การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

โดย…ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน
ตุลาคม 2565

1. การประกันคุณภาพการศึกษา (QA)

1.1 QA คืออะไร

Q คือ คุณภาพ (Quality) ของผลการจัดการศึกษา ได้แก่ คุณภาพนักเรียน ผู้สำเร็จการศึกษา

A คือ การประกันคุณภาพ ในที่นี้ หมายถึง Assurance หรือการให้ความมั่นใจ ซึ่งต่างจาก Insurance (ประกันชีวิต อุบัติภัย)

1.2 การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา หมายถึง การที่สถานศึกษาให้ความเชื่อมั่นกับผู้ปกครอง นักเรียน ประชาชน ว่าสถานศึกษาทำงานดี มีประสิทธิภาพ ผลผลิตของสถานศึกษา (คือ นักเรียน และผู้สำเร็จของสถานศึกษา) จึงมีคุณภาพ

1.3 คนที่ทำ QA คือใครบ้าง ทุกคนในสถานศึกษาที่รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งได้แก่ ผู้อำนวยการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ครู เจ้าหน้าที่ นักการ ภารโรง แม่บ้าน แม่ครัว ฯลฯ

1.4 คนเหล่านี้ ทำอะไร คนเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ตามลักษณะงานหรือ Job Description อย่างเต็มที่ ให้คุ้มกับค่าจ้าง ค่าตอบแทน เงินเดือน ซึ่งจะทำให้ผลงาน (ปลายปีการศึกษา) มีคุณภาพ และทุกคนพัฒนาวิธีทำงานของตน เพื่อให้ผลการปฏิบัติงานมีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผลงานรวมก็จะมีคุณภาพ เป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัด ตาม บริบทของสถานศึกษา สุดท้ายผลผลิต (คือ คุณภาพนักเรียน) จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

1.5 ทำไปทำไม คนที่รับเงินค่าจ้าง ค่าตอบแทน เงินเดือน ต้องทำงานให้คุ้มค่ากับเงินที่ได้รับ และเวลาที่เสียไป เป็น การแสดงความร่วมรับผิดชอบ (Accountability) ต่อเจ้าของเงิน และต่อสังคม

2. การประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาทำอย่างไร

2.1 การเริ่มต้น

2.1.2 ผู้บริหารจัดทำลักษณะงาน หรือ Job Description ของทุกงานในสถานศึกษา
ว่ามีอะไรบ้าง และอธิบายให้ทุกคนเข้าใจ บทบาท หน้าที่ วิธีทำงานตาม Job ของตน ตลอดจนวิธีประเมิน
ผล งานปลายปีการศึกษา และการนำผลประเมินมาปรับปรุงวิธีทำงานเพื่อให้ผลงานมีคุณภาพสูงขึ้น

2.1.3 ผู้บริหารจัดคนลงตำแหน่ง และอธิบายขั้นตอนการทำงาน ตลอดจนวิธีประเมินผลงาน ประจำปี เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน และทำงานเพื่อเป้าหมายคุณภาพผู้เรียนร่วมกัน

2.2 ระหว่าง

2.2.1 เมื่อสิ้นปีการศึกษา (ของแต่ละปี) ให้แต่ละคน ประเมินผลงานตาม Job Description ของตน และตาม KPI ที่กำหนดล่วงหน้า

2.2.2 จัดประชุมคนที่ทำงานที่ใกล้เคียงกัน เพื่อสรุปผลงานกลุ่มเทียบกับเกณฑ์ ตัวอย่าง
กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มงานภารโรง กลุ่มงานธุรการ กลุ่มงานสอน (รายชั้นปี และรายกลุ่มสาระ) กลุ่มงานบริหาร (หัวหน้าหมวด รองผอ. ผอ.) ให้แต่ละกลุ่มเทียบกับเกณฑ์ประเมิน แล้วระบุว่าใครได้สูงกว่า ต่ำกว่า เสนอวิธีปรับปรุงวิธีทำงานในปีการศึกษาถัดไป ทำเช่นนี้ทุกปีการศึกษา (นำผลประเมินมาเทียบกับเกณฑ์ ตัดสิน ระบุวิธีปรับปรุงงานและปฏิบัติงาน ในปีถัดไป)

2.2.3 ผู้บริหารให้แต่ละกลุ่มงานหาค่าเฉลี่ยผลประเมินของตน เทียบกับผลประเมินคุณภาพนักเรียน รายชั้นปี รายกลุ่มสาระ โดยอิงตารางดังนี้

ให้แต่ละกลุ่ม สรุปสาเหตุและวิธีทำงาน ในกรณี A, B, C, D แล้วจึงกลับไปปรับวิธีการทำงานในปีต่อไป ทำเช่นนี้ทุกปี จนได้ตารางที่มีเฉพาะ A, D ปรับแก้วิธีการทำงานของแต่ละกลุ่มบุคลากร ผลประเมินบุคลากรโดยรวม

พยายามลด D ให้เป็น 0 ให้เหลือแต่ A เท่านั้น กระบวนการนี้ เรียก กระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ JD เดิม คนกลุ่มเดิม วิธีประเมินผลแบบเดิม กระบวนการนี้ต้องใช้เวลา จึงจะบรรลุผล คือ เหลือช่อง “A” เท่านั้น (อาจใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปี ต้องใจเย็น)

2.3 สรุป
เมื่อสถานศึกษาได้ผล A เป็นส่วนใหญ่ ผู้บริหารตรวจสอบวิธีทำงานของแต่ละคนในแต่ละงาน ว่า “ทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของตัวเอง โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีใครมาเตือน ทำงานตน JD ของตน”
ถ้าสถานศึกษาใด มีบุคลากรทั้งหมดทำงานตกอยู่ในช่อง A และทุกคนทำงานโดยไม่ต้องมีใครเตือน แสดงว่าสถานศึกษานั้นได้รับการประกันคุณภาพแล้วด้วยตนเอง ดังนั้น การประกันคุณภาพ จึงต้องใช้ผลประเมินตัวเอง และของผู้อื่น มาช่วยพัฒนาวิธีทำงานของตน จนทำเป็นอัตโนมัติ นั่นคือ การประกันคุณภาพ
ใช้เทคนิคประเมิน เพื่อนำผลประเมินมาพัฒนาวิธีทำงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในการประกันคุณภาพจะมีคำศัพท์ 6 คำ ดังนี้ คือ

1. IQA (Internal Quality Assurance) หมายถึง ตัวเองตรวจสอบผลงานด้วยตัวเอง และอาจมีต้น สังกัด หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาร่วมตรวจสอบด้วยก็ได้ นำผลการตรวจสอบมาปรับปรุงวิธีทำงาน ของแต่ละคน

2. EQA (External Quality Assurance) หมายถึง การเชิญหน่วยงานอิสระภายนอกมาตรวจสอบ ผลงาน ตามระยะเวลา เช่น ทุกรอบการศึกษาที่สิ้นสุดของหลักสูตร คิอ ถ้าประถมศึกษาใช้เวลา 6 ปี (ป.1 – 6) ก็มาตรวจปีที่ 7 ถ้ามันธยมตอนต้น (ม. 1 – 3) ก็มาตรวจปีที่ 4 ถ้ามัธยมศึกษาตอน ปลาย (ม. 4 – 6) ก็มาตรวจปีที่ 4 ถ้าอาชีวศึกษา (ปวช. 3 ปี) ก็มาตรวจปีที่ 4 ถ้าปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ก็มาตรวจปีที่ 5 เป็นต้น

ในประเทศไทย หน่วยงานที่มาตรวจ IQA คือตัวบุคลากรในโรงเรียน และบุคคลภายนอก เช่น จากเขตพื้นที่การศึกษา หรือจากต้นสังกัด กระทรงศึกษาธิการ ส่วนหน่วยงาน EQA คือ สมศ.

3. PDCA คือ วงจรไม่รู้จบที่นำมาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพโดยตัวเอง เขียนเป็นวงจรได้ดังนี้ P หมายถึง การวางแผน (ตามระยะเวลา เช่น ยาว สั้น) ของสถานศึกษา D หมายถึง ทุกคนทำงานตาม P C หมายถึง การตรวจสอบ ประเมินผลการประทำจาก D A หมายถึง การนำผลตรวจสอบมาปรับปรุงงานใน P PDCA จึงเป็นวงจรมีขนาดต่าง ๆ ระยะเวลาต่าง ๆ ตามงานที่เกี่ยวข้อง โดยงานส่วนบุคคล หรืองานของสถานศึกษาก็ได้

4. การประเมิน VS การประกัน การประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศไทยให้เทคนิคประเมิน (Assessment) เพื่อให้ได้ข้อมูล มาปรับปรุงวิธีทำงานของตน การประกันจึงไม่ใช่การประเมิน

5. คำที่เกี่ยวข้องกับวิธีประเมิน วิธีประเมินมีคำที่เกี่ยวข้อง 3 คำ คือ

5.1 มาตรฐานประเมิน (Content Standard) หรือประเด็นประเมิน หรือองค์ประกอบ กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้มี 3 ตัว คือ มาตรฐานที่เกี่ยวกับนักเรียน ครู และผู้บริหาร

5.2 ตัวบ่งชี้ หรือตัวชี้วัด (Indicator, Index) ในกรณีที่ประเด็นประเมินกว้าง จะต้องมีตัวชี้วัด/ตัว บ่งชี้มาช่วย เพื่อให้เกิดความชัดเจน เช่น มาตรฐานที่เกี่ยวกับนักเรียน จะประกอบด้วย ตัวชี้วัด 2 ตัว คือ มาตรฐานย่อยด้านความรู้ ความคิดของนักเรียน กับมาตรฐานย่อยด้าน จิตใจ คุณธรรม สังคม ร่างกาย สุขภาพ อนามัย โดยทั่วไปตัวบ่งชี้จะมี 2 ลักษณะคือ Index (ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ) กับ Indicator (ตัวชี้วัดเชิง คุณลักษณะ)

5.3 เกณฑ์ประเมิน/เกณฑ์ตัดสิน ในการหาข้อมูลด้วยวิธีประเมิน จะได้ผลประเมิน ซึ่งนำมาเทียบกับเกณฑ์ เพื่อให้สามารถ ตัดสินหรือตัดสินใจได้ว่าจะอยู่เหนือเกณฑ์ เท่ากับเกณฑ์ หรือต่ำกว่าเกณฑ์ ผลประเมินมีได้ตั้งแต่ 2 ระดับ ขึ้นไป เช่น ผ่าน-ไม่ผ่านเกณฑ์ หรือผ่านระดับสูง ผ่านระดับ เท่ากับเกณฑ์ ไม่ผ่านตามเกณฑ์ ฯลฯ

6. SAR หรือ Self-Assessment Report เป็นรายงานชนิดหนึ่ง ที่ผู้รวบรวมผลประเมินมาจัดทำรายงาน

6.1 SAR มีหลายระดับ หลายประเภท เช่น SAR รายบุคคล/ SAR ราย JD/ SAR รายชั้นปี/ SAR รายช่วงชั้น/ SAR รายสถานศึกษา

6.2 ในสถานศึกษา SAR ควรมีหลายระดับ หลายกลุ่ม ตามขนาดและประเภทของสถานศึกษา

6.3 ในการรับการตรวจสอบคุณภาพ SAR จะมี 1 ฉบับ คือ ฉบับสรุปผลงานของสถานศึกษา ตาม ระยะเวลา เช่น 1 ปี 2 ปี 5 ปี ซึ่งสถานศึกษาจะจัดทำ SAR ฉบับนี้ขึ้นเพื่อขอรับการตรวจ ประเมินจากตัวเอง จากบุคคลต้นสังกัด (IQA) หรือจาก สมศ. (EQA)

6.4 SAR ควรมีความยาวไม่มาก สรุปเฉพาะผลประเมินรายตัวบ่งชี้รายมาตรฐาน พร้อมระบุวิธีปรับปรุงคุณภาพให้สูงขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

ดังนั้น สถานศึกษาจึงจัดทำ SAR สรุปผลงาน เช่น รายปี ราย 2 ปี เสนอต้นสังกัด เพื่อรับ การตรวจคุณภาพภายในโดยต้นสังกัด (IQA) และจัดทำ SAR สรุปผลงานระยะยาว เช่น 5 ปี เสนอ สมศ.
เพื่อรับการตรวจสอบผล หรือผลกระทบ (เป็นการตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานภายนอก) (EQA) สถานศึกษาสามารถใช้ SAR ฉบับสถานศึกษา เป็นรายงานประจำปีได้

หัวข้อใน SAR เพื่อ IQA และ EQA

SAR คือ รายงานผลการประเมินคุณภาพของสถานศึกษา ดังนั้น SAR จึงต้องมีหัวข้อตามวิธี เขียนรายงานแบบสากล ซึ่งประกอบด้วย ส่วนนำ ส่วนสำคัญ ส่วนสรุป

ส่วนนำ ควรมีความยาวไม่มาก เป็นการเขียนเสนอภาพรวมสถานศึกษา

ส่วนสำคัญ ควรมีความยาวพอควร เพราะนำเสนอวิธีประเมิน และผลประเมินรายตัวบ่งชี้ และรายมาตรฐาน พร้อมข้อเสนอเพื่อพัฒนา

ส่วนสรุป ไม่ควรยาวมาก สรุปผลประเมินรายมาตรฐาน และวิธีนำผลประเมินโดยรวมมาปรับปรุงคุณภาพ

ภาคผนวก ไม่ควรยาว มีเฉพาะผลวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญ

การรับการตรวจประเมิน

ไม่ว่าจะเป็น IQA หรือ EQA ทุกคนในสถานศึกษา จะเป็นคนให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับคณะผู้ ตรวจสอบประเมิน ผู้บริหารคือบุคคลสำคัญ ที่ต้องตอบคำถามให้คณะผู้ตรวจสอบ และรับ ข้อเสนอแนะจากคณะ
ผู้ตรวจสอบ ไปใช้ปรับปรุงวิธีทำงานในปีต่อไป

การนำเสนอผลประเมิน

คณะผู้ตรวจสอบ/ประเมิน ระบุผลประเมินตามเกณฑ์รายมาตรฐาน พร้อมให้ข้อเสนอเชิง สร้างสรรค์ (ภายใต้บริบทของสถานศึกษา) เพื่อให้สถานศึกษาได้แนวทาง ประเด็นไปปรับแก้วิธี ทำงาน และเสริมจุดแข็งของตนต่อไป

3. ทำไมการประกันคุณภาพการศึกษาในประเทศไทยจึงล้มเหลว

3.1 ผู้บริหารระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับสถานศึกษา (ทุกระดับ
ทุกประเภท) ไม่เข้าใจเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง เข้าใจผิวเผิน แท้จริงแล้วการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นเครื่องมือบริหารจัดการศึกษาของผู้บริหารทุกระดับ ทุกประเภท เมื่อผู้บริหารไม่เข้าใจ การนำผลตรวจสอบคุณภาพมาพัฒนาอย่างต่อเนื่องจึงไม่เกิดขึ้น

3.2 การเปลี่ยนผู้บริหารระดับกระทรวง ระดับหน่วยงานบ่อย ทำให้เกิดการหยุดชะงัก
ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง การนำผลตรวจสอบมาพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต้องใช้เวลา ต้องทำ อย่างต่อเนื่อง

3.3 สมศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพภายนอกของประเทศ เปลี่ยนวิธีประเมิน (เปลี่ยนประเด็น ประเมิน ตัวบ่งชี้ เกณฑ์การตัดสิน) ทุก 5 ปี ก่อให้เกิดการหยุดชะงักการพัฒนาที่ต่อเนื่อง และ ก่อให้เกิดปัญหากับสถานศึกษาที่ต้องจัดทำ SAR เพื่อ สมศ. ทุก 5 ปี แทนที่จะใช้ SAR สรุปจาก IQA

3.4 หน่วยงานต้นสังกัดที่จัดการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท (เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ท้องถิ่น เทศบาล กระทรวง อว. กระทรวงอื่นที่จัดการศึกษา) ไม่มีคนเข้าใจความหมายที่แท้จริงของการประกันคุณภาพว่าทำไปทำไม ทำให้เกิดการขาดตอนการนำผลตรวจสอบมาใช้พัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และ หลายแห่งเดินไปผิดทางเพราะผู้นำไม่เข้าใจเรื่อง QA

3.5 ผู้บริหารสถานศึกษา ไม่ใส่ใจในการจัดทำ SAR ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำ และก็ไม่นำผลมาใช้เพื่อพัฒนา คุณภาพสถานศึกษาของตน 3.6 ประเทศไทย ขาดผู้รู้จริงเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา คิดว่าการประกันคือการประเมิน แม้คำว่าการประเมินระหว่าง Assessment กับ Evaluation ก็ไม่เข้าใจว่าต่างกันอย่างไร นอกจากขาดผู้รู้จริงเรื่อง QA แล้ว ยังไม่คิดจะสนับสนุน QA ให้เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพ การศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ไม่สนใจว่าคุณภาพผลผลิตทางการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท ว่าจะเป็น อย่างไร ดังนั้น คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยจึงหยุดชงัก และเดินผิดทางมาตลอด