เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ และนางสาวกมลทิพย์ นิ้มคธาวุธ
(กันยายน, 2561)
รอยเชื่อมต่อทางการศึกษา เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผ่านจากระดับชั้นเรียนหนึ่งไปยังระดับชั้นเรียนอีกระดับหนึ่ง ที่มีธรรมชาติและรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลโดยตรงกับเด็กในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ใหม่ และอาจทำให้เด็กเกิดความกังวลใจ (กมลทิพย์ นิ้มคธาวุธ, 2561 สรุปความหมายจาก Dunlop and Fabian (2002), Department of Education and Early Childhood Development (2009), สุจิตรพร สีฝั้น (2550) และยศวีร์ สายฟ้า (2557))
การเปลี่ยนแปลงจากระดับชั้นอนุบาลและระดับชั้นประถมศึกษาเป็นช่วงเวลาที่สำคัญกับชีวิตของเด็ก เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นการศึกษาภาคบังคับ เด็กที่กำลังเข้าสู่โรงเรียน (อายุระหว่าง 5-7 ปี) ยังปรับตัวได้ไม่ดีนัก และต้องเผชิญกับรูปแบบและลักษณะการเรียนรู้ที่เป็นทางการมากขึ้น เด็กที่เพิ่งเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว การมีรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของช่วงที่สำคัญดังกล่าวนี้จะส่งผลให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และการทำงานในอนาคต (กมลทิพย์ นิ้มคธาวุธ, 2561)
แนวทางในการเชื่อมต่อการศึกษาระหว่างชั้นอนุบาลศึกษาและประถมศึกษา
ข้อมูลจากงานวิจัยของ กมลทิพย์ นิ้มคธาวุธ เรื่อง บทบาทครูในการสร้างรอยเชื่อมต่อ ทางการศึกษาของเด็กเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (2561 : 36-41) ได้ศึกษาเอกสารทางวิชาการเพื่อเป็นพื้นฐานและแนวทางในการทำการวิจัยในเรื่องการสร้างรอยเชื่อมต่อการศึกษาระหว่างชั้นอนุบาลศึกษา และประถมศึกษาของต่างประเทศ สรุปสาระสำคัญเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ดังนี้
- ประเทศสกอตแลนด์ “Apprenticeship Model” (Dunlop, 2002 cited in Fabian & Dunlop, 2006) มีวิธีการดังนี้
- คัดเลือกบุคคลกร และวางแผนการดำเนินงานทั้งหมดในช่วงรอยเชื่อมต่อ
- ใช้กิจกรรมให้เด็กอนุบาลไปทัศนศึกษาชั้นเรียนประถมศึกษา
- ให้เด็กที่เรียนในชั้นประถมศึกษาได้กลับมาทำกิจกรรมในชั้นเรียนอนุบาล
- ให้เด็กอนุบาลได้ทำความรู้จักกับครูคนใหม่ในชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 1
- ให้ได้ทำกิจกรรมแบบนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อย่างต่อเนื่องก่อนการเปิดเรียน
- ประเทศเยอรมนี (Griebel and Niesel, 2002)
- ทำความเข้าใจระหว่างครูและผู้ปกครองเกี่ยวกับการดำเนินงานในช่วงรอยเชื่อมต่อ เพื่อลดปัญหาความคาดหวังที่จะทำให้เด็กเครียด
- ใช้การสื่อสารระหว่างครอบครัว ครูอนุบาล และครูประถม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการเรียนของเด็กที่มีการเปลี่ยนแปลง และเป็นการเรียนแบบทางการมากขึ้น
- ประเทศเดนมาร์ก (Broström, 1998)
- สังเกตการทำกิจกรรมต่างๆ และผลงานของเด็กที่สะท้อนถึงพัฒนาการแต่ละบุคคล
- จัดทำหลักสูตรและวางแผนกิจกรรมในช่วงรอยเชื่อมต่อให้สอดคล้องกับความพร้อมพัฒนาการและตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก
- ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้เลี้ยงดูเด็ก หรือผู้ปกครอง
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เด็กเกิดความมั่นใจ และมีความสุขในการมาเรียนชั้นประถมศึกษา
- ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Van der Aaisvoort, 2007)
- การศึกษาภาคบังคับจะรับเด็กตั้งแต่ 5 ขวบที่เรียนอยู่ในชั้นอนุบาล จึงจัดการศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 คล้ายกับระดับอนุบาล
- เริ่มการเรียนแบบอ่าน – เขียน และคณิตศาสตร์ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
- มีการคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับเด็กสูงสุด
- มีการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้
- ประเทศฮ่องกง (Chan, 2010) ได้เสนอแนวทางปฏิบัติของบุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงรอยต่อ ดังนี้
1) แนวทางปฏิบัติของรอยเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ
1.1) การปฏิบัติของรอยเชื่อมต่อ
(1) ครูชั้นอนุบาลศึกษา
(1.1) ให้เด็กอนุบาลได้มีประสบการณ์ทำกิจกรรมร่วมกับพี่ชั้นประถมศึกษา
(1.2) ประชุมผู้ปกครองให้ข้อมูลสิ่งที่เด็กจะพบเมื่อไปเรียนในชั้นประถมศึกษา เชิญโรงเรียนประถมศึกษามาแลกเปลี่ยนข้อมูลการเรียนในระดับประถมศึกษา
(1.3) เตรียมความพร้อมให้แก่เด็กด้านทักษะทางวิชาการ และพฤติกรรมการแสดงอารมณ์ของตนเอง การแสดงออกทางสังคม
(2) ครูชั้นประถมศึกษา
(2.1) ปฐมนิเทศเด็กใหม่ จัดสัปดาห์รอยเชื่อมต่อช่วงก่อนเปิดเทอม ให้เด็กคุ้นเคยกับสังคม และสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่
(2.2) มีนโยบายและเป้าหมายของโรงเรียนให้ชัดเจน เพื่อครูและผู้ปกครองได้มีความเข้าใจร่วมกัน เพื่อลดความเครียดของเด็ก
(2.3) มีการประเมินผลเกี่ยวกับการปรับตัวของเด็กอย่างต่อเนื่อง
2) การทำงานร่วมกันระหว่างระดับอนุบาลศึกษาและประถมศึกษา
2.1) การจัดกิจกรรมร่วมกัน
2.2) แลกเปลี่ยนข้อมูลเด็กจากครูอนุบาลสู่ครูประถม
2.3) มีนโยบายสนับสนุนการทำงานร่วมกัน และกำหนดกลุ่มคนที่จะทำงานในรอยเชื่อมต่อ
3) ความร่วมมือของครอบครัวกับโรงเรียนด้วยการสื่อสารหลากหลายช่องทางเพื่อสร้างความสัมพันธ์ เช่น การสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การแจกหนังสือ
ประเทศไอซ์แลนด์ Einarsdottir (2003) ได้เสนอแนวทางปฏิบัติไว้ดังนี้
- ครูอนุบาลและเด็กอนุบาลไปเยี่ยมชมโรงเรียนประถมศึกษาก่อนโรงเรียนเปิด
- ครูอนุบาลและครูประถมทำงานร่วมกันด้วยการสังเกตการปฏิบัติงานในห้องเรียน ในแต่ระดับ ประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการจัดการเรียนการสอนเพื่อความต่อเนื่อง ทำความเข้าใจวิถีชีวิต พัฒนาการของเด็กและความแตกต่างของเด็กแต่ละคน ประชุมผู้ปกครองนักเรียนร่วมกัน ครูอนุบาลหาโอกาสในการเข้าไปสอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในบางครั้ง
- ครูประถมศึกษาทำความรู้จักเด็กอนุบาลที่จะมาเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ประเทศฟินแลนด์ Ahtola et al (2012) ได้เสนอแนวทางปฏิบัติเฉพาะในโรงเรียนประถมศึกษา ไว้ดังนี้
- นักเรียนอนุบาลเยี่ยมชม ทำความรู้จักโรงเรียนประถมศึกษา พบปะกับครูและนักเรียน ในโรงเรียนประถมศึกษา
- ครูอนุบาลและครูประถมทำงานร่วมกันในการวางแผนการสอน สอน จัดกิจกรรม ปรับปรุงหลักสูตรอนุบาลและหลักสูตรประถม
- ครูอนุบาลทำแฟ้มพัฒนาการเด็ก เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ครูประถม
- เด็ก ผู้ปกครอง และครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้พบกันก่อนเปิดเทอม
- ครูอนุบาล ครูประถม และบุคลากรพิเศษ เช่น ครูเด็กพิเศษ นักจิตวิทยาพูดคุยกันเกี่ยวกับการเข้าเรียนร่วมกัน
ประเทศออสเตรเลีย Dockett and Perry (2001) ได้เสนอแนวทางการสร้างรอยเชื่อมต่อ ที่ประสบความสำเร็จในประเทศ ไว้ดังนี้
- สร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และนักการศึกษา
- สนับสนุนพัฒนาการของเด็กแต่ละบุคคลให้เป็นไปตามความสามารถ
- จัดกิจกรรมปฐมนิเทศเพื่อสนับสนุนรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา
- จัดหาแหล่งทุน และแหล่งทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในช่วงรอยเชื่อมต่อ
- มีส่วนร่วมจากบุคคลหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในช่วงรอยเชื่อมต่อ
- วางแผนการดำเนินงาน และประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้วิธีการที่มีความยืดหยุ่น และมีความรับผิดชอบ
- อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ และมีความเคารพกันและกัน
- ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานในรอยเชื่อมต่อ
- สื่อสารกันภายในครอบครัวและตัวเด็กภายในชุมชน
The National Center on Quality Teaching and Learning (2014) ได้เสนอรูปแบบของความสัมพันธ์ที่สนับสนุนรอยเชื่อมต่อไว้ดังนี้
- ความสัมพันธ์ของเด็กกับโรงเรียน เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทั้งภายใน และภายนอกห้องเรียนรวมถึงครูคนใหม่ โดยมีแนวทางในการส่งเสริมดังนี้
1.1 ให้ครูประถมได้ไปพบเด็กอนุบาลในห้องเรียน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้เด็กรู้จัก กับครูประถม
1.2 จัดกิจกรรมให้เด็กอนุบาลได้พบกับเพื่อนและครูที่จะต้องพบในอนาคต
1.3 ให้เด็กอนุบาลได้ฝึกกิจวัตรของชั้นประถมศึกษา
1.4 สร้างความคุ้นเคยเรื่องของชั้นประถมศึกษาผ่านการสนทนาและการเล่าเรื่อง การตั้งคำถาม และช่วยให้เด็กลดความกังวลในการเปลี่ยนระดับชั้น - ความสัมพันธ์ของครอบครัวกับโรงเรียน เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีแนวทางการปฏิบัติดังนี้
2.1 ครูหรือผู้ประสานงานติดต่อกับผู้ปกครองก่อนเปิดเทอม ช่วงเปิดเทอม แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเด็กในเวลาอยู่บ้าน
2.2 สื่อสารเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรอยเชื่อมต่อในช่วงเวลาการปฐมนิเทศก่อนเปิดเทอม หรือพาเยี่ยมชมรอบๆ โรงเรียน มีเอกสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้แนวทางแก่ผู้ปกครองในการส่งเสริมเด็ก
ยศวีร์ สายฟ้า (2557) ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวปฏิบัติสำหรับครูประถมศึกษา ในการจัดการเรียนรู้ในช่วงรอยเชื่อมต่อระหว่างชั้นเรียนอนุบาลและประถมศึกษา ไว้ดังนี้
- เรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติและตัวตนที่แท้จริงของเด็กที่กำลังอยู่ในช่วง รอยเชื่อมต่อจากแนวคิดทฤษฎี และนำข้อมูลมาใช้วางแผนจัดการเรียนรู้ โดยยึดกรอบการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม
- สร้างความตระหนักและทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะของ ครูประถมศึกษาที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนเด็กในการเรียนรู้ และปรับตัวในช่วงรอยเชื่อมต่อ ได้สำเร็จ มีความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนรู้ให้อยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างรายบุคคล
- ทำงานเป็นทีมกับผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก ประสานงานกับครูอนุบาลเพื่อขอรับข้อมูลของเด็กขณะเรียนอยู่ชั้นอนุบาล ประชุมร่วมกับครูอนุบาล เพื่อเรียนรู้และทำความรู้จักเด็ก และเป็นการสร้างเครือข่ายและสัมพันธภาพกับครู ผู้ปกครอง และครอบครัวของเด็ก แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนในการจัดการเรียนรู้ในช่วงรอยเชื่อมต่อ
- จัดทำระบบฐานข้อมูลของแต่ละคนโดยละเอียด เพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ เด็กแต่ละคนอย่างเหมาะสม
- จัดการเรียนรู้ในลักษณะของโปรแกรมเชื่อมต่อก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็กก่อนเปิดภาคเรียน จัดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้กิจวัตรประจำวันของนักเรียนประถมศึกษาล่วงหน้า
- พยายามสร้างทัศนคติกับเด็กในการมาโรงเรียนให้เป็นเชิงบวก เช่น ใช้กิจกรรมโฮมรูมช่วงเช้า พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กประทับใจเมื่อมาโรงเรียน
กมลทิพย์ นิ้มคธาวุธ (2561 : 46) ได้สรุปผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ได้องค์ประกอบแนวทางการปฏิบัติของครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในช่วงรอยเชื่อมต่อ 3 ด้าน ดังนี้
- การสนับสนุนการปรับตัว
- การจัดโปรแกรมเตรียมความพร้อม
- การวางแผนและกำหนดเป้าหมาย
- การวัดและประเมินผล
- การส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน
- การสอนวิชาหลักโดยครูประจำชั้น
- การสร้างทัศนคติที่ดีในการมาโรงเรียน
- การจัดสภาพแวดล้อม
- การส่งเสริมการเรียนรู้เป็นรายบุคคล
- การทำงานร่วมกับครูอนุบาล
2.1 การวางแผนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอน
2.2 การจัดกิจกรรมร่วมกัน
2.3 การแลกเปลี่ยนข้อมูลเด็ก
2.4 การสนับสนุนนโยบายในการทำงาน
2.5 ศึกษาและพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน
- การสร้างโปรแกรมระหว่างรอยเชื่อมต่อ
- การสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง
3.1 การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี โดยการสื่อสารที่หลากหลาย
3.2 การให้ความรู้ความเข้าใจ
3.3 การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
3.4 การสื่อสารที่หลากหลาย
3.5 การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก
นอกจากนี้ กมลทิพย์ นิ้มคธาวุธ (2561 : 56) ได้มีการสรุปกำหนดกรอบแนวคิดการวิจัย จากผลการศึกษาเอกสารและงานวิจัยต่างๆ ได้กรอบแนวคิด เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทครู ในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ดังนี้
- การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้
1.1 การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการมาโรงเรียน
1.1.1 การสร้างความคุ้นเคย
1.1.2 การจัดสภาพแวดล้อม
1.2 การส่งเสริมการปรับตัว
1.2.1 ด้านสังคม
1.2.2 ด้านอารมณ์
1.2.3 ด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา
1.2.4 ด้านการพึ่งพาตนเอง
- การทำงานร่วมกันของครู
2.1 การแลกเปลี่ยนข้อมูล
2.1.1 แนวทางการจัดประสบการณ์
2.1.2 พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก
2.2 การวางแผนและดำเนินการ
2.2.1 การพัฒนาหลักสูตรการเชื่อมต่อ
2.2.2 การดำเนินงาน
2.2.3 การประเมินผลการทำงาน
- การส่งเสริมความร่วมมือกับผู้ปกครอง
3.1 การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
3.1.1 การสื่อสารที่หลากหลาย
3.1.2 การแลกเปลี่ยนและสร้างข้อตกลงร่วมกัน
3.2 การสร้างความเป็นหุ้นส่วน
3.2.1 การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรอยเชื่อมต่อ
3.2.2 การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก
งานวิจัยได้นำแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ไปใช้เก็บรวบรวมข้อมูลจากครูที่เป็นตัวอย่าง 376 คน จาก 4 สังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการ การอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานคร โดยตัวอย่างแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ 1 ครูชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 ในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอน ระดับอนุบาลและประถมศึกษา และประเภทที่ 2 ครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอน ระดับประถมศึกษาขึ้นไป
ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามที่สมบูรณ์ จำนวน 337 ฉบับ พบว่า ครูทั้งสองประเภทมีความเข้าใจในการปฏิบัติในช่วงรอยเชื่อมต่อในระดับน้อย และปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 45.8 และร้อยละ 46.6 ครูประเภทที่ 1 คิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างรอยเชื่อมต่อของเด็กเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้แก่ ความพร้อมทางการเรียนของเด็ก คิดเป็นร้อยละ 51.3 ส่วนครูประเภทที่ 2 คิดว่า การจัดโปรแกรมเพื่อปรับพื้นฐานแก่เด็กสำคัญที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.6 ครูทั้ง 2 ประเภท คิดว่า พัฒนาการและความสามารถที่สำคัญที่สุดในช่วงรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา คือ พัฒนาการ ด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา คิดเป็นร้อยละ 64.7 และร้อยละ 65.9 ตามลำดับ โดยครูประเภทที่ 1 ระบุว่า โรงเรียนมีการจัดหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในช่วง รอยเชื่อมต่อมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 45.5 ครูประเภทที่ 2 ระบุว่า โรงเรียนมีนโยบายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47.7
บทบาทครูในการสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้แบ่งการนำเสนอข้อมูลเป็น 3 ด้าน คือ การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ การทำงานร่วมกันของครู และการส่งเสริมความร่วมมือกับผู้ปกครอง
การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ครูประเภทที่ 1 ปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับข้อมูลพัฒนาการของเด็กในชั้นเรียนของปีการศึกษานั้นๆ และจัดกิจกรรมหลากหลาย คิดเป็นร้อยละ 67.5 และร้อยละ 50.8 ตามลำดับ ครูประเภทที่ 2 ใช้จัดกิจกรรมที่หลากหลาย คิดเป็นร้อยละ 31.8 ครูทั้งสองประเภทได้ส่งเสริมความพร้อมด้านการพึ่งพาตนเองมากที่สุด รองลงมาคือ ความพร้อมด้านสังคม เทคนิคที่ใช้มากที่สุดในการส่งเสริมความพร้อมด้านสังคม ด้านอารมณ์ ด้านการเรียนรู้ และสติปัญญา คือ การใช้สื่อ นิทาน
การทำงานร่วมกันของครู ครูประเภทที่ 1 ทำงานร่วมกับครูอนุบาล คิดเป็นร้อยละ 33.7 ด้วยการแลกเปลี่ยนการออกแบบกิจกรรม และการจัดการเรียนรู้ การจัดสภาพแวดล้อมห้องเรียน คิดเป็นร้อยละ 17.1 และร้อยละ 27 ตามลำดับ พัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างรอยเชื่อมต่อ ด้วยการออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง และกำหนดการวัดและประเมินผลเด็ก อย่างหลากหลายและเหมาะสม คิดเป็นร้อยละ 19.5 และร้อยละ 18.3 ครูประเภทที่ 2 แลกเปลี่ยนกับเพื่อนครู โดยจัดสภาพแวดล้อมห้องเรียนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 53.4 พัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างรอยเชื่อมต่อด้วยการกำหนดการวัดและประเมินผลเด็กอย่างหลากหลายและเหมาะสม คิดเป็นร้อยละ 37.5
การส่งเสริมความร่วมมือกับผู้ปกครอง ครูทั้งสองประเภทใช้การประชุมผู้ปกครอง ทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์ ให้ข้อมูล ข่าวสารความรู้เกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนของเด็ก และรอยเชื่อมต่อทางการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 55.4 และร้อยละ 60.2 ตามลำดับ ครูประเภทที่ 1 แลกเปลี่ยนข้อมูลพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กกับผู้ปกครอง เรื่องความผิดปกติต่างๆ และพฤติกรรมที่ต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษ คิดเป็นร้อยละ 91.9 และร้อยละ 66.7 ตามลำดับ ครูประเภทที่ 2 แลกเปลี่ยนพฤติกรรมที่ต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษกับผู้ปกครองมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 88.6 ครูประเภทที่ 1 ส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาในเรื่องพัฒนาการตามวัยของเด็ก คิดเป็นร้อยละ 75.5 ครูประเภทที่ 1 ใช้การชักนำ ให้ผู้ปกครองมีส่วนช่วยเด็กในเรื่องการปรับตัว คิดเป็นร้อยละ 56.8
ผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะจากผลของงานวิจัย สำหรับครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างรอยเชื่อมต่อให้แก่เด็ก คือ (1) เรียนรู้ธรรมชาติและพัฒนาการของเด็ก ศึกษา และทำความเข้าใจบทบาทและการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการปรับตัวของเด็ก (2) ทำงานร่วมกับครูทั้งชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกปีที่ 1 เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ กิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการวัดและประเมินผล (3) จัดทำระบบฐานข้อมูลของเด็กแต่ละคนโดยละเอียดจากข้อมูลที่ได้รับมาจากครูอนุบาลหรือผู้ปกครอง (4) จัดการเรียนรู้และจัดสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างความคุ้นเคย ส่งเสริมพัฒนาการอย่างเป็นองค์รวม โดยมีความต่อเนื่องกับชั้นเรียนอนุบาล และ (5) สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครองหรือครอบครัวของเด็ก
สำหรับผู้เรียบเรียงบทความฉบับนี้ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการเชื่อมต่อการศึกษาระหว่างชั้นอนุบาลศึกษาและประถมศึกษา ในระดับห้องเรียนที่สามารถปฏิบัติได้ในบริบทไทย คือ ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 จัดสภาพแวดล้อมทางกายห้องเรียนให้คล้ายคลึงกับระดับชั้นประถมศึกษา จัดที่นั่งแบบมีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งแบบนักเรียนประถม ฝึกให้ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง จัดการเรียนการสอนให้มีช่วงสมาธิยาวขึ้นประมาณ 30-45 นาที ให้เด็กทำกิจกรรมสุนทรียะ แทนการนอนกลางวัน ถ้าเด็กไม่ต้องการนอนกลางวัน ครูอนุบาลเตรียมเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก นอกเหนือจากบันทึกสุขภาพเพื่อส่งต่อให้ผู้ปกครองนำไปมอบให้ครู ที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สำหรับการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จัดกิจกรรมไปในทิศทางเดียวกับระดับอนุบาล โดยจัดการสอนเป็นหน่วยแบบบูรณาการ 4 วิชาหลัก และนำสาระอื่นๆ มาบูรณาการให้สอดคล้องกับหน่วย โดยยังคงใช้หลักสูตรแกนกลางเป็นแนวทางหลักในการจัดการเรียนการสอน แต่เปลี่ยนวิธีการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ สำหรับการประเมินผลใช้การสังเกตพัฒนาการและส่งเสริมให้พัฒนาการได้เต็มตามศักยภาพ แต่การประเมินเพื่อเทียบเคียงผลการเรียนรู้อาจประเมินตามช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 6