เรื่อง การสร้างรอยเชื่อมต่อทางการศึกษาของเด็กอนุบาลเพื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษา: สภาพและปัญหาของครู
เรียบเรียงโดย รศ.ดร.จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ และนางสาวจิตโสภิณ โสหา (ตุลาคม 2561) การพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทยในปัจจุบัน เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการจัดการศึกษาปฐมวัยของผู้ปกครอง ครูและผู้บริหารสถานศึกษาทำให้เกิดปัญหาการเร่งเรียนอ่านเขียนเกินพัฒนาการเด็ก ผู้ปกครองขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการที่สำคัญตามช่วงวัยของเด็ก จึงมีความคาดหวังว่าเด็กอนุบาลต้องอ่านเขียนเป็นและบวกลบเลขได้ ส่งผลให้ส่งเสริมลูกแบบเร่งเรียนเขียนอ่านเพื่อเตรียมสอบเข้าโรงเรียนประถมศึกษา และการขาดความเข้าใจของครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก จึงมุ่งเน้นให้เด็กเรียนอ่านเขียนเกินวัย และเน้นการสอนให้เด็กท่องจำเนื้อหาสาระมากกว่าการฝึกทักษะ กระบวนการ ผู้บริหารสถานศึกษาขาดความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย รวมถึงการวัดผลด้วยการทดสอบความรู้ด้านเนื้อหาสาระ และนำผลคะแนนมาใช้ในการจัดอันดับเพื่อประเมินเด็ก อีกทั้งยังมีการจัดสอบวัดความรู้ระดับชาติตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3จึงส่งผลให้โรงเรียนและผู้ปกครองเร่งให้เด็กอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับการทดสอบและการสอบแข่งขันต่างๆ ทำให้ระบบการเรียนการสอนเด็กในระดับอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น มุ่งเน้นการท่องจำความรู้เพื่อให้เด็กสามารถอ่านเขียนและคิดคำนวณได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่เน้นเฉพาะด้านเนื้อหาสาระ โดยขาดการพัฒนาด้านทักษะ กระบวนการ ได้แก่ การคิดแก้ปัญหา การตัดสินใจ การให้เหตุผล การคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการไม่ให้เวลากับการพัฒนาด้านคุณธรรมและคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และการดำเนินชีวิต ส่งผลให้เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ขาดทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น และขาดทักษะความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นการเสียโอกาสที่มีอยู่อย่างจำกัดในการสร้างทักษะด้านพฤติกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณลักษณะ ความสำเร็จด้านการศึกษาและการทำงานในอนาคตของเด็ก (สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน, 2558) การจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยเป็นการจัดการศึกษาที่มีความสำคัญอันเป็นพื้นฐานของการศึกษาในระดับสูงต่อไป เนื่องจากเด็กในช่วงปฐมวัยนั้นมีการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว จึงเป็นช่วงวัยที่ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างเต็มที่ การแบ่งช่วงอายุของเด็กปฐมวัยที่มีความแตกต่างกัน อาจทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องหรือมีช่องว่างในระหว่างที่เด็กได้รับประสบการณ์ในระดับอนุบาลและก้าวไปสู่ระดับชั้นประถมศึกษา งานวิจัยในต่างประเทศที่แสดงให้เห็นถึงปัญหา ความแตกต่างระหว่างการศึกษาปฐมวัยกับประถมศึกษา Einarsdottir (2003) ได้ทำการวิจัย พบว่า […]