลาเรียน
                    ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็ก เวลาที่จัดควรจะยืดหยุ่นได้ตามกิจกรรมที่ทำบางครั้งอาจจะใช้บูรณาการกับรายวิชาอื่นๆ บางครั้งอาจจะต้องเป็นการเล่นเดี่ยว กลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ รวมทั้งระดับชั้นหรือรวมระดับอนุบาลทั้งหมด
                    สำหรับช่วงเวลาที่เด็กควรจะได้พัก ออกมาเล่นภายนอกห้องเรียนที่สนามเด็กเล่นควรจะจัดเวลาให้ในช่วงเช้าประมาณวันละ 20 นาที หลังการดื่มนมหรือรับประทานอาหารของว่างภาคเช้า
                    การทำกิจกรรมในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน ควรจะจัดไว้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ที่เป็นการกำหนดเวลา นอกนั้นใช้แทรกในรายวิชาอื่นๆ ได้ทุกวัน ช่วงเวลาที่กำหนดอย่างน้อย 1 ครั้ง ควรกำหนดให้ตรงกันทุกห้องเรียนของระดับอนุบาล เพื่อการทำกิจกรรมร่วมกันโดยครูตกลงกันเองตามความเหมาะสม
              3.   กิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะกลไก
                    ในการจัดกิจกรรมต้องมีความสมดุลกันสำหรับกิจกรรมภายในห้องเรียนภายนอกห้องเรียน และภายในโรงเรียน โดยมีกิจกรรมทั้งที่เป็นสากลและการละเล่นของท้องถิ่นและของไทย ครูจะต้องเลือกนำมาปฏิบัติให้สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละสัปดาห์ แล้วทุกครั้งต้องไม่ลืมที่จะบันทึกการสังเกตการปฏิบัติกิจกรรมของเด็กแต่ละคน
                    ตัวอย่างแนวทางปฏิบัติในการจัดกิจกรรม เช่น
                    1)   กิจกรรมบางอย่างต้องการการสาธิตวิธีการปฏิบัติ ครูควรจะต้องแนะนำวิธีการเล่น การใช้อุปกรณ์ อาจจะให้เด็กทดลองหาวิธีการ แล้วมาสรุปวิธีการที่เหมาะสม หรือบางอย่าง ครูก็อาจจะต้องสาธิตให้ดูเลย แล้วคอยดูให้คำแนะนำเมื่อนำไปใช้ เช่น มอญซ่อนผ้า รีรีข้าวสาร ส่งผ่านลูกบอล วิธีการในการจับลูกบอล
                          สำหรับเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น เฉพาะเครื่องเล่นที่ต้องการคำแนะนำเท่านั้นให้เด็กได้ลองเล่นแล้วสังเกตการเล่น ให้เด็กที่ทำได้เหมาะสมทำให้คนอื่นดู หลายอย่างเด็กควรจะมีอิสระในการเล่นด้วยตนเอง
                    2)   แนะนำชื่อเครื่องเล่น อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบการเล่น การออกกำลังกาย แบบค่อยเป็นค่อยไป วันละ 1-3 ชื่อ แล้วแต่ความพร้อมในการรับ การสื่อสารของเด็กแต่ละห้อง จากนั้นจัดโอกาสต่อให้เด็กวาดภาพเขียนคำประกอบภาพ จับคู่ภาพและบัตรคำเกี่ยวกับเครื่องเล่น อุปกรณ์การเล่นต่างๆ และอาจจะขยายต่อเป็นการทำโครงการเกี่ยวกับอุปกรณ์การกีฬา
                    3)   จัดหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย การเล่นของเด็กมาไว้ที่มุมหนังสือ ในห้องเรียน และมีการจัดตกแต่งห้องเรียนเป็นครั้งคราว เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กอยากออกกำลังกายและเล่นกีฬา โดยให้เด็กมีส่วนร่วมช่วยในการตกแต่ง
                    4)   เดือนละครั้งอาจจะมีการสำรวจเกี่ยวกับกิจรรมออกกำลังกายที่เด็กชอบแล้ว สรุปติดไว้ในห้อง ทุกสัปดาห์พูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมที่เด็กชอบทำเพื่อการออกกำลังกายและกิจกรรมนั้นเด็กได้ออกกำลังกายในส่วนใดบ้าง ครั้งละ 3-5 คนต่อวัน ไม่ถามทุกคนในวันเวลาเดียวกันเพราะเด็กจะเบื่อ การพูดคุยจะไม่ได้ประโยชน์ ต่อจากนั้นให้เด็กได้สำรวจบุคคลในบ้านว่าชอบออกกำลังกายด้วยวิธีการใดบ้าง
                    5)   อุปกรณ์ที่นำมาใช้กับเด็ก เลือกวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับเด็ก และขนาดเหมาะ กับวัยของเด็กเพื่อเด็กจะได้หยิบจับใช้งานได้ เช่น ลูกบอล ห่วงโยนลูกบอล ประตูยิงลูกบอล ให้เด็ก  มีโอกาสนำอุปกรณ์หรือของเล่นที่มีที่บ้านนำมาเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนได้ โดยมีข้อตกลงว่าขอครูดูก่อนว่าคืออะไร และของเหล่านั้นช่วยพัฒนาทักษะกลไกอย่างไร นอกจากนี้อุปกรณ์ควรจัดให้หลากหลาย เพื่อเด็กจะได้เลือกเล่นได้ตามความสนใจ ให้เด็กรู้จักวิธีการในการขอยืม เล่น รักษา และส่งคืนอุปกรณ์
                    6)   ข้อตกลงในการเล่นควรจะมาจากเด็ก โดยเด็กๆ ช่วยคิด ครูอาจจะเป็น ผู้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม เช่น การเล่นในสนามเด็กเล่น ให้เด็กบอกวิธีการเล่นที่ถูกต้อง ปลอดภัย ครูเขียนรายการคำที่เด็กบอกไว้ ต่อจากนั้นอาจให้เด็กวาดภาพเสนอการเล่นที่ถูกต้อง/ไม่ควรทำแล้วเขียนคำประกอบภาพ ติดไว้ในห้องเป็นข้อเตือนใจในการเข้าไปเล่นในสนามเด็กเล่น โดยทำให้สอดคล้องกับเรื่องของความปลอดภัย
                    7)   จัดให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกาย และการกีฬาของโรงเรียน ของท้องถิ่นตามโอกาส เพื่อช่วยเสริมแรงจูงใจทางบวกของเด็กให้พอใจที่จะออกกำลังกายสนใจในการเล่นกีฬาและเคารพข้อตกลงในการทำกิจกรรมร่วมกัน

ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะกลไก

              1.   การพัฒนาทักษะกลไก
                    1.1   การสร้างความสมดุลของร่างกาย ตัวอย่างกิจกรรมที่จะนำไปปฏิบัติเพื่อสร้าง ความสมดุลของร่างกายในเบื้องต้น มีดังนี้
                            1)   การคลาน มุด-ลอด ไต่-ปีน  นั่ง-ยืน ขึ้น-ลง  งอตัว-ก้มตัว  กลิ้งตัว-ม้วนตัว เดิน-เดินเร็ว-กระโดด-วิ่ง
                            2)   เดินตามที่กำหนด เช่น บนไม้กระดานแผ่นใหญ่ แผ่นเล็ก ท่อนไม้เป็นเส้นระนาบหรือกลม หรือเป็นท่อนไม้เรียงลำดับให้เดินขึ้น-ลง ทำเชือกเป็นวงกลม เดินต่อเท้าในวงกลม
                            3)   เดินโดยมีอุปกรณ์วางตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ถุงทรายขนาด 200 กรัม วางบนไหล่ แขน มือ 1 ข้าง 2 ข้าง
                            4)   การเล่นอิสระ โดยมีอุปกรณ์ให้เลือกตามความสนใจ เช่น กลิ้งยางยนต์ด้วยมือหรือใช้ไม้เขี่ยเลี้ยงยางยนต์ไปโดยไม่ล้ม ขี่จักรยาน ขับรถ
                            5)   ฝึกการเข้าแถว การเดินในแถว การนั่งเป็นแถวตอน การนั่ง-ยืนในวงกลม การรวมแถว การเดิน-วิ่งต่อแถว การเข้าแถวรับของ
                    1.2   การออกกำลังกายด้วยเคลื่อนไหวร่างกาย ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อนำไปปฏิบัติดังนี้
                            1)   ความเร็ว-ความเข้าใจในการเคลื่อนไหว เช่น โยนบอลช้า-เร็ว เป็นการโยนส่ง-รับโดยปกติ ต่อจากนั้นอาจนำเครื่องดนตรีมาประกอบจังหวะช้า-เร็ว
                            2)   หนัก-เบา ยกหรือผลักของที่หนัก-เบา
                            3)   ทิศทางในการเคลื่อนไหว เช่น โยนบอลไปทางซ้าย ทางขวา บอกเด็กให้เคลื่อนตัวไปรอรับ หรือออกคำสั่งให้เด็กทำตาม เช่น กระโดดมาข้างหน้า ถอยหลัง หันไปทางซ้าย หันไปทางขวา หมุนไปรอบๆ
                            4)   เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เคลื่อนไหวร่างกาย 1 ส่วน 2 ส่วน หรือทั้งตัว โดยใช้คำสั่งหรือใช้เพลงประกอบ ตัวอย่างเพลง หากเรากำลังสบายจงปรบมือพลันต่อไปกระทืบเท้า ส่งเสียงดัง ผงกหัว ทำทั้ง 4 ส่วนหรือยึดตัว โดยเริ่มจากชูมือ 2 ข้าง ยืดไปให้สูงที่สุด เขย่งเท้าทั้ง 2 ข้าง หมุนตัวกระโดดให้สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้
                            5)   ใช้อุปกรณ์ทางการกีฬา เช่น ลูกบอล โดยลูกบอลลงห่วงแป้นบาสเกตบอล เตะลูกบอลเข้าประตู เล่นทีละคน แล้วฝึกให้โยนรับ-ลูกบอลเป็นกลุ่ม
                            6)   กิจกรรมออกกำลังกาย เช่น กระโดดเชือก ชักเย่อ วิ่งเปี้ยว ว่ายน้ำ เก้าอี้ดนตรี โดยมีท่าทางประกอบ
                            7) กิจกรรมเคลื่อนไหวสร้างสรรค์ เช่น ให้เด็กทำท่าทางของสัตว์ประเภทต่างๆ ทำท่าทางเกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไก กลุ่มทำขบวนรถไฟมี 1 คน เป็นคนขับรถไฟ ขับเครื่องบินหรือรถยนต์หรือพาหนะอื่นๆ โดยจินตนาการเป็นเครื่องบิน รถยนต์หรือพาหนะอื่นๆ กำลังจะออก กำลังแล่น กำลังจะจอด ตุ๊กตาที่ไขลานแล้วเดิน หรือหุ่นยนต์ ทำท่าทางทั่วๆ ไปแล้วเดิน วิ่งประกอบ เช่น โบกธง นำขบวนนักกีฬาสู่สนาม
              2.   การละเล่นของท้องถิ่นและของไทย
                    ตัวอย่างกิจกรรมมีดังนี้
                    1)   มอญซ่อนผ้า              2)   รีรีข้าวสาร              3)   ขี่ม้าก้านกล้วย
                    4)   ซ่อนหา                     5)   ตังเต                    6)   ตี่จับ
                    7)   ขี่ม้าส่งเมือง               8)   แม่งู                     9)   เดินกะลา
                    10) สะบ้า
                                          ฯลฯ
              กิจกรรมต่างๆ ที่นำเสนอเป็นตัวอย่างที่จะต้องพิจารณานำมาจัดให้แก่เด็กอาจจะในห้องเรียนและนอกห้องเรียนโดยเหมาะสมกับลักษณะกิจกรรม และกิจกรรมเหล่านี้สามารถนำไปบูรณาการกับวิชาอื่นได้ในการเรียนการสอนประจำวัน เช่น
                    1)   เล่นบทบาทสมมุติแข่งวิ่งจากนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า
                    2)   ร้องเพลงและทำท่าทางประกอบอย่างอิสระ
                    3)   ทำท่าทางประกอบคำบรรยาย
                    4)   นับประกอบท่าทางจากกิจกรรม
                                          ฯลฯ

การประเมินผล

              เมื่อได้จัดกิจกรรมต่างๆ ให้แก่เด็กเพื่อพัฒนาทักษะกลไกแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีการสังเกตบันทึกการสังเกต เพื่อนำไปสรุปประเมินผลพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก โดยผู้ประเมินต้องศึกษาทำความเข้าใจ วิธีการในการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ เพื่อการประเมินการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของเด็กได้อย่างครอบคลุม ตามเป้าหมายและมาตรฐานการเรียนรู้ และนำไปสู่ผลการประเมินที่เป็นไปตามสภาพจริง
              เกณฑ์การประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ในส่วนของทักษะกลไก มี 4 รายการ รายการที่ประเมินมีดังนี้
              1.   ปฏิบัติกิจกรรมที่ช่วยสร้างความสมดุลของร่างกาย
              2.   ออกกำลังกายด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย
              3.   สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกาย
              4.   เล่นการละเล่นของท้องถิ่นและของไทย
              เมื่อประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ในส่วนของทักษะกลไกตามรายการแล้ว ควรจะนำรายการที่ประเมินเสนอในสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน เพราะการรายงานผลการประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้แก่ผู้ปกครองจะช่วยทำให้ผู้ปกครองมองเห็นภาพที่แท้จริงของเด็กในแต่ละสาระความรู้ เพื่อบ้านและโรงเรียนจะได้ช่วยกันดูแลเด็กให้ได้เติบโตไปเต็มที่ตามศักยภาพของเด็กเอง

บรรณานุกรม
              
น้อมศรี  เคท และคณะ. 2549. รายงานการวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล สำหรับสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. (ภาคผนวก) กรุงเทพมหานคร : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 33 – 51.

(บทความที่ 2 ชุดที่ 1)