ความเป็นมาของการประถมศึกษาในสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1647 – ค.ศ. 1957)
รศ.ดร.จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ (พ.ศ. 2540)
โรงเรียนประถมศึกษาในสหรัฐอเมริกา จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนองกับความต้องการของสังคม ที่ขยายตัวและเป็นสังคมที่มีความแตกต่างกัน การสนองตอบของโรงเรียนเป็นผลมาจากการเน้นในจุดมุ่งหมายของการศึกษา ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป คือ
1. เพื่อคงไว้ซึ่งสภาพสังคมในปัจจุบัน และความต้องการในปัจจุบันนั้น
2. เปลี่ยนแปลงสภาพสังคมที่เป็นอยู่ โครงสร้าง กฎระเบียบ และปรับไปตามทิศทาง ที่ได้กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว
3. เพื่อเตรียมคนแต่ละคน ที่จะต้องเข้าไปกำหนดและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อการดำรงชีวิตของเขาและต่อไปในอนาคต
Ragan and Shepherd (1977 : 8-30) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการศึกษาในสหรัฐอเมริกา โดยแบ่งเป็น 5 ช่วงเวลา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. Dependence to Independence (ค.ศ. 1647 – ค.ศ. 1776)
แรงผลักดันของชุมชน Puritan ใน New England ทำให้มีโรงเรียนขึ้นมา เพื่อคงไว้ซึ่งสังคมและความต้องการในยุคปัจจุบัน ชาว Puritan เชื่อว่าคัมภีร์ทางศาสนา (Bible) ช่วยทำให้คนพ้นบาป เด็กจะต้องเรียนรู้ในการอ่านคัมภีร์ ดังนั้นโรงเรียนจะต้องตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้ ในยุคนี้ไม่สามารถพูดได้เต็มที่ว่าสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนสังคมประชาธิปไตย แต่จะเป็นการตั้งโรงเรียนเพื่อประโยชน์ของโบสถ์มากกว่าประโยชน์ของมนุษยชาติ
จุดเริ่มต้นคิดว่า การศึกษาควรเป็นหน้าที่ของรัฐมากกว่าของเอกชน ในปี ค.ศ. 1647 ได้มีกฎหมาย “Old Deluder Satan Act” ขึ้นมา จุดเด่นคือ เหตุผลแรกในการจัดการศึกษาคือ ให้สร้างโรงเรียนธรรมดา ไม่ใช่โรงเรียนที่ติดอยู่กับคัมภีร์ ต่อมาปี ค.ศ. 1693 มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการ ในการเรียกเก็บภาษาการศึกษา โดยความยินยอมของประชาชนในเมือง และต่อมามีกฎหมายในการคัดเลือกครูโดยการสอบ
New England เริ่มเป็นแห่งแรกที่ให้มีการเก็บภาษี มีประกาศนียบัตรของครู โรงเรียนแบบแบ่งเขต และคณะกรรมการการศึกษาท้องถิ่น
ได้มีโรงเรียนรูปแบบต่างๆ ในอาณานิคมเหล่านี้ คือ โรงเรียนเพื่อการกุศล โรงเรียนสำหรับสตรีผู้สูงศักดิ์ โรงเรียนฝึกหัดงาน (อาชีวศึกษา แต่เป็นระบบเข้าไปฝึกงานกับผู้เชี่ยวชาญ) และโรงเรียนในความดูแลของโบสถ์
หลักสูตรประกอบด้วย การอ่าน การเขียน การสะกดคำ คณิตศาสตร์ การสอนศาสนาด้วยวิธีปุจฉา-วิสัชนา การสวดมนต์ และร้องบทสวดสรรเสริญพระเจ้า สอนนักเรียนให้ท่องจำ โรงเรียนมุ่งหวังให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้
โรงเรียนในยุคนี้เน้นระเบียบวินัย ในห้องเรียนมีการใช้ไม้เรียวตี มีการเฆี่ยน มีเก้าอี้นั่งสำหรับคนปัญญาทึบ จะได้ยินเสียงร้องไห้และความกลัวของเด็ก โรงเรียนดูเหมือนคุกมากกว่าสถานที่เรียน นักเรียนไม่มีความสุข การปฏิบัติต่อเด็กดูป่าเถื่อน เด็กเหมือนจะถูกฆ่าตายถ้าทำอะไรผิด
ในรัฐ Virginia และอาณานิจคมตอนใต้ จะมีโรงเรียนประเภทฝึกหัดอาชีพ พวกฐานะดี จะส่งลูกไปเรียนที่อังกฤษ
พัฒนาการด้านการประถมศึกษาในช่วงเวลาอาณานิคม (Colonial Time) ชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนเป็นสื่อสะท้อนสภาพความเชื่อและกลุ่มคนในสังคมที่ให้การสนับสนุนการศึกษาการพัฒนาการประถมศึกษาของสหรัฐอเมริกาอย่างแท้จริง ได้เริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
2. Independence to Nationalism (ค.ศ. 1776 – ค.ศ. 1876)
เริ่มต้นมองการจัดการศึกษาเป็นการให้เปล่าจากรัฐ รัฐเป็นผู้ควบคุมโดยไม่สังกัดในลัทธิ ศาสนานิกายใด มีภาษีสนับสนุน และจัดการศึกษาให้เปล่าสำหรับเด็กและเยาวชนทั่วไป มีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนที่ช่วยกันเรียกร้องในเรื่องนี้ Robert Coram กล่าวว่า “การศึกษาไม่ควรเอาทิ้งไว้ให้กับผู้ปกครองหรือจัดให้เฉพาะนักเรียนที่ฐานะดี ถ้าการศึกษามีความจำเป็นสำหรับคนๆ หนึ่ง ศาสนาของฉันบอกว่า มันมีความจำเป็นสำหรับบุคคลอื่นโดยเท่าเทียมกัน”
ได้มีการเน้นในเรื่องของอิสรภาพ ความเท่าเทียมกัน และสิทธิของแต่ละบุคคล ในเอกสารสำคัญ เช่น Declaration of Independence, The Bill of Rights, etc… ที่เป็นจุดกระตุ้นให้จัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อคิดเหล่านี้ แต่ข้อเรียกร้องทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับ ความสนใจจากรัฐบาล และในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่มีการกล่าวถึงเรื่องของการศึกษา
The Public School Revival
การสร้างโรงเรียนรัฐบาลในหลายรัฐ ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากโรงเรียนเอกชนจากหน่วยงานทางศาสนา และจากกลุ่มคนที่มีความเห็นว่าไม่ยุติธรรมที่จะเก็บภาษีจากประชาชนที่ไม่มีลูกเพื่อนำไปสนับสนุนโรงเรียน
ปี ค.ศ. 1876 หลักการของโรงเรียนรัฐบาลที่จัดให้เปล่า ได้รับการยอมรับจากทุกรัฐการจัดระบบการศึกษาของรัฐ ได้มีการจัดทำขึ้นทั่วไป ยกเว้นบางรัฐในทางภาคใต้ ระบบโรงเรียนรัฐบาล ได้สร้างขึ้นและขยายรวมไปถึงโรงเรียนมัธยมอีก 4 ปีด้วย
ช่วงนี้มีการเคลื่อนไหวที่ทำให้มีผลต่อการสร้างและปรับปรุงโรงเรียนรัฐบาล และได้เปลี่ยนทัศนคติของคนที่มีอิทธิพลต่อการออกกฎหมายเกี่ยวกับโรงเรียน กระตุ้นคนให้ออกเสียงเพื่อเพิ่มจำนวนโรงเรียนในที่ๆ ยังไม่มีโรงเรียน
ต่อมามี State Departments of Education จัดวางข้อกำหนดสำหรับการฝึกหัดครู และการจัดวางหลักสูตร ช่วยปลุกสำนึกให้คนอเมริกันยอมรับ เคารพในการให้การศึกษาแก่เด็ก ซึ่งมีผลต่อประเทศชาติต่อมาอย่างประมาณค่ามิได้
The Influence of Pestalozzi
Johann Heinrich Pestalozzi (ค.ศ. 1746 – ค.ศ. 1827) เป็นบุคคลสำคัญที่วางรากฐานการประถมศึกษายุคใหม่ และช่วยปรับพัฒนาการปฏิบัติในโรงเรียนประถมศึกษา
ความคิดของ Pestalozzi เกี่ยวกับความเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็กนั้นเป็นเรื่องของ organismic มากกว่า machanismic
Pestalozzi ให้ข้อสังเกตว่า การใช้แบบฝึกหัดในการอ่านกับเด็กที่ใช้อยู่ขณะนี้เป็นเพียงวงแคบ และไม่เพียงพอในการเตรียมเด็กเพื่อไปเป็นประชาชนที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด โดยบอกว่า หน้าที่หลักของครู คือ การจัดสภาพแวดล้อมที่ดี และนำเด็กเข้าไปสู่ประสบการณ์ที่มีชีวิตชีวา
The Influence of Great Britain
ความเคลื่อนไหวในทางการศึกษาที่เริ่มต้นในอังกฤษ มีอิทธิพลต่อการพัฒนาการศึกษาในสหรัฐอเมริกา มีดังนี้
(1) ในปี ค.ศ. 1815 Robert Owen ได้ตั้งโรงเรียนใน Scotland สำหรับเด็กที่พ่อแม่ ไปทำงานในโรงงาน สอนการทำความสะอาด เล่นและเกม การทำงานร่วมกัน
Samuel Writherspin จัด Infant School Society ในประเทศอังกฤษ ปี ค.ศ. 1824 มีการกำหนดหลักสูตรการเรียน อ่าน เขียน คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และระบบนี้ได้เข้ามาในสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 1812 ที่ Boston ปี ค.ศ. 1827 ที่ New York และ Philadelphia ปี ค.ศ. 1828 ที่ Rhode Island โรงเรียนเด็กเล็ก ซึ่งเริ่มขึ้นมาแตกต่างไปจากโรงเรียนประถมศึกษา และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนประถมศึกษา เมื่อรัฐเข้ามาดูแลการศึกษาทั้ง 2 ระดับ
(2) Robert Raikes จัด Sunday School ที่ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1780 เพื่อสอนอ่านและเขียนให้กับเด็ก และความคิดนี้ได้เข้าสู่สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1790
(3) The Monitorial System เริ่มในประเทศอังกฤษ แล้วเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างโรงเรียนรัฐบาล (public schools) ในสหรัฐอเมริกา
ระบบนี้ Andrew Bell นำไปใช้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในอินเดีย ต่อมา Joseph Lancaster นำไปใช้ในประเทศอังกฤษ ต่อมา ปี ค.ศ. 1806 ใช้ที่ New York City
ในปี ค.ศ. 1818 Lancaster มาช่วยจัดระบบการศึกษาในสหรัฐอเมริกา มีการพิมพ์คู่มือการสอนท่องจำ บทอาขยาน มีการจัดการโรงเรียนให้เด็กดูแลกันเอง ควบคุมดูแลเด็กแบบทหาร ครู 1 คน สอนนักเรียนได้จำนวนหลายร้อย ระบบนี้ให้ความสนใจเด็กแต่ละบุคคลน้อยมาก ดูคล้ายระบบเครื่องจักร มีการใช้คนที่มีความรู้เรื่องการสอนน้อยไปสอน ต่อมาคนจึงมองหาวิธีการอื่นที่ดีกว่า
3. Expansion and Reform in Elementary Education (ค.ศ. 1876 – ค.ศ. 1929)
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการขยายตัวและปรับโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐบาล โรงเรียนประถมศึกษาในปี ค.ศ. 1926 มีส่วนคล้ายกับเมื่อปี ค.ศ. 1876 อยู่บ้างบางส่วน ในช่วงนี้มีนักเรียนเข้าเรียนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มีการเพิ่มวิชาใหม่ๆ เข้ามาในหลักสูตร เวลาปิดเรียนมีช่วงยาวขึ้น 30% และค่าใช้จ่ายต่อหัวของเด็กก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เริ่มต้นยุคนี้ การพิจารณาความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนใช้การสอบปากเปล่าสอบข้อเขียนที่ครูจัดเตรียมขึ้นมา มีการแข่งขันเกี่ยวกับคำศัพท์ ในตอนท้ายๆ ของยุค มีการใช้ แบบสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (achievement tests) ในการทดสอบความรู้วิชาต่างๆ ที่เรียนไปในโรงเรียน มีแบบวัดสติปัญญาทั้งเดี่ยวและกลุ่ม แบบวัดความถนัดเริ่มมีการนิเทศการสอนและวิจัย การสอนวิชาต่างๆ เริ่มมีระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มมุ่งความสนใจไปในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล
ได้เริ่มมีการใช้แบบสอบที่พัฒนาโดยนักจิตวิทยา และมีการวัดผลด้วยผู้เชี่ยวชาญ หลักสูตรยังคงเป็นวิชาการต่างๆ ที่ทุกคนต้องเรียนให้ได้ แต่ก็ได้มีความพยายามในการที่จะให้เด็กที่เรียนช้า เด็กปานกลาง และเด็กเก่ง ได้เรียนรู้วิชาต่างๆ ในระดับที่แตกต่างกัน
Reform Movements in Education
นักการศึกษาที่นับว่ามีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาในยุคนี้มีดังนี้
(1) Johann Friedrich Herbart (ค.ศ. 1776 – ค.ศ. 1841)
Herbart เป็นนักจิตวิทยา และนักการศึกษาชาวเยอรมัน กล่าวถึงการศึกษาไว้ว่า “จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษา คือพัฒนาลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล และเตรียมตัวให้เป็นผู้ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม การสอนควรจะปรับประสบการณ์ที่ผ่านมาให้เข้ากับความสนใจของเด็กในปัจจุบัน วิชาที่เรียนในโรงเรียนควรจะสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน และเป็นหน้าที่ของครู ในการจัดประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์จริงให้แก่เด็ก”
Herbart มีความคิดเห็นขัดแย้งกับการสอนโดยการให้อ่านและท่องจำหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง Herbart ได้ให้ตัวอย่างในการเรียนโดยขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กมากกว่าการจำ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทางสติปัญญา ขั้นตอนในการสอน 5 ขั้นตามแนวคิดของ Herbart คือ
The “Five” formal steps :
1.1 preparation
1.2 presentation
1.3 comparison and abstraction
1.4 generalization or definition
1.5 application
โรงเรียนที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ Herbart จะใช้ 5 ขั้นตอนนี้ในการสอน และการสอนแบบหน่วย (unit teaching)
(2) Friedrich William August Froebel (ค.ศ. 1782 – ค.ศ. 1852)
Froebel มีอิทธิพลต่อการศึกษาในสหรัฐอเมริกา จากจุดแนวคิดของสัจจการแห่งตน (self-realization) โดยผ่านทางการมีส่วนร่วมในสังคม และหลักการเรียนรู้ด้วยการกระทำ (learning to do by doing) Froebel เน้นในแง่ของทางสังคมที่มีต่อวงการศึกษา
(3) Maria Montessori (ค.ศ. 1870 – ค.ศ. 1952)
Montessori เป็นแพทย์หญิงชาวอิตาลี แต่ให้ความสนใจในเรื่องการศึกษาของเด็กได้ให้ข้อสังเกตว่า เด็กควรมีอิสระในการที่จะเรียนไปตามวิถีทางของตน เลือกและดำเนินกิจกรรม ของตนเองภายในสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดและจัดเตรียมเอาไว้ให้ วัสดุอุปกรณ์ในสิ่งแวดล้อมที่เตรียมเอาไว้นี้ รวมถึงอุปกรณ์การสอนที่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อความมุ่งหมายเฉพาะ บางส่วนเน้นการฝึกฝนทางด้านประสาทสัมผัส
การได้เลือกด้วยตนเอง และทำกิจกรรมด้วยตนเอง (self-chosen and self-directed activities) ช่วยทำให้เกิดแรงจูงใจภายใน ได้ใช้อุปกรณ์ที่สามารถช่วยให้แก้ไขความผิด/ข้อบกพร่องด้วยตนเอง
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาของ Montessori เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้แนวคิดการสอนแบบมอนเตสซอรี่ สามารถนำมาใช้ได้อย่างดีในปัจจุบัน
(4) John Dewey (ค.ศ. 1859 – ค.ศ. 1952)
ความคิดของ Dewey มีอิทธิพลต่อวงการศึกษาอย่างกว้างขวางจากผลงานเขียน งานการสอน และโรงเรียนสาธิต ที่จัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยชิคาโกในปี ค.ศ. 1890 โรงเรียนนี้มีความสำคัญมากไม่เพียงแต่ว่าเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา แต่ว่าเป็นสถานที่ในการที่จะทดลองรูปแบบการสอนใหม่ๆ ด้วย
ปรัชญาของ Dewey คือ เด็กควรจะมีชีวิตและได้เรียนอย่างมีความสุขและสอดคล้องไปกับความต้องการ และความสนใจของเขาในปัจจุบันนี้ เท่าเทียมกับการเตรียมการให้ดี เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างมีค่าในวันพรุ่งนี้
Dewey ได้ค้นพบปัญหาที่สำคัญทางทฤษฎีการศึกษา 5 ปัญหา คือ What education is? What the school is? the subject of education, the nature of method, and the relationship of the school to social progress.
Dewey มองการศึกษาเป็นกระบวนการทางสังคม (education as a social process) กระบวนการในการที่จะให้เด็กได้นำสิ่งที่มีมาเจือจานให้แก่กัน (share) และใช้พลังของเขา เพื่อจุดมุ่งหมายของสังคม
Dewey มองโรงเรียนเป็นรูปแบบของชีวิตในชุมชน โดยเชื่อว่าโรงเรียนควรจะจัด และดำเนินกิจกรรม ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความคุ้นเคยแล้วที่บ้าน และอิทธิพลของโรงเรียนควรจะนำไปสู่ชีวิตของชุมชน Dewey บอกว่าวิชาที่สอนในโรงเรียน อยู่ไกลเกินกว่าประสบการณ์ของเด็กในปัจจุบัน จึงได้มีโรงเรียนทดลองขึ้นมา โดยไม่สอนวิชาต่างๆ ที่ใช้สอนในโรงเรียนทั่วๆ ไปเลยจัดโรงเรียนโดยใช้กิจกรรมสำหรับเด็กปกติ (normal child activities) เช่น artistic activities, construction activities, story activities, excursion activities and play activities เรียนจากสิ่งใกล้ตัว ซึ่งจะทำให้เด็กสนใจที่จะศึกษาค้นคว้า เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของประเทศตนเอง
แนวคิดของ Dewey ที่รู้จักกันดีคือ หลักการของการเรียนรู้ด้วยการกระทำ (principle of learning to do by doing) ปรัชญาของการเจริญเติบโต (the philosophy of growth) ซึ่งเชื่อว่า เด็กแต่ละคนเจริญเติบโตไปตามวิถีทางธรรมชาติ ไม่ควรไปจำกัดโอกาสของเด็กเก่งที่จะได้เรียน เต็มความสามารถที่เขามี และบังคับเด็กเรียนช้า ให้ทำตามมาตรฐานที่ไม่ได้จัดไว้สำหรับเขา และความสนใจ (interest) เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ Dewey มองการศึกษาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนสังคม ผลงานของ Dewey ทำให้เกิดการศึกษาตามแนวคิดก้าวหน้า (progressive education)
The Progressive Education Movement (ค.ศ. 1919 – ค.ศ. 1955)
นักการศึกษากลุ่มก้าวหน้าเชื่อว่า เด็กเรียนได้ดีที่สุด เมื่อสื่อตรงกับความต้องการ ไม่ใช่เมื่อถูกบังคับให้เรียนสื่อที่ไม่มีความหมาย เด็กควรจะได้สัมผัสกับอุปกรณ์ที่เป็นของจริง เป็นรูปธรรม สถานที่และบุคคลเท่าเทียมกับหนังสือ และวัสดุสิ่งพิมพ์อื่นๆ โรงเรียนควรจะคำนึงถึงเด็กทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา กลุ่มนี้เชื่อว่าโรงเรียนควรจะให้อิสระ ไม่ใช่คำสั่ง เนื้อหาควรจะเป็นแนวทางมากกว่าที่จะเป็นจุดหมายปลายทางในกระบวนการของการศึกษาความเข้าใจควรจะมีมากกว่าความกลัว ควรใช้ความเข้าใจในการที่จะจูงใจพฤติกรรมที่ยอมรับได้ กิจกรรมที่เต็มไปด้วยจุดมุ่งหมาย ควรจะจัดมากกว่าการให้ทำแต่กิจวัตรประจำวัน
4. Depression to Hiroshima (ค.ศ. 1929 – ค.ศ. 1945)
ช่วงเวลาของเศรษฐกิจตกต่ำ และสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่มีพัฒนาการใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้มีผลกระทบต่อโรงเรียนรัฐบาลให้มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลักสูตรดังนี้
(1) รวมหลักสูตรประถมศึกษา จากเดิมวิชาที่เรียนแบบแยกวิชาเกือบ 20 วิชา นำมารวม เป็นหมวด เช่น ศิลป์ภาษา สังคมศึกษา เป็นต้น
(2) เพิ่มเรื่องการมีชีวิตในรูปแบบประชาธิปไตย ครูทำงานกับนักเรียนเป็นกลุ่ม
(3) โรงเรียน ชุมชน ได้รับความสนใจ สิ่งที่สอนในโรงเรียนสัมพันธ์กับชีวิตนอกโรงเรียนโดยชั้นเรียนออกไปเยี่ยมชุมชน หรือนำทรัพยากรบุคคลจากชุมชนเข้ามาในชั้นเรียน ใช้โรงเรียนเป็นศูนย์บริการสังคม
(4) สนใจความแตกต่างระหว่างบุคคล ลดความเข้มข้นของตารางเวลา ระบบเรียนเป็นระดับชั้น และการเลื่อนชั้น
โรงเรียนประถมศึกษาแบ่งเป็น 2 ตอน
ตอนที่ 1 primary school มีนักเรียนเกรด 1 ถึง 3 เรียนรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน
ตอนที่ 2 intermediate school มีนักเรียนเกรด 4 ถึง 6 เรียนรวมกัน โรงเรียนไม่มีการเลื่อนชั้นประจำปี ครูจะสอนเด็กกลุ่มเดิม 2-3 ปี เพื่อให้เข้าใจความสามารถ ความสนใจและความต้องการของเด็กแต่ละบุคคล
(5) มีการเตรียมครู และครูใหญ่ โรงเรียนประถมศึกษา ต้องการประกาศนียบัตรชั้นสูงขึ้น ทำให้การยอมรับครูประถมศึกษามีเพิ่มมากขึ้น
(6) เลิกระบบเรียนหนังสือเล่มเดียว มาสู่การเรียนเป็นหน่วย เน้นความร่วมมือของนักเรียน ในการเรียน วางแผนกิจกรรมการเรียนร่วมกัน เนื้อหาก็จะนำมาจากแหล่งวิทยาการหลายแหล่งด้วยกัน
(7) ครูประจำชั้น มีส่วนร่วมมากขึ้นในการพิจารณาจุดมุ่งหมาย เนื้อหาและขอบข่ายของหลักสูตร มีผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือคณะกรรมการครูในเรื่องเนื้อหาและวิธีการ
(8) เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียน เน้นการเลือกกิจกรรมการเรียนตามความสนใจและความต้องการของนักเรียน แทนการจัดแบบประเพณีนิยม
(9) ช่วง ค.ศ. 1930 social – centered หรือ life – centered ได้รับความสนใจมากได้มีการเปลี่ยนวิชาเรียนในโรงเรียน เป็นแง่มุมของการมีชีวิตอยู่ ทำให้ความสัมพันธ์ของโรงเรียนกับชุมชนแคบลง
5. Peace to Sputnik (ค.ศ. 1945 – ค.ศ. 1957)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกา หันไปสู่แนวทางใหม่ในการเป็นผู้นำโลกเสรี การที่จะเข้าร่วมกับโลกเสรีได้ เป็นจุดสนใจของชาติทำให้เกิดแรงผลักดัน ทำให้โปรแกรมของโรงเรียนเปลี่ยนไป มีอาคารเรียนใหม่ๆ สำหรับระดับประถมศึกษา และมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ สื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนประถมศึกษามีขึ้น เนื่องจากการเพิ่มบทบาทของสหรัฐอเมริกา ในกิจการของโลก โลกแคบลงเพราะความสะดวกในการเดินทางและติดต่อสื่อสาร มีความสัมพันธ์อิสระมากขึ้นระหว่างคนในโลก ทำให้เกิดการขยายตัวของจุดมุ่งหมายทางการศึกษา โดยเรียนภาษา ที่สอง ศึกษาปัญหาต่างๆ ของโลก
การสร้างโรงเรียนประถมศึกษาระหว่างปี ค.ศ. 1945 – ค.ศ. 1957 แตกต่างไปจากรุ่นก่อนๆ เพราะการสร้างจะพิจารณาถึงโปรแกรมการศึกษาที่จะมีขึ้นในอาคาร ใช้จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาในโรงเรียนมาเป็นจุดสำคัญในการสร้างอาคารเรียน มีการใช้แหล่งการเรียนเพิ่มมากขึ้น แทนการใช้หนังสือแบบเรียนเล่มเดียว มีห้องสมุด ใช้วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์/วีดิทัศน์ และวิทยากรมากขึ้น มีโครงการการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กพิเศษ ทั้งพิการทางกาย มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่เก่ง และพวกที่มีปัญหาเบี่ยงเบนทางสังคม มีโรงเรียนอนุบาลเพิ่มขึ้นอีกมาก
ต่อจากยุคนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนจุดมุ่งหมายการศึกษาให้สัมพันธ์กับปัจจุบันและอนาคตตามอิทธิพลของนักการศึกษาจากประเทศต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็มีผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนประถมศึกษา แต่อิสระในการจัดการศึกษาเพื่อเด็กมีมากขึ้นทั้งในโรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชน
บรรณานุกรม
Ragan, W.B. and Shepherd, G.D., Modern Elementary Curriculum, New York : Holt, Rinehart and Winston, 1977.
(บทความที่ 1 ชุดที่ 3)